สกว. ผนึก ทีดีอาร์ไอ จัดออกแบบ ‘บอร์ดเกมต้านโกง’ สะท้อนมุมมองคอร์รัปชัน

ปี2017-01-23

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สกว. ร่วม ทีดีอาร์ไอ จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชวนออกแบบ บอร์ดเกม สะท้อนความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชั่นในแบบ คนGen y – z ระดมผู้เชี่ยวชาญตามติดปัญหาคอร์รัปชั่น และนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ชอบบอร์ดเกม มาร่วมให้ความเห็น ปั้นบอร์ดเกมต้านโกง คว้าเงินรางวัลรวม 7 หมื่นบาท และมีส่วนร่วมต่อยอดขยายผลงานออกสู่สาธารณะ

สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดกิจกรรมแข่งขันออกแบบและเวิร์คชอปบอร์ดเกมต้านคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่นกับคนรุ่นใหม่ ด้วยกลไกใหม่ๆ ที่เข้าถึงคนกลุ่ม Gen y – z ซึ่งมีผู้สนใจร่วมส่งแนวคิดบอร์ดเกมกว่า 40 ทีม

โดยมี 8 ทีมผ่านเข้ารอบร่วมเวิร์คชอป พัฒนาบอร์ดเกมกับ 6 ตัวแทนนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้แก่ คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัยและนักเขียนที่ชอบเล่นและรีวิวบอร์ดเกม ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการด้านคอร์รัปชั่นที่ทำงานด้านนี้มากว่า 17 ปี  คุณบรรยง พงษ์พานิช ผู้เขียนหนังสือ “หางกระดิกหมา” คู่มือต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ไปไกลกว่าการเรียกหาคนดี ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิทยาศาสตร์ที่จับเรื่องไดโนเสาร์มาเป็นเกม “The Xvolution” ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่นำเกมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิจัยที่แปลงงานวิจัยมาใส่บอร์ดเกม

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์  ผู้จัดการด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ หนึ่งในผู้ร่วมจัดงาน ระบุถึงที่มาของการจัดงานครั้งนี้ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ “เผยแพร่ความรู้ ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชั่น” สนับสนุนโดย สกว. มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ภาคเอกชน ภาควิชาการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เรื่องธรรมาภิบาล และการลดคอร์รัปชั่น ผู้จัดงานมีความเห็นตรงกันว่า บอร์ดเกม คือเครื่องมือที่ตอบโจทย์การสร้างความร่วมมือ และดึงดูดให้คนหลากหลายสาขาอาชีพมาพบปะ แชร์ประสบการณ์กัน

“การออกแบบบอร์ดเกม เป็นกิจกรรมที่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรืออาชีพใดที่ผลิตผลงานด้านนี้โดยตรง ผู้มีความสนใจสร้างบอร์ดเกม จึงต้องมีทักษะ ความรู้ที่หลากหลาย หรือต้องอาศัยการชวนเพื่อน หรือดึงเครือข่าย มารวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานออกมา เราจึงเห็นทั้ง กราฟฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน นักศึกษา นักธุรกิจ มาร่วมกิจกรรมนี้” พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์  กล่าว

DSC07694

ทั้งนี้ ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ประกอบไปด้วย 1) ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่สร้างสรรค์เกม Counteract ซึ่งเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องช่วยกันเอาชนะการคอร์รัปชั่นของผู้นำแต่ละจังหวัด 2) ทีมสัตวแพทย์ที่สร้างสรรค์เกม Zoo star เกมแข่งขันกันเป็นดาวเด่นของสัตว์ในสวนสัตว์ ที่จะใช้ทั้งการเล่นตามกติกาและกลโกง อย่างการติดสินบนกับผู้ให้คะแนน เพื่อเอาชนะ 3)  ทีมนักศึกษาปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทำธุรกิจส่วนตัว ที่สร้างสรรค์เกม The Trust เกมที่เปิดให้ผู้เล่นเป็นผู้ร่วมรับโครงการพัฒนาเมืองจากนายกเทศมนตรี ที่มีสิทธิตรวจสอบการทุจริตอันน่าสงสัย

4) ทีมที่มีสมาชิกประกอบอาชีพหลากหลาย ได้แก่ นักบัญชี เจ้าของธุรกิจและนักแปลอิสระ ซึ่งสร้างสรรค์เกม The Influence เกมที่สะท้อนพฤติกรรมนักการเมือง ผู้ซึ่งมีอำนาจเหนือการตรวจสอบ 5) Politics in wasteland เกมที่ต้องการจำลองภาพทางสังคมและสะท้อนว่าไม่มีกลไกอื่นที่จะทำให้ผู้เล่นกลัวการคอร์รัปชั่นได้ ยกเว้นการถูกจับตาจากประชาชน

6) ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และพนักงานร้านบอร์ดเกม สร้างสรรค์เกม The Black Money เกมที่ต้องการถ่ายทอดกระบวนการผลักดันกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดเพียงกลุ่มหนึ่ง 7) ทีมนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์เกม Basket road เกมตัดถนน ที่ผู้มีอำนาจติดสินบนผู้ว่า เพื่อให้ตัดถนนมาใกล้กับที่พักของตน 8) ทีมที่มีสมาชิกประกอบอาชีพหลากหลาย ได้แก่ NGO กราฟฟิกดีไซเนอร์ และ นักเขียนอิสระ ร่วมกันสร้างสรรค์เกม คอร์รัปท่าน เกมที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเลือกที่จะคอร์รัปชั่นหรือไม่ก็ได้ เพื่อค่อยๆซึมซับปัญหา และเรียนรู้การหาทางแก้

การรวมตัวของแต่ละทีมที่มาจากหลากสาขาอาชีพนี้ สะท้อนว่าประเด็นปัญหาการคอร์รัปชั่นนั้นได้รับความสนใจจากคนทุกกลุ่ม และเป็นประเด็นร่วมที่ทุกฝ่ายต่างสนใจและต้องการมีส่วนร่วมหาทางออก และหลังจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง 8 ทีม จะมีเวลาพัฒนาเกมต่ออีก 10 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการตัดสินจากคณะกรรมการรอบสุดท้ายเพื่อรับเงินรางวัล ซึ่งจะมีการประกาศผลในช่วงมีนาคมนี้ และสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมนี้ได้ทาง Facebook Page:  @tdri.thailand