เสวนา “The Trump’s US Government and Thailand” จัดโดยทีดีอาร์ไอ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (IDE) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการค้าจากญี่ปุ่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ร่วมประเมิน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สถานการณ์การค้าของโลกอาจตกอยู่ในภาวะหดตัวมากขึ้นเนื่องจากการใช้นโยบายอเมริกาต้องมาก่อนหรือ “America First” โดยมุ่งหวังให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในสหรัฐอาจนำไปสู่การทำสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้ามากขึ้นในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งหากมีการเดินหน้า เรื่องนี้จริงก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงเหมือน ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1910
สำหรับประเทศไทยอาจไม่ได้รับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงเนื่องจากสหรัฐนำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงเพียง 1% และเกินดุลการค้าสหรัฐเพียงปีละ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่างจากประเทศอย่างจีน เวียดนามและมาเลเซียที่มีการ ส่งสินค้าไปขายโดยตรงยังสหรัฐจำนวนมาก แต่ไทยเองก็ยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกอยู่ถึง 70% ดังนั้นหากมีการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนหรือสหรัฐกับ ประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้การค้าโลกซบเซาและส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก
“ปีนี้จะมีความผันผวนมากโดยเฉพาะ ในภาคการเงิน และการลงทุน ซึ่งภาคธุรกิจเอง ต้องมีแผนสำรอง หรือแพลนบีเตรียมไว้หากสินค้ามีการส่งออกจากไทยไปประกอบที่ประเทศจีนและส่งไปขายยังสหรัฐ เพราะเมื่อไหร่ที่มีการทำสงครามการค้า หรือการกีดกันสินค้าจากจีน ก็ต้องมีตลาดอื่นๆ ที่รองรับไว้ ซึ่งขณะนี้สินค้าบางชนิด เช่น อิเล็กทรอนิกส์ของเราส่งออกไปขายและประกอบที่จีนก่อนส่งไปขายสหรัฐสูงถึง 50% ตรงนี้ภาครัฐก็ควรเข้าไปช่วยภาคเอกชน หาตลาดทดแทนเตรียมไว้ จะได้ไม่เกิดผลกระทบและความเสียหายมากเกินไปหากมีการกีดกันการค้าหรือสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจริง”
นางเดบอราห์ เอลม์ส กรรมการบริหารศูนย์การค้าเอเชียในสิงคโปร์ กล่าวว่า นโยบายใหม่ทรัมป์ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับตลาดโลกในภาพรวม แต่สำหรับอาเซียนเป็นเหมือนการผลักให้หันไปซบจีนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดที่พร้อมและใหญ่มาก
นางเอลม์ส เสริมว่า ในยุคแห่งความผันผวนนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนควรจัดการการเรื่องการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (เออีซี) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ให้เป็นรูปธรรมและเป็นหนึ่งเดียวกันเสียก่อน
หลายฝ่ายมองว่า อาร์เซ็ปเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจะเป็นข้อตกลงระหว่างอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ เช่น ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนามกับอีก 6 ประเทศอย่างออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยสมาชิกอาเซียนมี ข้อตกลงเอฟทีเอแยกจากกัน
สมาชิกอาร์เซ็ปทั้งหมด มีจำนวน ประชากรคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันเท่ากับราว 30% ของจีดีพีทั่วโลก
ด้านนายไดสุเกะ ฮิรัตสึกะ ประธานศูนย์วิจัยกรุงเทพฯ แห่งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (ไอดีอี-เจโทร) เปรียบเทียบความต่างระหว่างโครงสร้างการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แบบพหุภาคี เช่น ทีพีพี กับแบบทวิภาคีที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลางหลังนายทรัมป์พาสหรัฐถอนตัวจากทีพีพีว่า แบบพหุภาคีทำให้ทุกประเทศมีอำนาจต่อรอง เท่าเทียมกัน พึ่งพาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ขณะที่การเจรจาเอฟทีเอแบบทวิภาคีกับสหรัฐที่นายทรัมป์บอกว่าจะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งนั้น นายฮิรัตสึกะ มองว่าหากมีประเทศแรกยอมทำข้อตกลงกับสหรัฐด้วย จะเกิดโดมิโน เอฟเฟคท์ (domino effect) หรือผลกระทบเป็นทอด ๆ เพราะบรรดาผู้ส่งออกของประเทศอื่น ๆ ที่ยังไม่เจรจาทวิภาคีกับสหรัฐจะไปกดดันให้รัฐบาลตัวเองตกลงกับสหรัฐบ้าง และสุดท้าย สหรัฐก็จะได้ประโยชน์ประเทศเดียว โดยประเทศอื่นต้องยอมทำตามเงื่อนไขของสหรัฐ
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกทีพีพี เหลือเพียง 11 ประเทศจาก 12 ประเทศ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าบริหารประเทศในเดือนที่แล้ว เขาก็ลงนามคำสั่งถอนตัวออกจากการเจรจาทีพีพีภายในสัปดาห์แรกที่รับตำแหน่ง
ขณะที่ นายทากาชิ ฮัตโตริ ผู้อำนวยการ ด้านการเจรจาเอฟทีเอของสำนักนโยบายการค้า กระทรวงการค้า เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น บอกว่าแม้ไม่มีสหรัฐ ญี่ปุ่นก็ควรจะเดินหน้าทีพีพีต่อไป ถึงแม้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ บอกว่า ทีพีพีที่ปราศจากสหรัฐก็เหมือนไร้ความหมาย และย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องจับตาดูการหารือขณะออกรอบตีกอล์ฟในช่วงสุดสัปดาห์นี้ระหว่างนายอาเบะกับนายทรัมป์ที่สหรัฐว่าจะมีผลออกมาอย่างไร รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงในสัปดาห์นี้ว่า การออกรอบหารือระหว่างผู้นำสองประเทศครั้งนี้น่าจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับญี่ปุ่น และยืนยันว่ารัฐบาลจะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แม้มีหลายฝ่ายตั้ง ข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นอาจต้องเป็นฝ่าย “จำยอม” ต่อสหรัฐในการเจรจากับนายทรัมป์รอบนี้
ขณะที่ นายฮิคาริ อิชิโดะ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปิดเสรีภาคบริการจากมหาวิทยาลัยชิบะของญี่ปุ่นพูดถึงประโยชน์ในภาคบริการในไทย โดยยกตัวอย่างถึงการนวดแผนโบราณที่เขามองว่าไทยควรส่งออกการนวดแผนโบราณไปยังต่างแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการบริการด้านนี้และกระตุ้นการเติบโต
อย่างไรก็ตาม นายอิชิโดะกล่าวว่า เขาเข้าใจว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน เพราะหากส่งออกการนวดแผนโบราณมากเกินไป ก็อาจทำให้ในไทยเหลือบริการด้านนี้ น้อยลงแต่ก็ยังหวังจะเห็นภาคบริการในไทยไปเติบโตในต่างประเทศในอนาคต ด้านนายสตีเฟน หว่อง เช็ง หมิง รองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) สถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติของมาเลเซีย (ไอเอสไอเอส) แสดงความเห็นว่านายทรัมป์ขาดความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการ ทำเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งต่างกับการทำธุรกิจอย่างสิ้นเชิง และแนะนำให้สมาชิกอาเซียนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนที่มีตัวแปรจากยักษ์ใหญ่สหรัฐภายใต้การบริหารของนายทรัมป์
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ในชื่อ เจโทรเตือนรับมือนโยบายสหรัฐบีบทุกประเทศเจรจา’ทวิภาคี’