บทเรียน ‘อุบัติเหตุรถตู้’ กับสิ่งควรทำ ‘อันดับแรก’

ปี2017-01-12

สุเมธ องกิตติกุล

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เป็นอุบัติเหตุรุนแรงระหว่างรถตู้โดยสารประจำทางและรถกระบะที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ราย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อรถตู้โดยสารประจำทางสายกรุงเทพ-จันทบุรี ออกจากจันทบุรี มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร วิ่งข้ามเกาะกลางถนน ชนประสานงากับรถกระบะที่มีคนนั่งมาในรถมากกว่า 10 คน และได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น หลังดับเพลิงได้ พบมีผู้เสียชีวิต มากถึง 25 ศพ แยกเป็นผู้ที่มากับรถตู้ 14 ศพ เป็นชาย 4 หญิง 10 ส่วนรถกระบะ ตาย 11 ศพ เป็นชาย 5 หญิง 6

นอกจากนี้มีผู้รอดชีวิต 2 ราย มากับรถตู้ 1 ราย และมากับรถกระบะ 1 ราย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การสืบสวนหาสาเหตุในเชิงลึก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในเบื้องต้น ทีมงานศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย นำโดยคุณณัฐพงศ์ บุญตอบ ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลสภาพถนน และรถทั้งสองคันที่เกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุ โดยให้สาเหตุเบื้องต้นไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ คนขับรถพักผ่อนไม่เพียงพอ (ตามข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ขนส่งในพื้นที่) การใช้ความเร็วสูง เนื่องจากรถที่วิ่งข้ามเกาะกลางที่มีความลึก 1.20 เมตร และ ลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่มีกำแพงคอนกรีตกั้นบริเวณเกาะกลาง ซึ่งทั้งสามประเด็นข้างต้น เป็นเพียง สาเหตุเบื้องต้น และเน้นที่สาเหตุที่อาจจะทำให้รถตู้โดยสารวิ่งข้ามเกาะกลางไปชนกับ รถกระบะที่วิ่งสวนมา

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็น คือความรุนแรงของอุบัติเหตุที่หลังจากการชน เกิดไฟลุกไหม้และทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แหตุการณ์แรก ที่เกิดปัญหาเรื่องการเกิดเพลิงไหม้เมื่อรถตู้ เกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่รถตู้ เกิดอุบัติเหตุแล้วไฟไหม้ เช่น ปี 2555 กรณีรถตู้ โดยสารประจำทางสายกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ชนท้ายรถพ่วง 18 ล้อบนถนนมอเตอร์เวย์สาย 9 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย หรือ เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่รถตู้โดยสารส่วนบุคคลบรรทุกคณะครูกลับจากการสัมมนา เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ เกิดไฟไหม้ ทำให้มี ผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย

เห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงความผิดปกติของรถตู้โดยสารที่มักจะเกิดไฟไหม้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เหตุการณ์เหล่านี้ ถ้าเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีการจัดตั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุเชิงลึก เพื่อกำหนดนโยบายเพื่อ ไม่ให้มีปัญหาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก

ปัจจัยด้านคนขับ และรูปแบบการประกอบการ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหา เรื่องความปลอดภัยของการให้บริการรถตู้โดยสาร ทั้งความพร้อมของคนขับรถ การวิ่ง ให้บริการ หรือที่เรียกว่าทำรอบ โดยไม่มีการ หยุดพักที่เหมาะสม รวมถึงการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ภาครัฐพยายามที่มีนโยบายมาแก้ไขโดยใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล ซึ่งได้แก่ การติดตั้งระบบ GPS และระบบตรวจสอบ ผู้ขับขี่ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ กำกับดูแลคนขับรถได้ดีขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยีเพียง อย่างเดียว ยังไม่สามารถยกระดับการกำกับดูแลที่เข้มข้นได้ ถ้ารูปแบบการประกอบการในปัจจุบัน ยังมีโครงสร้างประกอบการที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำให้ยากแก่การกำกับดูแล รวมถึงรูปแบบนี้ยังไม่สามารถยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการได้ ถ้าภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถให้มีความปลอดภัยมากขึ้น จากรถตู้เป็นรถมินิบัส ซึ่งเป็นไปได้ยาก ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีทุนเพียงพอ ที่จะยกระดับตัวเอง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนถึง ปัญหาระบบรถโดยสารประจำทางที่สะสมมาเป็นเวลานาน และภาครัฐมีการบ้านที่ต้องดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกมาก

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือประเด็นเรื่องรถตู้โดยสารไฟไหม้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ ถ้าภาครัฐต้องดำเนินการหามาตรการ โดย การสืบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก และเสนอมาตรการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นอีก ประการ ต่อมา คือการเร่งรัดการติดตั้งอุปกรณ์ GPS ให้ ครอบคลุมรถตู้โดยสารประจำทางทั้งหมดให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการกำกับดูแลด้านความเร็วและ ชั่วโมงการขับรถของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้น

และประการสุดท้าย ในส่วนการปรับเปลี่ยน ให้รถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสนั้น ควรมอง เป็นมาตรการระยะปานกลาง โดยการจำกัด การใช้งานรถตู้ระยะทางไกล (มากกว่า 150 หรือ 200 กิโลเมตร) ก่อนเพื่อให้เปลี่ยนเป็น รถมินิบัส และปรับรูปแบบการประกอบการ ให้ลดจำนวนผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีคุณภาพการให้บริการ และมีระบบดูแลความปลอดภัยที่ดีต่อไป


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ พฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560 ในชื่อ บทเรียน ‘อุบัติเหตุรถตู้’กับสิ่งควรทำ ‘อันดับแรก’