tdri logo
tdri logo
20 มกราคม 2017
Read in Minutes

Views

การค้าชายแดน-ผ่านแดน ไทย ลาว จีน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ไม่น่าคุ้มระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

ภาคประชาชน เสนอรัฐบาลทบทวนโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หวั่นกระทบระบบนิเวศ ชี้ไม่คุ้มสูญเสีย แหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ TDRI เผยข้อมูลเศรษฐกิจค้าชายแดนผ่านแดนเชียงของ – เชียงแสนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดนทั้งหมด เปิดเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่บรรทุก 500 ตันวิ่ง ไม่น่าจะคุ้ม หากเทียบกับผลเสียต่อเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (17 ม.ค.2560) จัดเวทีวิพากษ์โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เสนอให้รัฐบาลทบทวนการศึกษาโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หลังจากกรมเจ้าหน้าที่ กระทรวงคมนาคมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแผนการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ.2015 -2025 โดย ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ บอกว่า โครงการพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ถูกผลักดันมาหลายรัฐบาล และได้มีการยับยั้งโดยกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ให้ชะลอโครงการเนื่องจากเกาะแก่ง และคอนผีหลง ยังมีการพิพากษ์เรื่องการปักปันเขตแดน จนถูกนำกลับมาเสนออีกครั้งในรัฐบาลนี้ โดยให้ศึกษาการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงที่ยังเหลืออยู่ เพื่อปรับปรุงและเปิดร่องน้ำให้เรือขนสินค้าขนาด 300 ตันสามารถเดินเรือผ่านได้ทุกฤดูกาล จากท่าเรือซือเหมา ประเทศจีน ไปจนถึงท่าเรือหลวงพระบาง ประเทศลาว รวมระยะทาง 886 กิโลเมตร

น.ส.เพียรพร กล่าวว่า หากมีการระเบิดแก่งเปิดร่องน้ำในบริเวณคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งที่ใหญ่ที่สุดเพียงแก่งเดียวที่เหลืออยู่และเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ซ้ำเติมผลกระทบจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างในประเทศจีน และเขื่อนไซยะบุรี ที่ทำให้ระดับน้ำและกระแสน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ กระทบต่อเกษตรกรรมริมแม่น้ำโขง รวมถึงระบบนิเวศความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ด้าน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่น้ำโขง – ล้านนา บอกว่า ชาวอำเภอเชียงแสน และเชียงของ ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เขื่อนผลิตไฟฟ้าในจีนสร้างแล้วเสร็จ ปี 2539 ระดับน้ำโขงขึ้นลงเร็วกว่าผิดปกติ ส่งผลต่อการอพยพของปลาชนิดต่างๆ จากโตนเลสาบ ประเทศกัมพูชาที่จะขึ้นมาวางไข่ในบริเวณนี้ เนื่องจากยังคงที่มีเกาะแก่งให้ปลาวางไข่หลายจุด แต่การพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้า และการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงระยะที่ 1 ในจีน พบผลกระทบยังรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะแหล่งอาหารถูกทำลาย จากความผันแปรของน้ำในแม่น้ำโขง

“ จากการศึกษาชนิดพันธุ์ปล่าในแม่น้ำโขง ของศูนย์วิจัยไทบ้านพบว่า ปัจจุบันพบปลาในพื้นที่เพียง 86 ชนิด มีพรรณพืชมากกว่า 800 ชนิด เป็นพืชสมุนไพร และพืชที่ใช้ทำอุปกรณ์หาปลาที่อยู่ในพื้นที่คอนผีหลง ซึ่งมีเกาะแก่งมากกว่า 51 แก่ง หากมีการระเบิดแก่งที่มีอยู่ เท่ากลับมาระบบนิเวศที่เคยเกื้อกูลกันถูกทำลายลง กระทบต่อวิถีชีวิตของประมงในแม่น้ำโขง”นายสมเกียรติ กล่าว

ชี้โครงการต้องผ่านกระบวนการใน “เอ็มอาร์ซี”

ด้านนายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมง และอดีตคณะทำงานศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC กล่าวว่า จากข้อมูลที่ MCR ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ที่เห็นได้ชัด อย่าง พันธุ์ปลาหลายชนิดในแม่น้ำโขงลดลง และยังมีการศึกษาพบว่าบริเวณแก่งในคอนผีหลง ซึ่งเป็นเป้าหมายของการระเบิดแก่งระยะ 2 ก็เป็นแหล่งที่ปลาบึก อพยพจากกัมพูชาขึ้นมาวางไข่ในบริเวณนี้

“ที่ผ่านมามีการศึกษาชัดเจน จากคณะทำงานของ MRC แต่ไม่ได้ถูกนำมาร่วมในการประเมินผลกระทบ ทำให้โครงการนี้ยังคงถูกนำกลับมาหลายครั้ง หากมีการเดินหน้าระเบิดแก่งในบริเวณนี้ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือระบบนิเวศน์ที่ MRC ศึกษามาก็จะถูกทำลายลง เฉพาะหน้า การระเบิดแก่งจะกระทบโดยตรงกับชาวประมงในพื้นที่อ.เชียงของและเชียงแสน จ.เชียงราย เพราะความแรงของการระเบิดแก่งอาจทำให้ตลิ่ง หรือริมฝั่งได้รับผลกระทบ ส่วนระยะยาวจะกระทบต่อระบบนิเวศทั้งลำน้ำ เพราะไม่สามารถรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของปลาน้ำจืดไว้ได้” นายชวลิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการเดินหน้าโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ต้องทำตามกระบวนการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนหรือไม่ นายชวลิต กล่าวว่า การดำเนินการโครงการใดๆในแม่น้ำโขงสายประธาน ต้องเข้าสู่กระปรึกษาหารือล่วงหน้า ต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่อาจจะมีการรับฟังความเห็นประเทศไทยกับประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบตลอดทั้งลำน้ำ

ทีดีอาร์ไอ ระบุสัดส่วนการค้าชายแดน ผ่านแดน มีเพียงร้อยละ 3

ด้าน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ข้อมูลการค้าชายแดนผ่านแดนระหว่างประเทศไทย ลาว และจีน พบว่ามีสัดส่วนการค้าเพียงร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดนทั้งหมดของประเทศไทย

และปัจจุบันมีเส้นทาง R3A ที่เชื่อมโยงจากจีน ลาว และไทย ที่สามารถเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า จึงยังคงมีการตั้งคำถามว่า หากมีการพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำโขงจะนำมาซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เท่าไหร่ ต้นทุนการขนส่งจะลดลงได้มากแค่ไหน และเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร มากน้อยแค่ไหน

ดร.เสาวรัจ กล่าวต่อว่า หากพิจารณาถึงความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ นอกจากดูด้านมูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดนแล้ว ยังควรมองจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน โดยประเมินจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขง หากมีโครงการระเบิดแก่ง ต้องมีการรับฟังความเห็นและประเมินผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจชุมชน จากนั้นนำมาประเมินว่าคุ้มค่า หรือไม่ และสุดท้ายพิจารณาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเป็นการศึกษาผลกระทบจากฝั่งประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากโครงการโดยตรง ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีหน่วยงานกลาง หรือองค์กรกลาง มาเป็นผู้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ภาพของผลกระทบที่แท้จริงได้ถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ก่อนจะเดินหน้าโครงการระเบิดเกาะแก่ง

“พบว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น กรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการศึกษาผลกระทบจากฝั่งที่ได้ประโยชน์เป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับผู้ได้รับผลกระทบทางลบ ทำให้ยังคงมีกระแสการต่อต้าน และนำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลควรทบทวนบทเรียนจากโครงการเหล่านี้ ” ดร.เสาวรัจ กล่าว


หมายเหตุ ปรับปรุงข้อมูลจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อ 17 มกราคม 2560 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ” จี้ทบทวนระเบิดแก่งแม่น้ำโขง-ชี้ไม่คุ้มเสี่ยงระบบนิเวศพัง

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด