นครินทร์ ศรีเลิศ
กรุงเทพธุรกิจ
ปัจจุบันภาคเกษตรยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากมีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรกว่า 17 ล้านคน ซึ่งวิธีการที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร จะต้องมีการเพิ่มองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำเกษตร นักวิชาการแนะภาครัฐควรจะมีการปรับปรุงระบบการวิจัยด้านการเกษตร ของประเทศทั้งระบบในเรื่องของ งบประมาณ การเตรียมความพร้อม บุคลากร ตลอดจนการจัดสรรองค์กรวิจัยด้านเกษตรของประเทศให้ถูกต้องและมีความเป็นสากล
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันการวิจัยด้านการเกษตรของไทยนับว่ายังมีปัญหาอยู่หลายประการเนื่องจากปัจจุบันโจทย์วิจัยเกษตรมีความซับซ้อนขึ้นจากเดิมที่เป็นการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตเปลี่ยนไปเป็นการวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตหรือการปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของทั้งหน่วยงานรัฐ สถานศึกษา นักวิชาการและพ่อค้าที่มีความรู้เรื่องสินค้าเกษตร
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มรายได้จากการเกษตรตามแนวทางเกษตร 4.0 ประเทศไทยจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิจัยเรื่องการเกษตรโดยเฉพาะเรียกว่า “บอร์ดวิจัยเกษตร แห่งชาติ” หรือ “National Agricultural Research Council (NARC)” หลายประเทศที่มีความก้าวหน้า เรื่องเกษตร เช่น อินเดีย และสหรัฐ ก็มี บอร์ดในลักษณะนี้โดยมีหน้าที่กำหนด ทิศทางใหญ่ในเรื่องของการพัฒนาเกษตร ของประเทศร่วมกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) และสร้างระบบเงินทุนสนับสนุนการวิจัยว่าจะให้เงินทุนสนับสนุน เพื่อพัฒนาเกษตรและพัฒนาและพืช เศรษฐกิจไปในทิศทางใดรวมทั้งให้คำ แนะนำและเพิ่มพูนความรู้ให้กับการทำงานรวมทั้งกำหนดระบบระเบียบวิธีการ ประเมินผลการวิจัยเกษตรของประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสามารถที่จะตอบโจทย์ การตลาดได้
ทั้งนี้ องค์ประกอบในบอร์ดวิจัยเกษตรแห่งชาติควรจะประกอบไปด้วยนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการเกษตรอย่างแท้จริงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งในและต่างประเทศ มีตัวแทนภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วยได้แต่ต้องไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันบอร์ดชุดนี้ไม่ควรจะมีนักการเมืองและข้าราชการประจำเข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการ แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้เพราะองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ได้จากการวิจัยซึ่งเป็น โจทย์ใหญ่ในด้านเกษตรของประเทศ สามารถที่จะมาใช้ในการวางแผนพัฒนา การเกษตรและสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศได้
“บอร์ด NARC ต้องเป็นนักวิจัยที่คร่ำหวอดและมีความรู้ในเรื่องเกษตรอย่างแท้จริงไม่ใช่รู้จักกับนักการเมืองรู้จักกับผู้มีอำนาจและได้รับการแต่งตั้งเข้าไปนั่งในบอร์ดซึ่งโครงสร้างของบอร์ดนี้จะต้องแตกต่างกับบทวิจัยต่างๆในปัจจุบันที่มีข้าราชการเกินกว่าครึ่งไปนั่งอยู่ในบอร์ดและนักวิชาการน้อยมากและบอร์ดนี้จะต้องทำงานในระยะยาวได้เพราะในการสร้างองค์ความรู้และแก้ปัญหาด้านเกษตรต้องใช้เวลานานหลายฤดูกาลผลิตซึ่งโดยธรรมชาติเวลานานกว่าอายุของแต่ละรัฐบาล”
ทั้งนี้ การวิจัยภาคเกษตรต้อง สามารถนำมาใช้กับการตลาดเกี่ยวกับสินค้าเกษตรโดยวิเคราะห์การตลาด เช่น ความต้องการในการบริโภคข้าวของผู้บริโภคในตลาดต่างๆเช่น เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ชอบกินข้าวหอมแต่ชอบกินข้าวนุ่มส่วนคนจีนชอบกินข้าวหอมความต้องการของกลุ่มลูกค้าในประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็จะนำไปสู่การวิจัยข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่างๆ แปลว่าเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งก็ต้องไปดู ในรายละเอียดอย่างเช่นตลาดที่ต้องการข้าวนุ่มเขาต้องการข้าวเม็ดนุ่มที่เป็น เม็ดยาวหรือเม็ดสั้นข้าวแต่ละพันธุ์ ไม่เหมือนกัน
“เรื่องนี้ข้าราชการดูไม่ได้ ไม่เข้าใจจะต้องเป็นเรื่องของพ่อค้าที่ประสบการณ์ในการค้าข้าว ดังนั้นระบบที่จะเกิดขึ้นก็ต้อง เลือกให้เอาพ่อค้ามาทำงานร่วมกันในด้านวิจัยได้ซึ่งเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น” นอกจากการปรับปรุงการกำหนดโจทย์วิจัยให้เอาความต้องการตลาดองค์ประกอบของคณะกรรมการ วิจัยในระดับชาติของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นโครงสร้างของระบบราชการทำให้การวิจัยเพื่อตอบโจทย์การตลาดหรือการวิจัยพันธุ์ที่หลากหลายสำหรับพืชเศรษฐกิจ มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทยแม้กระทั่งพืชเศรษฐกิจอย่างข้าว ที่ประเทศไทยส่งออกเป็น อันดับหนึ่งเรายังไปไม่ถึงขั้นของ การปลูกข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ขณะที่ ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็น ผู้นำเข้าข้าวเริ่มผลิตพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติเด่นของข้าวหลายๆชนิดมารวมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ส่วนพันธุ์ข้าวที่เราปลูกอยู่ในประเทศไทยก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดเช่น ข้าวขาวปทุม ข้าว กข.105 ข้าวหอมมะลิ ซึ่งถ้าหากมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมากขึ้นเกษตรกรก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นหากข้าวพันธุ์ใดราคาตกก็สามารถเลือกที่จะไปปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆที่ราคาดีกว่า
สำหรับเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในการวิจัยภาคเกษตร ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคเกษตรอยู่ที่ประมาณ 6.66 แสนล้านบาทต่อปี แต่งบประมาณการวิจัยภาคเกษตรอยู่ที่ประมาณ1.3 หมื่นล้านบาทหรือไม่ถึงสัดส่วน 0.25% ของจีดีพีภาคเกษตร
ขณะที่หลายประเทศที่มีการพัฒนาเกษตรมีสัดส่วนงบประมาณการวิจัยภาคเกษตรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1% ของจีดีพี ขณะที่การวิจัยภาคเกษตรก็มีสัดส่วนที่ปรับลดลงเรื่อยๆซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายปี ปัจจุบันการวิจัยภาคเกษตรของประเทศไทยตัวขับเคลื่อนหลักกลายเป็นภาคเอกชนบริษัทขนาดใหญ่ เข้ามาทำการวิจัยเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อการค้ารวมเบ็ดเสร็จ
เอกชนไทยลงทุนด้านการวิจัยเป็นหลักร้อยล้านบาทต่อปีและได้ผลเริ่มต้นจาก การที่เขาเข้าไปซื้อเทคโนโลยีใน ต่างประเทศมาก่อน บางครั้งเป็นการซื้อบริษัทองค์ความรู้และนักวิจัยแล้วมาทำต่อยอดทำให้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ขณะที่ภาครัฐสูญเสียบทบาทการเป็นผู้นำในการวิจัยด้านการเกษตร และทำให้องค์ความรู้ที่ลงไปสู่เกษตรกรมีข้อจำกัดซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทยในระยะยาว
“งบประมาณด้านการวิจัยเกษตรของภาครัฐจะถูกตัดลดลงเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ซึ่งการตั้งงบประมาณบางทีเป็นการตัดงบประมาณในการวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกที่ทำวิจัยด้านการเกษตรอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นได้ว่างบประมาณและการวิจัยภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูงทั้งที่ภาคเกษตรเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตลอดเนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร” ดร.นิพนธ์ กล่าว
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 30 ธันวาคม 2559 ในชื่อ ‘นิพนธ์’แนะตั้งบอร์ดเกษตรแห่งชาติ คุมทิศทางวิจัย-มุ่งสู่เกษตร 4.0