นักวิชาการทีดีอาร์ไอ จี้ ทบทวนมติไฟเขียว ‘ระเบิดแก่งโขง’

ปี2017-01-08

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เรียกร้องให้ ครม.ทบทวนมติไฟเขียวระเบิดแก่งโขง ระบุ ควรประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม-ชุมชน ก่อนตัดสินใจ พูดชัดจีนได้ประโยชน์มากกว่าไทย

ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews ว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าโครงการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 เพื่อเปิดทางให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน สามารถล่องจากประเทศจีนถึงหลวงพระบางประเทศลาวนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากโครงการจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน แต่กลับไม่มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน

ดร. เสาวรัจ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ผู้มีอำนาจระดับบนสั่งการลงมาโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมคล้ายกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่มีความซับซ้อนกว่าคือเป็นข้อตกลงระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ตั้งแต่ในอดีต ซึ่งตามหลักการแล้วหากประเทศไทยจะไปทำความตกลงระหว่างประเทศก็จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน แต่ในกรณีนี้ก็ยังไม่เห็นเช่นกัน

ดร. เสาวรัจ กล่าวอีกว่า แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาการเดินเรือฯ เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาไปแล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าจำเป็นต้องทบทวนใหม่ เพราะยังไม่มีรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งการดำเนินโครงการเช่นนี้หากไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านก็ไม่ควรทำ

“ถ้าถามว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์คุ้มเสียหรือไม่คงยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน เท่าที่เห็นมีเพียงโครงการศึกษาเบื้องต้นของกลุ่มรักษ์เชียงของที่ระบุว่ามีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นหากภาครัฐจะทำโครงการเช่นนี้ จำเป็นต้องพูดคุยกับคนในท้องถิ่น รวมทั้งอาจมีนักวิชาการเข้าไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย”  ดร. เสาวรัจ กล่าว

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจจะพบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ คือ ประเทศจีน เพราะหากพิจารณาการค้าบริเวณด่านเชียงของ จ.เชียงราย จะพบว่าประเทศไทยส่งสินค้าออกไปยังประเทศลาวจำนวนมากแต่นำเข้าเพียงเล็กน้อย ขณะที่การค้าผ่านแดนไทย-ลาว ส่งไปยังประเทศจีนตอนใต้นั้น พบว่าประเทศไทยนำเข้าจากประเทศจีนมากกว่าส่งออก ฉะนั้นเมื่อพิจารณาสถิติการค้าจะพบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือประเทศจีน

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า การค้าชายแดนบริเวณดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว และไทย โดยจุดที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ก็คือ อ.เชียงของ ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลการค้าชายแดนปี 2558 ของด่านเชียงของ จะพบว่าการค้าระหว่างไทย-ลาว มีมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านบาท และหากพิจารณาย้อนกลับไป 4-5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีอัตราการเติบโตได้ดีคือเฉลี่ยประมาณ 25% ขณะที่การค้าผ่านแดนบริเวณท่าเชียงของปี 2558 (ผ่านแดนไทย-ลาว-จีนตอนใต้) จะพบว่ามีมูลค่า 9,600 ล้านบาท โดย 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเร็วถึง 30%

“ถามว่าเยอะไหมมันก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะถ้าเราดูมูลค่าการค้าผ่านแดนทั้งหมดของประเทศไทย จะพบว่าในปี 2558 มีประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนกับที่ อ.เชียงของ จึงถือว่าไม่เยอะ ซึ่งแตกต่างกับด่านสะเดา ปาดังเบซาร์ ซึ่งมีมูลค่าหลักแสนล้าน”น.ส.เสาวรัจ กล่าว

ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขจึงคิดว่ายังเป็นโครงการที่ไม่ชัดเจน ส่วนตัวคิดว่ากรมศุลกากรควรจะแยกแยะให้เห็นเลยว่ามีการขนส่งทางบกเท่าไร ขนส่งทางเรือเท่าไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาการค้าขายระหว่างด่านบริเวณดังกล่าวใช้ช่องทางใดมากกว่ากัน คือต้องทำทั้งเรื่องของต้นทุน การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ รวมทั้งหากมีการดำเนินโครงการจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนไปเท่าใด

“ตอนนี้มันมีแต่ตัวเลขรวมของกรมศุลกากร ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นการขนส่งทางบกเท่าไร ทางเรือเท่าไร แต่คิดว่าบริเวณเชียงของจะไม่ค่อยมีการขนส่งทางเรือสักเท่าไร ถ้าเป็นทางเรือน่าจะเป็นที่ อ.เชียงแสน มากกว่า แต่ก็ยังมีไม่เยอะเช่นกัน ฉะนั้นคนที่ได้ประโยชน์คือจีน เพราะจีนขายของให้เรามากกว่าที่เราขายของให้จีน ส่วนการที่เราขายของให้ลาว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทางนั้นก็ได้”นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันการเชื่อมโยงทางกายภาพหลักๆ ที่มีก็คือถนน ซึ่งหากทำดีก็จะช่วยได้มาก แต่หากต้องการเชื่อมโยงทางเรือมันต้องดูว่าคุ้มหรือไม่เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครไปศึกษาจึงยังตอบไม่ได้ แต่หากทำแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าสูงมากก็ไม่คุ้มที่จะทำ

“จริงๆ แล้วคน จ.เชียงราย อยากส่งสินค้าไปที่พม่าโดยตรง แต่มีปัญหาเรื่องกฎระเบียบและสินค้าบางอย่างก็ติดโควตาจึงไม่สามารถส่งได้ เช่น สินค้าทางการเกษตร ซึ่งที่จริงแล้ว จ.เชียงราย มีสินค้าหลายอย่างที่มีเอกลักษณ์ เช่น ชา หรือ ข้าว พันธุ์พื้นเมือง ฉะนั้นหากพยายามโปรโมทว่าสิ่งเหล่านี้แตกต่างกับพื้นที่อื่นอย่างไร คือทำให้มีเรื่องราวก็จะทำให้สินค้ามีคุณค่าที่สูงขึ้นและเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเดิม” น.ส.เสาวรัจ กล่าว

ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า สิ่งดังกล่าวดำเนินการได้ทันทีและได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจทันที ในขณะที่เรื่องการเปิดทางเดินเรือและเกาะแก่งนั้น กลับยังไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินโครงการอะไรก็ตามควรมีการศึกษาผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากพบว่าผลกระทบเศรษฐกิจเป็นบวกมากกว่าลบ ก็อาจจะสามารถคัดเลือกโครงการนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีวิธีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบด้วย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐค่อนข้างจะละเลยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม


หมายเหตุ เผยแพร่ ครั้งแรกใน Green New TV เมื่อ 8 มกราคม 2560 ในชื่อ  ‘ทีดีอาร์ไอ’ จี้ ครม.ทบทวนมติ ‘ระเบิดโขง’ เหตุยังไม่ศึกษาผลกระทบ – ‘จีน’ โกยประโยชน์อื้อ