ผ่านมา 17 ปี ทำไมข้อเสนอต้านคอร์รัปชันยังทันสมัยอยู่: ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

อาจารย์เริ่มต้นศึกษาคอร์รัปชันในประเทศไทยจากตรงไหน

ชิ้นแรกเริ่มต้นจากงานวิจัยเรื่อง ยุทธศาสตร์การต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่วิเคราะห์ถึงปัญหาคอร์รัปชันในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้น เราใช้เฟรมเวิร์คของ Rose-Ackerman เขามองว่าเหตุของการคอร์รัปชันมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือ รัฐมีเงิน และ รัฐมีอำนาจ

คอร์รัปชันจึงมาจากเงินและอำนาจ เงิน หมายถึงการจัดสรรผลประโยชน์ เช่น การให้สัมปทาน การจัดสรรงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนอำนาจ รัฐ มีอำนาจรัฐ อำนาจมหาชน การคอร์รัปชันจึงมาจากการบังคับใช้หรือไม่บังคับใช้กฎหมาย ในทางให้คุณให้โทษกับใครคนใดคนหนึ่ง เช่น ไม่บังคับใช้กม.สิ่งแวดล้อมทำให้คนทิ้งน้ำเสียก็เป็นคอร์รัปชันแบบหนึ่ง

งานวิจัยชิ้นนั้น จึงชูประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการเลือกบังคับไม่บังคับใช้กฎหมาย ผลการศึกษาครั้งนั้น จริงๆ มีหลายข้อ แต่ข้อเสนอที่น่าสนใจ 2 ประการที่ยังทันสมัยอยู่มากๆ คือ 1. การจัดการคอร์รัปชัน ควรเป็นแบบล่างขึ้นบน คือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 2. ใช้กลไกตลาดแทนดุลยพินิจ เพื่อป้องกันการจัดสรรทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์

ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ

ผ่านมากว่า 17 ปีแล้ว ทำไมข้อเสนอถึงยังทันสมัยอยู่

พูดถึงในปัจจุบัน ข้อเสนอตอนนี้ ในเรื่องล่างสู่บน ยังเป็นหัวใจสำคัญอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ยิ่งทำให้รู้ว่าการบริหารแบบบนลงล่างไม่เวิร์คแน่นอน ตอนนั้นแม้ว่าจะเขียนกว้างๆ แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่ และยิ่งต้องเข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำไป

ช่วงนั้นปี 2543 เราเพิ่งมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เรายังไม่เห็นผลงานของเขา เราตั้ง ปปช. สตง. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ยังไม่เป็นอิสระ เรามี กกต. เรามีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราตั้งองค์กรเยอะ ออกกฎกติกาเยอะ เพื่อตรวจสอบนักการเมือง ต้องเปิดเผยทรัพย์สิน และอะไรเต็มไปหมด แต่ถึงวันนี้ 10 กว่าปี คงจะจริงที่มันแก้ปัญหาได้ไม่หมด เวลาบอกว่าจะแก้ปัญหาจากบนลงล่างจึงไม่ได้ผล ที่เขียนไปตอนนั้นคงยังจริงอยู่

ส่วนข้อ 2 เราบอกว่า ถ้าทุจริตเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ต้องใช้กลไกตลาดแทนดุลยพินิจ และทีดีอาร์ไอก็ยืนยันข้อเสนอนี้มาตลอด คือ ลดดุลยพินิจ และใช้กลไกตลาดแทน แต่วันนี้ ปัญหานี้ก็วนกลับมาเหมือนเดิม อย่างการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่บอกว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ต้องใช้การประมูลก็ได้ และให้ใช้ Beauty Contest ซึ่งเราไม่เห็นด้วย เพราะมันเอื้อให้ทุจริต


ข้อเสนอจะแก้คอร์รัปชันจากล่างสู่บน 17 ปีหน้าตาเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

เดิมคนที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็จะมีแต่รัฐ นักวิชาการบางส่วนที่ทำวิจัย เขียนงาน แต่ไม่มีใครออกมาต่อสู้ ภาคประชาชนที่เรานึกถึงก็เป็น NGO กลุ่มเล็กๆ ตอนนี้ความคืบหน้าที่ขยับไปมากแล้ว คือ ภาคเอกชนสนใจเรื่องนี้มาก การทำงานขับเคลื่อนของภาคเอกชน อย่าง ACT องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี

คำว่าภาคประชาชนในวันนี้จึงขยายวงกว้างกว่า NGO ไปยังภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และสื่อ และการขับเคลื่อนเรื่องคอร์รัปชันจากล่างสู่บน จะลุยเดี่ยวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเป็น Network เครือข่ายและทำงานร่วมกัน นักวิชาการก็ทำงานเป็นฝ่ายบุ๋น NGO และภาคธุรกิจจะเป็นฝ่ายบู๊ก็ได้ สื่อก็ช่วยสร้างความตระหนักรู้ ให้สังคมยกระดับ Norm บรรทัดฐานทางจริยธรรมให้ดีขึ้น

17 ปีที่ผ่านมา Norm ในเรื่องคอร์รัปชันเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ที่ผ่านมา Norm ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จาก 17 ปีที่ผ่านมา เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรามี Norm หลายเรื่องที่เกิดขึ้นจากที่ไม่เคยมี อย่างเรื่อง Conflict of Interest ก็เป็น Norm เรื่องหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา อย่างกรณีที่ดินรัชดา เราก็พัฒนาความเข้าใจเรื่อง Conflict of Interest เยอะมาก หรือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้น เราก็เห็นความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีก็ช่วยให้คนพร้อมที่จะท้าทายรัฐมากขึ้น

การตั้งถามว่า ทำไมอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อก่อนเราอาจจะยอมรับชะตากรรมว่าข้าราชการก็เป็นแบบนี้แหละ แต่ตอนนี้ก็มีแรงกดดันว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เรามีสิทธิ์ได้รับรู้ แม้ว่าตอนนี้รัฐก็ยังไม่ปล่อยให้เปิดเผยข้อมูลเต็มที่ แต่ Norm มันเปลี่ยน ซึ่งมันก็อยู่ที่ ว่าเราจะสร้าง Norm ให้เด็กรุ่นใหม่รับรู้และเข้าใจเรื่องคอร์รัปชันอย่างไร ก็กลับมาที่ทุกๆ ภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้เกิดเป็นมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา

แสดงว่าความท้าทายสำคัญ คือ การสร้างคนรุ่นใหม่ให้สู้กับปัญหาคอร์รัปชัน

จริงๆ ก็มีสัญญาณที่ดีนะ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไปดูทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชันของคนรุ่นใหม่อายุ 15-20 พบว่า 90% ไม่เห็นด้วยว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง แต่คนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Y และ Gen Z ต่างก็เกิดมาในยุคไอที โดยธรรมชาติก็จะต้องการเห็นผลเร็ว มีไอเดียดี มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าหากทำอะไรไปนานๆ แล้วไม่ดี ก็จะเลิก เพราะไม่เห็นผล แต่การทำงานเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จะต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเครื่องมือที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนุกและท้าทายให้เข้ามาทำงานและเห็นผลนำไปสู่การกำหนดนโยบายได้เร็ว

กรณีที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จมาก คือ ที่ฮ่องกง เขาให้น้ำหนักด้านการป้องปรามเยอะ 80% คือ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ออกแบบวิธีการสื่อสารของคนแต่ละรุ่น ทำทั้งหนังและการ์ตูนออกทีวี แล้วเด็กก็ติดกันงอมแงม คือเขาไม่ได้ทำแบบ Hard Sale แบบจงเป็นคนดี ส่วนของเราตรงกันข้าม ทำแต่เรื่องปราบปรามเกือบหมด ป้องปรามมีน้อยมาก ที่จะป้องปรามแบบท่องค่านิยม 12 ประการมันก็ไม่เวิร์ค คนก็ขี้เกียจดู ดูแล้วรู้สึกว่านี่คือ Propaganda มากกว่า ซึ่งนี่คือปัญหาของหน่วยงานราชการไทยคือเราทำกันแบบเดิมๆ ไม่เข้าถึงได้ในระดับนั้น

กรณีฮ่องกงสำเร็จเพราะอะไร

ความสำเร็จของฮ่องกง องค์กรอย่าง ICAC (independent commission against corruption) แม้เป็นหน่วยงานราชการ แต่ว่าคนที่ถูกคัดเข้ามาทำงาน ส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 30 ปี จากที่เคยไปพูดคุย ทำให้รู้ว่าวิธีการคัดเลือกคนขององค์กรใช้คนรุ่นใหม่ทั้งหมด สร้างความน่าเชื่อให้กับองค์กร มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้สนใจมาทำงานด้วย การสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงาน เขามองหาคนที่มี Passion เป็นหลัก ว่ามี Passion เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือไม่ ซึ่งผลคือคนที่เรียนจบใหม่ มี Passion ในเรื่องนี้เยอะ มีความสนใจในงานจริงๆ


สื่อสารให้คนรุ่นใหม่มี
Passion ในไทยเป็นไปได้หรือไม่

การเรียนการสอนแบบเดิมๆ มันน่าเบื่อไปแล้ว Passion มันไม่เกิด ตอนนี้เลยมีช่องว่างอยู่เยอะ ว่าเราจะสื่อสารให้กับคนรุ่นใหม่อย่างไร อย่างที่จัดประกวดสร้างบอร์ดเกม ก็เป็นรูปแบบที่ดี แต่พอเราจัดแล้ว ก็ต้องคิดต่อว่า ถ้าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก และมี Potential ในเรื่องนี้ เราจะให้เขาทำอะไรต่อ เพราะเกมก็เป็น Inspiration แต่จะเติมเต็มยังไง ถ้าเขาอยากจะทำให้ Make a Change ได้ เราจะสนับสนุนให้เขาทำยังไงต่อ