ปลดล็อก ประกันสังคม อุ้มแรงงานนอกระบบให้ได้สิทธิเท่าเทียม

ปี2017-02-23

ทีดีอาร์ไอ เสนอ ปลดล็อก ก.ม.ประกันสังคม อุ้มแรงงานนอกระบบให้ได้สิทธิเท่าเทียม อึ้งแผนอุ้มแรงงานต่างด้าวให้ได้สิทธิ สปส. คาดปี 60 ต้องจ่ายค่าสิทธิประโยชน์ 3 สัญชาติ กว่า 3 หมื่นล้านบาท ด้าน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เจาะฝึกอาชีพเด็ก ม.3-ม.6 ป้อนตลาดแรงงาน ด้านกรมจัดหางานปัดนำเข้าเวียดนาม ป้อนงานบริการ “โรงแรม-ท่องเที่ยว” แค่เจรจานำเข้าแรงงานประมง-ก่อสร้าง วอนอย่ามองโอ๋ต่างด้าวให้สิทธิหลายกรณี เพราะไทยยังจำเป็นต้องใช้งาน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอดีตนั้นเกิดการบริหารผิดพลาดเชิงนโยบาย เพราะตามปกติการนำจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สำรวจความต้องการแรงงานของตลาดว่าต้องการจำนวนเท่าไหร่

เช่น งานก่อสร้างอีก 2 ปีข้างหน้าต้องใช้แรงงานเท่าไหร่ แต่เวลาปฏิบัติกลับส่งแบบสอบถามไปให้กับผู้ประกอบการเป็นคนที่เขียนตัวเลขเองว่าต้องการเท่าไหร่ซึ่งเกิดปัญหาว่าผู้ประกอบการเขียนตัวเลขเกินจริง และเป็นช่องทางให้กลุ่มนายหน้าใช้ช่องทางโควตาเกินจำกัดเอาแรงงานเข้ามารวมแล้ว กระจายไปเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น ๆ และที่ผ่านมามีปัญหากลุ่มนายจ้างก็กดดันหาว่าหากไม่นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาจะกระทบภาคการผลิตกระทบเศรษฐกิจ แล้วกระทรวงแรงงานก็ยอม แต่ไม่ได้มองเลยว่ามีผลกระทบกับแรงงานไทยอย่างไรบ้าง อาชีพที่คนไทยเคยทำค่อย ๆ ถูกทดแทน จนต้องออกมาทำอาชีพอิสระต่าง ๆ บางคนรายได้ดีบางคนรายได้ไม่มาก แต่สิ่งที่สูญเสียคือการการจ้างงานในระบบหมดไปขาดการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวสูงขึ้นทุกปี ขณะที่คนไทยหันไปทำอาชีพอิสระ ทำงานนอกระบบกันมากขึ้นซึ่งจากการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560-2564 (ฉบับปรับปรุง) พบว่าประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน 38.8 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบถึง 21.4 ล้านคน ส่วนแรงงานในระบบมีเพียง 16.9 ล้านคน

ซึ่งปัญหาของแรงงานนอกระบบที่พบมากสุดคือเรื่องปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการทำงานและถ้าพูดถึงเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ แล้วแรงงานนอกระบบถูกจัดเป็นประชาชนชั้น 2 มาตลอด รัฐมักจะเน้นการดูแลคนที่มีนายจ้างเป็นหลัก ในอดีตอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ยึดถือมานานเกินไปนานจนทำให้แรงงานนอกระบบถูกละเลย แม้จะบอกว่ามีระบบการประกันตนเองตามมาตรา 39 มาตรา 40 แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการประกันตนเองได้และแม้ว่าเข้าได้ แต่สิทธิก็ไม่เท่าสิทธิมาตรา 33 ของคนในระบบ ซึ่งวันนี้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามารัฐเอาระบบหมดได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี

นายยงยุทธ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายอะไรเลยที่จะคุ้มครองคนทำงานนอกระบบไม่มีเข้าภาพ สิ่งที่กระทรวงแรงงานทำอยู่คือการออกแผนปฏิบัติการแรงงานนอกระบบ รวบรวมงานประจำที่จะทำ แต่ไม่ใช่การทำงานเชิงรุกที่จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้แรงงานนอกระบบได้รับการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะที่แรงงานต่างด้าวมีกฎหมายให้การคุ้มครอง และได้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 กรณีที่มีนายจ้างชัดเจนได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี เท่าคนไทยที่ทำงานในระบบที่มีนายจ้าง ปากก็ว่าจะดูแลคนไทยแต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการดูแลที่ดีกว่า ถ้าไม่มีระบบบัตรทองคนงานนอกระบบลำบากแน่ถ้าจะแก้ปัญหาต้องรื้อระบบประกันสังคม เลิกแบ่งแยกคนทำงานนอกระบบกับคนทำงานในระบบออกจากกันเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และว่าแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560-2564 ของกระทรวงแรงงาน หลักการคือยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลจากกระทรวงแรงงานพบว่ามีแผนทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมจากกองทุนประกันสังคมโดยเป็นแรงงานนำเข้าผ่านการทำเอ็มโอยู และพิสูจน์สัญชาติ 1,533,675 คน และคนที่อยู่ระหว่างการรอพิสูจน์สัญชาติและผู้ติดตาม 1,141,841 คน ซึ่งภายในปี 2560 จะมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จะได้รับสิทธิเข้าระบบประกันสังคม 2,675,516 คน ประมาณการจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ 32,280 ล้านบาท คิดเป็นสิทธิประโยชน์ 6 กรณี 1,680 ล้านบาท ค่าเหมาจ่ายบริการทางการแพทย์ 9,000 ล้านบาท และบำเหน็จชราภาพ 21,000 ล้านบาท


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เดลินิวส์ ในชื่อ ชงปลดล็อก ประกันสังคม แก้กฎหมายป้องแรงงาน