การศึกษาเปลี่ยน ‘สิทธิ’ ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น ‘หน้าที่’

ปี2017-01-26

ธีรชัย เกื้อเกตุ
นพนันท์ ตรียุทธวัฒนา

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 ที่จัดขึ้น ณ เมืองมาร์ราคิช ประเทศโมร็อกโก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แม้จะ ไม่ค่อยเป็นข่าวโด่งดังในไทย แต่ไทยก็ได้ มีส่วนเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 200 กว่าประเทศที่พร้อมใจกันแก้ไขปัญหา “โลกร้อน” ด้วยการหารือเพื่อแปรกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) จากมติการประชุมฯ สมัยที่ 21 ให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรม

ผลจากการประชุมฯ สมัยที่ 22 นี้ มีข้อตัดสินใจออกมา 23 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดกล่าวถึงเรื่องของการสร้างความตระหนักและการศึกษา (Climate Change Awareness and Education) เอาไว้ โดยตรง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ ในข้อบทที่ 12 แห่งความตกลงปารีส และน่าจะเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ ในการบรรเทาและเยียวยาปัญหาโลกร้อนในระยะยาว

เท่าที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศพัฒนาแล้ว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาโลกร้อน จะเน้นการพึ่งพาอาศัยกลไกตลาด (market-mechanism) เช่น มาตรการทางภาษี หรือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดพื้นฐาน ทางเศรษฐศาสตร์ในการพยายามปรับเปลี่ยน พฤติกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2002 ประเทศไอร์แลนด์มีการเก็บค่าถุง พลาสติกในราคา 15 เซ็นต์ต่อถุง ซึ่งผลลัพธ์ ที่ตามมาคือจำนวนการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90% ในปีนั้น สะท้อนให้เห็นว่า “พฤติกรรม” ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการมีกลุ่มนักคิดที่เรียกว่า นักทฤษฎีสีเขียว (Green Theorists) ได้โต้แย้งว่าการใช้กลไกตลาดไม่ได้ทำให้ “ทัศนคติ” ของ ผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ในทางที่ดีขึ้นเลย ในทางตรงข้าม “พฤติกรรม”ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อผลประโยชน์ในระยะสั้นของพวกเขาเอง ซึ่งในตัวอย่างที่ยกมาก็คือการไม่ต้องเสียเงินค่าถุงพลาสติก

กลุ่มนักคิดดังกล่าวตั้งประเด็นที่น่าสนใจ เอาไว้ในหลายประเด็น อาทิ รัฐบาลต้องใช้เงิน จำนวนเท่าไรในการสร้างแรงจูงใจให้คน เปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งใช้เงินมาก ย่อมกระทบงบประมาณที่จะนำไปใช้ด้านอื่นๆ หรือ หากมาตรการสร้างแรงจูงใจหมดไปแล้ว คนคงหันกลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ กลุ่มนักทฤษฎีสีเขียวพยายามสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางที่ ไม่ใช้กลไกตลาด (non-market mechanism)ซึ่งการสร้างความตระหนักและการให้ การศึกษาก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่นักคิดกลุ่มนี้ ให้การสนับสนุน โดยพวกเขาได้ให้เหตุผลว่า เมื่อประชาชนซึมซับและเข้าใจปัญหา สิ่งแวดล้อมแล้ว “ทัศนคติ” จะเปลี่ยนแปลงไปและเมื่อทัศนคติเปลี่ยน “พฤติกรรม” จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กลุ่มนักคิด กลุ่มนี้ได้เรียกกระบวนการนี้ว่า “แรงกระตุ้น จากภายใน” ซึ่งตรงข้ามกับการใช้กลไก ทางตลาดที่เป็นการสร้าง “แรงกระตุ้นภายนอก”

ดังนั้นหากมาตรการจูงใจหมดไป ประชาชนก็ยังคงให้ความสำคัญกับการ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มากไปกว่านั้น นักคิดบางคนในกลุ่มนี้ ได้กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนมีความ เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นจะเกิด ความเป็นพลเมืองรูปแบบใหม่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “พลเมืองสิ่งแวดล้อม” (Environmental Citizenship) ซึ่งเป็นพลเมืองที่มีทัศนคติว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น “หน้าที่” ไม่ใช่ “สิทธิ” ที่จะต้องรอให้หน่วยงานของภาครัฐ มาจัดการดูแล

ในบริบทของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อบทที่ 12 แห่งความ ตกลงปารีสได้กล่าวไว้แต่เพียงสั้นๆ ว่า “ภาคีต้องร่วมมือในการดำเนินงานตามความเหมาะสมเพื่อยกระดับการศึกษา การฝึกอบรม การตระหนักรู้ของประชาชน…” สำหรับรายละเอียดหรือมาตรการต่างๆ นั้นดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่าการประชุมฯ ครั้งล่าสุดยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดหรือแนวการดำเนินการแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้มีโอกาส เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงได้ มีโอกาสร่วมหารือแนวทางการดำเนินการ กับผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านอื่นๆ ในเรื่องที่ เกี่ยวกับจิตสำนึก การศึกษา

จึงขอใช้ประโยชน์จากการนี้ในการสรุปข้อเสนอที่ประเทศไทยน่าจะ หรือ ควรจะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึก และการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ในระยะยาว

ประการแรก การศึกษาในเรื่อง สิ่งแวดล้อมรอบตัว ปัญหา หรือสาเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับการศึกษาในโรงเรียนโดยอาจต้องจัดให้มีการบูรณาการ เรื่องดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน

ประการที่สอง ต้องมีการสร้างแหล่งการเรียนรู้ อาทิ จัดให้มีชุมชนตัวอย่าง เพื่อที่จะให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตามได้ หรืออาจใช้วิธีการศึกษาโดยการติดตามวิถีชีวิตบุคคลที่เป็นที่รู้จักที่ใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ

ประการสุดท้าย เมื่อผ่านการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนแล้ว เพื่อให้การเสริมสร้างความตระหนักและให้การศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ตัวอย่างเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีการ จัดทำค่ายให้กับเยาวชนบนดอยตุง เพื่อปลูกจิตสำนึกในการดูแลป่า ให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเยาวชน และดูแลพื้นที่ชุมชนของตนเอง โดยมีการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องและมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ เป็นต้น

การพัฒนาส่งเสริมด้านการศึกษานี้ หากทำควบคู่กับการมาตรการจูงใจภายนอก จะเป็นกลไกช่วยบรรเทาปัญหา “โลกร้อน” ในระยะยาว ถึงแม้อาจต้องอาศัยระยะเวลา แต่ผลที่ได้นั้นยั่งยืน อีกทั้งการศึกษาและการสร้างจิตสำนึกเพื่อตระหนักรู้อย่างเข้าใจจะทำให้เรากล้าเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผู้ตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราว


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 26 มกราคม 2560 ในชื่อ การศึกษาเปลี่ยน’สิทธิ’ ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น’หน้าที่’