ปฏิรูปการศึกษาไทยแล้วไปไหน? กับ ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’

ปี2017-01-12

จากคำถามง่ายๆ ที่เด็กไทยทุกคนน่าจะเคยถูกคุณครูถามในวัยเยาว์ ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ แต่พอเติบใหญ่จะมีสักกี่คนที่ทำให้ฝันนั้นกลายเป็นจริงได้ ทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาควรมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยให้เดินไปสู่สิ่งที่ต้องการได้ในท้ายที่สุด

ก้าวขึ้นสู่ปี 2560 ‘ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษาไทย’ ซึ่งถูกระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ หลังจากที่คนไทยเพิ่งได้พบความจริงอันน่าสลดไปเมื่อปลายปีก่อน จากผลสอบ PISA ว่าปัจจุบันไทยไม่ได้ตามหลังแค่สิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังตามหลังเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามด้วย

ไม่รวมถึงการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. (อีกครั้ง) เป็นคนที่ 11 ในรอบ 10 ปี

The MATTER ไปพูดคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ในช่วงหลังหันมาให้ความสนใจด้านการศึกษาไทย ในฐานะผู้สังเกตการณ์จากรอบนอก และผู้ที่เคยอยู่ทั้งในระบบการศึกษาไทยและเมืองนอก เพื่อขอให้ช่วยไขคำตอบว่า ‘อะไรคือการปฏิรูปการศึกษาที่ควรจะเป็น’

สิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำอยู่นั้นถูกทางหรือไม่? ระบบการศึกษาในฝันมีจริงไหม? ถ้าเด็กไทยไปเรียนที่สิงคโปร์หรือฟินแลนด์จะได้ผลดีเหมือนเขาหรือเปล่า?

ดร.สมเกียรติ ตอบสารพัดคำถามอย่างใจเย็น หลายช่วงทำให้รู้สึกว่า การศึกษาบ้านเรายังมีความหวัง ก่อนจะถูกกระชากกลับสู่ความจริงด้วยคำพูดที่ว่า “แต่มันไม่มีหรอกเส้นทางจากนรกสู่สวรรค์!” เพราะการแก้ปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องค่อยๆ ทำ ทำต่อเนื่อง และที่สำคัญ ทำให้ถูกทาง

เมื่อเด็กไทยเข้าไปในโรงเรียน คำถามแรกๆ ที่มักถูกครูถามก็คือ ‘โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร’ แต่หลายคนกลับไม่สามารถไปตามความฝันได้หลังเรียนจบ ระบบการศึกษาไทยทำอะไรกับความฝันของเด็กๆ เหล่านั้น

ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวกับการจัดการ ‘ความฝัน’ เรารู้แต่การจัดการความรู้ (Knowledge Management) แต่ไม่เคยพูดเรื่องการจัดการความฝัน (Dream Management) เลย จริงๆ แล้วแต่ละคนมีความฝันอะไร รู้กันหรือเปล่า ถ้ามองจากประสบการณ์ตัวเองที่เติบโตในระบบการศึกษาไทย ก็คือไม่รู้ ผมถึงหลงทาง วนไปวนมาในชีวิตนานอยู่

ที่สำคัญ คือไม่มีระบบแนะแนว-แนะนำ ในการเลือกอาชีพ ในการหา ‘ความถนัด’ ของตัวเอง เพราะความถนัดกับความฝันมันควรจะไปด้วยกัน ถ้ามีเฉพาะความฝันมันก็พาเราไปได้ไม่ไกลมาก มันต้องมีความฝัน พาไปด้วยความถนัด และนำไปชนกับ ‘ความเป็นจริง’ ในโลกอันโหดร้าย คือต่อให้เรามีความฝัน เรามีความถนัด แต่ถ้าโลกความเป็นจริงข้างนอกมันไม่ตอบเลย มันเป็นความสามารถที่สังคมในช่วงเวลานั้นยังไม่ต้องการ ทำไปมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น สมมติว่าอยากจะเป็นนักบินอวกาศในเมืองไทย โอกาสที่จะได้เป็นคงจะไม่เยอะเท่าไร เพราะตลาดนี้ในเมืองไทยไม่ได้เปิด

หน้าที่ของระบบการศึกษา คือต้องเอา 3 ตัวนี้มาเจอกันให้ได้ อันดับแรกให้รู้ว่าแต่ละคนชอบอะไร ถนัดอะไร แล้วส่งเสริมเอาข้อดีของแต่ละคนออกมาให้ได้ ไม่ใช่ไปซ้ำเติมจุดที่ไม่ดี

ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าระบบการศึกษาไทยยังล้มเหลวมากๆ แม้กระทั่งโรงเรียนที่คุณภาพการศึกษาค่อนข้างดี รวมถึงโรงเรียนที่มีการเก็บแป๊ะเจี๊ยะกันเยอะๆ คุณภาพทางวิชาการอาจจะใช้ได้ แต่คุณภาพของการแนะนำ-แนะแนว ตรงนี้ล้มเหลวเลย

ในต่างประเทศ เขาจะมีหลักสูตรที่เรียกว่า IB (International Baccalaureate) เขาจะให้เด็ก ม.ปลายมีโอกาสไปเรียนด้วยการฝึกงานเป็นภาคบังคับเลย ไปฝึกงานอะไรก็ได้ที่เลือกเอง เช่น ไปฝึกงานสำนักงานบัญชี สำนักงานกฎหมาย ไปช่วยงานอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ เด็กก็จะมีโอกาสได้เห็นโลกความเป็นจริงในการทำงาน ซึ่งเมืองไทยไม่มี ตรงนี้เป็นจุดที่เรียกได้ว่าล้มเหลวเยอะ ผนวกกับค่านิยมที่จะดันคนไปไม่กี่ทาง แม้สมัยนี้จะดีขึ้นเยอะ ไม่ใช่ให้ไปเป็นแค่หมอหรือวิศวะเหมือนสมัยก่อน

อะไรที่สาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลว ไม่สามารถทำให้ ‘ความฝัน’ มาผนวกกับ ‘ความเป็นจริง’ ได้ในท้ายที่สุด

เพราะการศึกษาไม่ได้เติมขีดความสามารถของคนจริงๆ แต่เข้าไปเติม ‘ฐานันดร’ มากกว่า ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การศึกษาจะมีอยู่ 2 โมเดล ซึ่งคนที่คิด 2 โมเดลนี้ต่างได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มาแล้วทั้งคู่

โมเดลแรก คือ ‘โมเดลทุนมนุษย์ (Human Capital)’ แปลว่าระบบการศึกษาจะช่วยเติมทุนมนุษย์ ทั้งเรื่องทักษะ ความสามารถ ทำให้เราเก่งขึ้น เราก็จะมีรายได้ มีค่าตอบแทน ยิ่งเราเรียนเยอะๆ สังคมก็จะยิ่งมีความสามารถในการทำอะไรมากขึ้นไปด้วย เพราะทุนมันอยู่กับมนุษย์ทุกคน นี่คือโมเดลที่ทำให้ Professor Gary Becker ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

โมเดลที่สอง คนที่คิดน่าจะเป็น Professor Michael Spence ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมบางคนไปเรียนวรรณกรรมกรีกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ไปเรียนเช็คสเปียร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จบออกมาไปสมัครงานสายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียน แล้วยังได้เงินดีอยู่  มันไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาเก่งภาษากรีก วรรณกรรมกรีก หรือเข้าใจวรรณกรรมเช็คสเปียร์ แต่เป็นเพราะเขาจบอ็อกซ์ฟอร์ดหรือฮาร์วาร์ดต่างหาก ซึ่งการที่ไปจบที่นั่นได้ แปลว่าคุณมีดี คุณเป็นคนเก่ง

กรณีของเมืองไทย มันกลายเป็นว่า การศึกษามันถูกผลักเข้าไปสู่โหมดของการชี้ฐานันดรว่าใครเก่ง-ไม่เก่ง มากกว่าจะไปบอกว่าคุณจะเติมศักยภาพจากการไปเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นขอให้ได้ปริญญา ขอให้ผ่านมหาวิทยาลัยนี้ เหมือนกับว่าดีแล้ว และตรงนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะกับนักศึกษาเท่านั้น ตัวนายจ้างเองก็มักจะบ่นว่าเด็กที่จบออกมายังใช้ไม่ได้ ต้องเอามาเทรนใหม่หมดเลย


เพราะการศึกษาไม่ได้เติมขีดความสามารถของคนจริงๆ
แต่เข้าไปเติม ‘ฐานันดร’ มากกว่า


เราได้ยินมาคำว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ตั้งแต่เด็กๆ แต่ถึงวันนี้ก็ยังต้องปฏิรูปการศึกษาอยู่ อะไรคือปลายทางของมัน

จริงๆ มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ต้องปฏิรูปให้ต่อเนื่อง คำถามคือปฏิรูปอะไรต่างหาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น จัดกระทรวงศึกษาธิการยังไง แล้วมันก็จะจบตรงนั้น เพราะกระบวนการจัดกระทรวง เอากรมไหนมายุบรวมกับกรมไหน โดยธรรมชาติก็เป็นเรื่องการเมืองที่มีคนได้-คนเสีย และคนที่เสียก็จะสู้ พอสู้กันมันก็จะใช้เวลา แล้วสุดท้ายก็ลืมไปว่าจะจัดกระทรวงไปเพื่ออะไร แล้วพลังในการปฏิรูปก็จะหายไป

ปี 2541-2542 ที่ปฏิรูปการศึกษาเยอะๆ ทำกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เราหมดพลังไปกับการทำตรงนั้นเยอะ แต่แล้วก็ไปไม่ถึงห้องเรียน ไปไม่ถึงเด็ก ถ้าจะเริ่ม ต้องเริ่มกลับกันว่าจะทำยังไงให้ห้องเรียนมันเอื้อต่อการเรียน ให้เด็กสนใจ ให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต ถ้าเริ่มอย่างน้อยแล้วค่อยย้อนกลับไปว่าจะจัดกระทรวงยังไง ไม่ใช่เริ่มจากจัดกระทรวงก่อน มันถึงจะมีโอกาสตกอยู่กับเด็กมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าจะปฏิรูปอย่างนี้ มันจะต้องให้ครูมีอิสระมากยิ่งขึ้น ให้โรงเรียนมีอิสระมากยิ่งขึ้น และเมื่อเขามีอิสระอยากจะพัฒนาเด็ก พัฒนาการเรียนการสอนแล้วอะไร เขาขาดอะไร ค่อยไปช่วยตรงนั้น วิธีแบบนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ผลดีกว่า


ปี 2541-2542 ที่ปฏิรูปการศึกษาเยอะๆ
ทำกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เราหมดพลังไปกับการทำตรงนั้นเยอะ
แต่แล้วก็ไปไม่ถึงห้องเรียน ไปไม่ถึงเด็ก


อาจารย์มองว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมผู้มีอำนาจของไทยถึงชอบปฏิรูปการศึกษาด้วยการเริ่มจากปรับโครงสร้างกระทรวงก่อน

เพราะ ศธ. คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการสั่ง mindset ที่คิดว่า ‘การศึกษาสั่งได้’ มันยังมีอยู่ การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่งอกขึ้นมาจากความอยากรู้อยากเห็นของคน และยิ่งนักเรียนอยากรู้อยากเห็นเขายิ่งต่อต้านใหญ่เลย เช่นถ้าถามอะไรที่ครูไม่ได้สอน เรื่องใหญ่เลย

ความเคยชินที่ว่ามันคือการสั่งได้จากส่วนกลาง จากข้างบนสู่ข้างล่าง เป็น mindset ที่ฝังลึกมากใน ศธ. เพราะมันรวบอำนาจมานาน การศึกษาในประเทศดีๆ มันจะมาพร้อมกับการ ‘กระจายอำนาจ’ ให้กับโรงเรียนได้จัดการศึกษาเอง มันต้องมีโอกาสทำอะไรแผลงๆ มันถึงได้เรียนรู้ ถ้าทำอะไรเหมือนกันหมด มันจะไม่ได้เรียนรู้ เพราะแปลว่ามันมีคำตอบที่ตายตัวอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา ก็เคยมีคนพยายามเข้าไปเปิดโรงเรียนแปลกๆ ใหม่ๆ แต่ทุกคนจะ suffer หมด เช่น โรงเรียนดรุณสิกขาลัยของอาจารย์พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ไปเปิดอยู่ในมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เขาก็มีวิธีสอนที่ไม่เหมือนหลักสูตรของ ศธ. เพราะไมได้มาสอนแบบแบ่งวิชา เช่น จะสอนเรื่อง Big Bang ก็จะบอกว่า คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์ของ Big Bang คืออะไร มันทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต เกิดอารยธรรมต่างๆ อย่างไร ซึ่งการสอนแบบนี้ มันมี theme มีความสนใจร่วมกัน แล้วเด็กก็รู้ว่าเอาวิชาการเหล่านี้ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จะประยุกต์ได้อย่างไร เพราะเอาของจริงมาให้เห็น ไม่ใช่ไปแก้สมการ แต่โรงเรียนนี้ก็จะประสบปัญหาว่า ถ้าเด็กจะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องเรียนตรงตามหลักสูตรของ ศธ. เพราะฉะนั้นครูก็ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งมาระบุว่า วิชา Big Bang เขาได้สอนอะไรไปบ้าง ตรงกับจำนวนชั่วโมงที่ ศธ. กำหนดมาหรือเปล่า

แล้วสิ่งที่ ศธ. อยากได้สำหรับการผ่านหลักสูตร มันเป็นอะไรที่ยิบย่อยเต็มไปหมด ต้องผ่านตัวชี้วัดต่างๆ นานา ซึ่งถ้าผมเป็นครูแล้วอยากได้ตัวชี้วัดให้ครบ ผมก็ต้องสอนให้ครบ โดยอัดความรู้ลูกเดียว ด้วยสปีดที่เร็วขึ้น ซึ่งหลายประเทศใช้วิธีที่กลับกันเลย อย่างสิงคโปร์มีนโยบาย Teach Less Learn More สอนให้น้อย รู้ให้มาก ซึ่งส่วนหนึ่ง คสช. ก็เอามาประยุกต์ใช้ในบางรูปแบบ ของเขาก็คือคุณไม่ต้องไปสอนเยอะ สอนแค่ ‘เคล็ดวิชา’ โดยไม่ต้องไปลง detail เพราะถ้านักเรียนเข้าใจเคล็ดวิชาแล้ว detail ก็เป็นของตาย

ถ้าใช้ศัพท์แบบนิยายจีนก็คือ สอนเคล็ดวิชา ไม่ต้องไปสอนกระบวนท่าทั้งหมด

ใช่ กระบี่อยู่ที่ใจ ถ้าคุณได้เคล็ดวิชาแล้ว เดี๋ยวกระบวนท่ามันมาเอง

อยากให้ประเมินการปฏิรูปการศึกษา ที่รัฐบาล คสช. ทำ มีโอกาสตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาที่ควรจะเป็นหรือไม่ และต่างจากที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำอย่างไร

รัฐบาลนี้เข้ามามีโจทย์ชัดว่าอยากจะปฏิรูปการศึกษา และผมคิดว่าก็ได้ทำหลายเรื่องที่มา ‘ถูกทาง’ ซึ่งก็คืออะไรที่เคยทำไว้เละๆ ก็ทำให้มันลดลง เช่น ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจพบว่า ใน 1 ปี ครูจะต้องออกไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการสอน 84 วัน จากช่วงเวลาเปิดเทอมจริงๆ 200-220 วัน หรือหายไปกว่า 40% ที่ครูไม่ได้อยู่ในโรงเรียน หรืออยู่แต่ไม่ได้อยู่ในห้องเพื่อสอน เช่น ต้องใช้เวลาไปทำเอกสารประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. หรือไปทำโครงการที่รัฐบาลชุดต่างๆ โยนลงมา โครงการเก่าไม่เคยเลิก แล้วก็มีโครงการใหม่เข้ามาเรื่อยๆ สุดแล้วแต่ครูจะดูสัญญาณจากเบื้องบนว่าอยากให้ทำโครงการไหน ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ คือลดเวลาตรงนี้ไป และลดได้พอสมควร และหยุดให้ สมศ. ไปประเมินโรงเรียนต่างๆ ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เป็นสิ่งที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

แค่ก็มีบางอย่างที่เขาเจตนาดี แต่ก่อนจะทำไม่ได้เตรียมการหรือคิดให้ทะลุพอ ผลเลยออกมาไม่ค่อยดี เช่น นโยบาย ‘ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้’ ซึ่งโดยหลักการดีมากๆ เนื่องจากเด็กไทยเรียนเยอะมาก เฉลี่ยปีละ 1,200 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับเด็กฟินแลนด์ ประเทศที่การศึกษาดีลำดับต้นๆ ของโลก ก็เรียนแค่ปีละ 600-700 ชั่วโมงเท่านั้น คือเราเรียนมากกว่าเขาเยอะ แต่ผลการเรียนก็ยังแย่ จนมีคำพูดว่า ‘ยิ่งเรียนยิ่งโง่’ การลดเวลาเรียนจึงเป็นสิ่งที่ถูก แต่เขาพลาดตรงลดแล้วไม่รู้จะไปเพิ่มเวลารู้อย่างไร เคยมีเด็กๆ มานั่งคุยให้ฟังว่า ต่อให้เลิกแล้วก็ยังไม่ปล่อยให้กลับบ้าน แต่กักไว้ให้ทำกิจกรรม มันก็เลยกลายเป็นห้องเรียนแบบเดิมนั่นแหละ ผมถึงคิดว่าเขาใจร้อนไป ไม่ได้คิดให้เป็นระบบ

มีบางเรื่องที่เป็นประโยชน์แต่ยังไปไม่ถึงปลายทาง เช่น การทำฐานข้อมูลเด็ก เพราะทุกวันนี้มันมีการ make ตัวเลข ‘เด็กนักเรียนปลอม’ ที่ไปลงทะเบียนเรียนกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล กลายเป็นเด็กคนเดียวมีชื่อเรียน 3-4 ที่ การที่รัฐบาลพยายามทำ database อย่างนี้ดี มีประโยชน์ และจะใช้เป็นข้อมูลในการบริหารการศึกษาที่ดีขึ้นได้


 

แค่ก็มีบางอย่างที่เขาเจตนาดี แต่ก่อนจะทำไม่ได้เตรียมการ
หรือไม่ได้คิดให้ทะลุพอ ผลเลยออกมาไม่ค่อยดี


เหลืออะไรที่ควรทำ แต่รัฐบาล คสช.ยังไม่ได้ทำ และอยากแนะนำให้ทำ

สิ่งที่ผมอยากให้ทำเป็นระบบมากกว่านี้ คือการเลือก ‘ครู’ เพราะถ้าไปดูประเทศไหนที่การศึกษาดีๆ สิ่งสำคัญคือครูต้องคุณภาพดี แล้วภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณถึง 2.1 แสนคน ถ้ารับใหม่ อาจไม่เท่าเดิม เพราะเด็กเกิดน้อยลง แต่ก็น่าจะมีมากถึง 1.4 แสนคน สิ่งสำคัญคือครูรับใหม่เหล่านี้จะอยู่กับเรา 30-40 ปี เรียกได้ว่าชั่วชีวิตของคนหนึ่งรุ่น ถ้าได้ครูที่ไม่ดี ไม่เก่งพอ แปลว่าการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่จะปฏิรูปตอนนี้ไม่สำเร็จ แต่อีก 30 ปีข้างหน้าก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็น ‘โอกาสทอง’ เลย เพราะครูจะเกษียณกันมาก ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ได้ทำอะไรไปบางอย่าง แต่ผมยังไม่เห็นรูปธรรมของการปรับเกณฑ์การสมัครสอบครูให้เข้มงวดมากขึ้น ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก

เวลาคนไทยพูดถึงระบบการศึกษาในฝัน ก็มักจะชอบยกตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำมาใช้ไทยได้ไหม

ถ้าสิงคโปร์จะเป็นระบบการศึกษาในฝัน มันก็ไม่ใช่ว่าเป็น ‘ฝันดี’ นะ คือการศึกษาในประเทศแถวๆ บ้านเรา ผลการเรียนดี แต่มาด้วยความเหนื่อยยากแสนสาหัสแทบทั้งสิ้น พ่อแม่เคี่ยวเข็ญ ต้องเรียนพิเศษ ต้องทำการบ้านเยอะๆ ต้องกวดวิชา มันไม่ใช่เรียนแบบความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ แต่เรียนแบบอึด (หัวเราะ) แต่ของเขาอึดแล้วผลมันยังออก แต่ของไทยอึดแล้วผลมันไม่ออก

สำหรับฟินแลนด์ ไทยคงจะนำมาใช้ได้ยาก เพราะระบบฟินแลนด์ สังคมต้องเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำน้อยๆ คนต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันเยอะๆ ปล่อยให้ครูไปทำยังไงก็ได้กับเด็ก เพราะเชื่อว่าครูหวังดีกับนักเรียน แล้วผลก็ออกมาดี ไม่ใช่ว่าเวลาสอนในห้องครูไม่ยอมปล่อยเคล็ดวิชา แต่ถ้าเป็นสอนพิเศษถึงค่อยมาปล่อยเคล็ดวิชา ซึ่งแต่ละเรื่องต่างกับไทยเหลือเกิน เช่น สังคมไทยเหลื่อมล้ำมากมายมหาศาล ต่างกับสังคมฟินแลนด์ที่ไม่ต้องไปกังวลการเลือกโรงเรียน เพราะมันดีทุกโรงเรียน ถ้าจะเราไปสู่ฟินแลนด์ ก็ต้องทำให้สังคมพ้นความเหลื่อมล้ำก่อน แล้วถามว่าจะทำอย่างไร

ของไทยดูเหมือนจะใกล้กับระบบเอเชียตะวันออกที่สุด แต่ของเราจะไปได้เพียงส่วนเดียว คือชนชั้นกลางในเมืองที่มีสตางค์พอจะทำแบบสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คือกวดวิชากันเยอะๆ แต่ทำยังไงให้ระบบการศึกษามันดีขึ้น ปรับหลักสูตรให้ดีขึ้น ภายในระบบการศึกษาแบบเดิม อันนี้ไปง่ายที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ ‘สวรรค์’ เรียกว่าดีขึ้นสำหรับเด็กที่มาจากชนชั้นกลางในเมือง ส่วนที่เหลือก็ยังมีปัญหามากมายมหาศาล


 

ครูรับใหม่เหล่านี้จะอยู่กับเรา 30-40 ปี เรียกได้ว่าชั่วชีวิตของคนหนึ่งรุ่น
ถ้าได้ครูที่ไม่ดี ไม่เก่งพอ แปลว่าการศึกษาไทยไม่ใช่แค่จะปฏิรูปตอนนี้ไม่สำเร็จ
แต่อีก 30 ปีข้างหน้าก็ไม่สำเร็จ


 

คือถ้าหยิบมาใช้ได้ ก็แค่ในเมืองที่มีความพร้อมประมาณหนึ่ง

สังคมเอเชียตะวันออกจะเป็นอย่างนี้หมด ส่วนหนึ่งถ้าเป็นพวกเอเชียแบบจีน ซึ่งไทยก็มีส่วนหนึ่ง คือชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง คือพวกจีน การศึกษามันก็คือการสอบ ‘จอหงวน’ แบบหนึ่งนั่นแหล่ะ คือติวๆๆ แล้วไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยกัน ถ้าเข้าได้ชีวิตก็สบาย ชีวิตมีทางไป มีงานมีการที่ดี สูตรนี้คือสูตรเอเชียตะวันออก เรียนเยอะเหนื่อยเยอะ กวดวิชาที่ไทยว่าหนัก ญี่ปุ่นหนักกว่าไทย เกาหลีใต้หนักที่สุด แต่ประเทศเหล่านี้มีลูกบ้าเยอะ อย่างญี่ปุ่น สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็สอบมันอยู่นั่นแหล่ะ จนกวดวิชาเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมโหฬาร

ไทยส่วนหนึ่งจะไปทางนี้ได้ใกล้ที่สุด เพราะมันคล้ายกัน ถ้าจะให้ไทยไปแบบฟินแลนด์ ไม่รู้จะเริ่มยังไง (หัวเราะ) ผมนึกไม่ออก ผมเคยนั่งอ่านเอกสาร ก็เห็นด้วยว่าระบบฟินแลนด์มันดีนะ แต่มันไม่มีเส้นทางจากนรกไปสวรรค์ 

แล้วก็มีสูตรเนเธอร์แลนด์ที่ดีอีกแบบหนึ่ง แต่ใช้กลไกการตลาดเยอะ ใช้โรงเรียนเอกชนที่เก่ง แต่ด้วยสูตรปัจจุบันของไทย โรงเรียนรัฐกินรวบหมด โรงเรียนเอกชน ถ้าคุณไม่เป็นแบบอินเตอร์เลยก็จะเหนื่อยมาก เพราะวิธีที่รัฐช่วยมันต่างมหาศาล เช่น รัฐให้เงินสนับสนุนโรงเรียนรัฐต่อเด็กคนละราว 4 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนจะได้ราว 2 หมื่นบาท เพราะฉะนั้นโรงเรียนเอกชนก็ตาย ไม่มีเงินไปจ่ายเงินเดือนครู ครูโรงเรียนเอกชนก็หนีไปเป็นครูโรงเรียนรัฐ หนีไปสอบกันทุกปี

หมอจะหนีจากโรงพยาบาลรัฐไปโรงพยาบาลเอกชน แต่ครูจะหนีจากโรงเรียนเอกชนไปโรงเรียนรัฐ เพราะถ้าเป็นครูโรงเรียนรัฐ เงินเดือนจะขึ้นเฉลี่ยปีละ 6% จนตอนนี้เงินเดือนของครูในโรงเรียนรัฐสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อนๆ ของผมในมหาวิทยาลัยก็บ่นว่าเดี๋ยวจะมาสอนโรงเรียนรัฐดีกว่า

ขอย้อนไปถามเรื่องโรงเรียนกวดวิชา ที่อาจารย์บอกว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมแทบจะทั่วเอเชียตะวันออก แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าระบบการศึกษาดีมันก็ไม่ควรมีโรงเรียนกวดวิชาสิ

แปลว่าสังคมเอเชียตะวันออกมันก็มีปัญหาคล้ายๆ ไทย คือมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องการเลื่อนฐานันดร-เลื่อนชนชั้นของคน แล้วถ้าไปดูประวัติการสอบ ‘จอหงวน’ มันก็เป็นอย่างนั้นเลย ต่อให้คุณเป็นชาวนาคุณก็เลื่อนระดับได้ถ้าสอบๆๆๆ

คือส่วนหนึ่งมันเป็นรากของสังคมแถบนี้ วิธีไต่ชนชั้นที่ใช้ความสามารถมันคือการศึกษา เพราะฉะนั้นคนเอเชียตะวันออกจึงทุ่มกับการศึกษาเยอะ พอทุ่มเยอะ ก็มีการแข่งขันกันเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีคนแพ้-คนชนะ มันถึงเป็น ‘สมรภูมิ’ ที่มีความดุเดือดมาก แต่ว่าแต่ละประเทศก็ต้องหาวิธีการจัดเรื่องนี้ เช่นประเทศญี่ปุ่นที่ผมรู้จักดีหน่อยเพราะเคยไปเรียนมา มัธยมญี่ปุ่นเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดมากเลย เมื่อสอบเข้า ป.ตรีได้ เช่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวที่ถือเป็นภูเขาฟูจิสำหรับวงการการศึกษาญี่ปุ่น ก็จะเป็นที่ๆ เขาไม่เข้าไปเรียนหนังสือกัน แต่ไปเล่น ไปหาแฟน ทุกมหาวิทยาลัยจะเป็นแบบนี้หมด มีแต่พวกนักศึกษาต่างชาติที่ตั้งใจเรียน แต่นักศึกษาญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเรียน บางคนเรียน ป.ตรีจบ ก็เรียน ป.โท เพื่อยึดเวลาเรียนไปอีก 2 ปี เพราะหลังจากนั้นจะต้องเข้าทำงานในบริษัท ซึ่งจะเหนื่อยเป็นบ้าเป็นหลัง ฉะนั้น มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมันคือช่วงเวลาสำหรับ ‘พักผ่อน’ เพราะมัธยมก็หนักมาแล้ว ต้องกวดวิชา ดังนั้น แต่ละที่มันก็มีอาการของมัน ฉะนั้นมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยมีประโยชน์ พอเข้าทำงานบริษัทก็ต้องไปเทรนอีกทีอยู่ดี

ทีนี้ ย้อนกลับมาดูที่มหาวิทยาลัยของไทย ก็มีสภาพที่คล้ายๆ กับอย่างนั้นอยู่ คือเพิ่มทุนมนุษย์ไม่เท่าไร นายจ้างก็จะบ่นว่าเด็กจบมหาวิทยาลัยมาก็ยังใช้ไม่ได้ แต่นายจ้างก็ไม่พร้อมจะเทรนนี่คือปัญหา

คือถ้าเราออกแบบระบบหนึ่งมาก็จะมีอาการแบบหนึ่ง ก็จะต้องหาวิธีแก้ไขกันไป

คิดว่า ‘การศึกษาในระบบ’ ยังสามารถปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อยู่ไหม หรือจริงๆ ตอนนี้มันไม่พอ เราเลยต้องไปพึ่ง ‘การศึกษานอกระบบ’

จริงๆ มันยังสำคัญ เพราะเด็กไทยแต่ละคนต้องใช้เวลาในโรงเรียนพักใหญ่ ถ้าทิ้งการศึกษาในระบบไปเลย แปลว่าคุณเอาเวลาที่จะต้องเรียน ป.1 ถึง ม.6 ไม่รวมถึงมหาวิทยาลัย ทั้งหมด 16 ปี ทิ้งไปเลยนะ มันเป็นเวลาสำคัญของคนจำนวนมาก แล้วจะบอกว่าโรงเรียนจะเละอย่างไรไม่ต้องสนใจให้ไปจัดการกับการศึกษานอกระบบแทน ไปเรียนด้วยอินเตอร์เน็ตหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจริงๆ มันก็มีประโยชน์ แต่สุดท้ายมันก็ทิ้งการศึกษาในระบบไปไม่ได้

พวกผมก็เคยพูดเหมือนกันว่า ควรจะสนใจการศึกษานอกระบบมากขึ้น เช่น เอาระบบไอทีมาใช้ การศึกษาต่อเนื่อง อะไรก็ว่าไป แต่เราจะไปมุ่งกับการศึกษานอกระบบก็ต่อเมื่อการศึกษาในระบบมันสิ้นหวังจริงๆ เท่านั้น ส่วนตัวยังมองว่านอกระบบยังเป็นแค่ ‘ตัวเสริม’ ส่วนในระบบถึงจะเป็น ‘ตัวหลัก’ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของความรู้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องทักษะชีวิตด้วย

ยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่แย่กว่าไทย เช่นในอินเดีย ปัญหาของระบบการศึกษาบ้านเขาคือครูไม่มาโรงเรียน โดดไปเฉยๆ เลย ของไทยยังดี อย่างน้อยครูก็มา แต่มาแล้วสอนหรือเปล่าก็อีกเรื่อง

เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ได้แย่ที่สุด เพียงแต่มันไม่เป็นไปตามความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงแล้ว ซึ่งคุณภาพการศึกษาของประเทศที่ใกล้เคียงกัน ของเขาดีกว่านี้เยอะ

การศึกษาแบบนี้มันพาเราไป Thailand 4.0 ไม่ได้ มันจะได้แค่ Thailand 0.4 (หัวเราะ)

อาจารย์กับ TDRI ก็ทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษามานาน ที่ผ่านมาอีกอะไรที่ประสบความสำเร็จบ้าง และในอนาคตจะทำอะไรเพิ่มเติมอีก

ในเชิงวิชาการ ทีมของ TDRI น่าจะทำให้เห็นข้อเท็จจริงอะไรหลายๆ เรื่อง ซึ่งสมัยก่อนสังคมเคยเข้าใจผิด เช่น คนบอกว่าที่เมืองไทยการศึกษาไม่ดี เพราะทุ่มทรัพยากรน้อย เราก็บอกว่าไม่ใช่ เราลงทุนกับการศึกษา 4% ของ GDP ไม่น้อยกว่าประเทศแถวๆ นี้ นักเรียนของเราเรียนปีละ 1,200 ชั่วโมง ไม่น้อยกว่าประเทศไหนในโลก และครูก็ไม่ได้เงินเดือนน้อย แถมคนเก่งเริ่มจะมาเป็นครูด้วย ข้อมูลเหล่านี้มันเปลี่ยนความเข้าใจของคนในสังคม ว่าการปฏิรูปการศึกษามันมีสิ่งแวดล้อมใหม่แล้วนะ และมันทำลายความเชื่อผิดๆ แบบเดิมทิ้ง แล้วบอกว่าความเชื่อที่ถูกต้องคืออะไร

แต่ในส่วนการแปลงความรู้ไปสู่นโยบาย ต้องยอมรับว่าเราทำสำเร็จได้น้อยมาก แต่ก็ทำอยู่ และตอนนี้ไม่ได้ทำกับรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ทำกับเอกชนด้วย โชคดีที่รัฐบาลไปตั้ง forum ประชารัฐ แล้วเราก็ไปทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งคุยง่ายกว่ารัฐเยอะเลย เพราะเอกชนรู้ว่าถ้าไม่ทำอะไร เขาอยู่ไม่ได้ เพราะจะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ซึ่ง TDRI ก็มีส่วนช่วยบ้าง ด้วยการเอาข้อมูลที่มีไปเล่าให้กับภาคธุรกิจฟัง ผลงานเช่นนี้ เราพอมี แต่ยังไปไม่ถึงปลายทาง ยังเป็น work in progress ต้องทำต่อ เพราะผมไม่คิดว่าประเทศไทยมีทางเลือก ไม่ปฏิรูปไม่ได้

นอกจากนี้ เราก็พยายามทดลองสูตรใหม่ๆ คือร่วมมือกับภาคประชาสังคม ไปจัดตั้งกองทุนสังคมเพื่อการศึกษา เพราะที่ผ่านมามันมีข้อมูลว่าคนไทยให้เงินบริจาคด้านการศึกษาเยอะมาก แต่ไม่มีใครไปตามว่าผลลัพธ์จริงๆ ไปถึงตัวเด็กหรือไม่ มันทำให้เกิดอิมแพคจริงๆ หรือปล่า

ขณะเดียวกัน เราก็พยายามศึกษาโรงเรียนที่ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ดี ว่ามันส่งผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ เพราะถ้าเอาความหวังทุกอย่างไปฝากไว้กับ ศธ. โอกาสผิดหวังมันจะเยอะ การลงทุนมีความเสี่ยง เราถึงต้องกระจายความเสี่ยงนั้น (หัวเราะ)

เนื่องจากบนแพลตฟอร์ม Facebook มีการสะกดชื่อ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผิดเป็น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ The MATTER ขออภัยมา ณ ที่นี้


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน The Matter ในชื่อ ปฏิรูปการศึกษาไทยแล้วไปไหน? กับ ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560