นโยบายช่วยเหลือคนจนของไทยช่วงที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
นโยบายความยากจน ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพทางการเมือง ช่วงหลังมีความพยายามหาเสียงด้วยนโยบายที่อ้างว่าแก้ปัญหาความยากจน เพราะเมื่อพูดอย่างนั้น มักจะได้คะแนนเสียง แต่ปัญหาก็คือ นโยบายที่ผ่านมามีปัญหาหลากหลายประการ
เรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องการตามหาคนจนให้เจอ ซึ่งมันยาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบนอกระบบ หรือ Informal Sector ค่อนข้างใหญ่ คนที่ทำงานในภาค Informal Sector มักไม่มีนายจ้าง เพราะฉะนั้น การตรวจสอบว่าเขามีรายได้เท่าไหร่ก็ทำได้ยาก
นอกจากนี้ เรามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย มีคนค้าขายเป็นหาบเร่แผงลอยเยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่แน่นอน เราจะเห็นว่าเขาจนหรือไม่จนมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปถามเขาวันไหน หรือถามเขาช่วงไหน ตรงนี้ก็จึงเป็นความยาก นโยบายเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนในเมื่อไม่รู้ว่าคนจนคือใคร อยู่ที่ไหน ก็จึงแก้ไม่สำเร็จมาตลอด
เราไม่รู้ว่าคนจนอยู่ไหน แล้วเราเอาข้อมูลอะไรไปแก้ปัญหา
ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยใช้ข้อมูล อย่างเช่น ข้อมูลจากการสำรวจที่สำนักงานสถิติแห่งชาติทำ แต่ข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นข้อมูลที่จำกัด และยากที่จะระบุถึงตัวคนจนได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลการสำรวจ ทำได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
ข้อมูลอื่นที่มีการใช้กัน อย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย ก็จะมีข้อมูล จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) ซึ่งเชื่อว่า สามารถช่วยระบุตัวคนจนได้ แต่พอมีการนำเอาไปใช้จริง ก็พบว่ามีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ไม่ได้รายงานตัวเลขรายได้ของตัวเองที่แท้จริง และก็ไม่มีวิธีการที่จะไปตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่จริง
อีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้กันมาอย่างน้อย 2-3 ครั้งแล้ว คือการจดทะเบียนคนจน คือให้มารายงานตัวว่าฉันเป็นคนจนหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาก็เกิดขึ้นทันที จะมีคนที่รายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่เจอมากคือ จริงๆ แล้วรายได้ไม่ได้ต่ำ แต่ก็มารายงานว่าตัวเองเป็คนจน เพราะคาดหวังว่าจะได้ผลประโยชน์จากภาครัฐในเรื่องต่างๆ ซึ่งการจดทะเบียนคนจน มีการพิสูจน์มาแล้วว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณว่าคนที่เข้ามา ก็มีคนไม่จนเยอะ ที่ทำล่าสุดก็คาดว่าจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน ถึงแม้จะมีความพยายามในการคัดกรองข้อมูลมากขึ้น เพราะฉะนั้น หากเราจะใช้นโยบายความยากจนต่อไปคงต้องใช้ข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ
เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่
ในปัจจุบันพบว่ามีข้อมูลแบบ Big Data หลายชุดที่ช่วยในการตามตัวคนจนได้ง่ายขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นระบุตัวคนจนได้ แต่อย่างน้อยไปในระดับพื้นที่ได้ อย่างเช่นว่า พื้นที่ไหน เป็นพื้นที่ที่มีความยากจนมาก เช่น การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
สิ่งที่ควรจะทำคือ การบูรณาการข้อมูล ซึ่งอาจจะเริ่มจากการหาเจ้าภาพ และเจ้าภาพที่ว่านี้ ควรสั่งการมาจากระดับบนเลย เช่น จากคณะกรรมการสวัสดิการแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจที่จะสั่งรวบรวมข้อมูลได้ ข้อมูลที่ว่าก็จะกระจายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ถ้าหากคณะกรรมการสวัสดิการแห่งชาติสั่งการให้รวมข้อมูลขึ้นมา ผสมกับการใช้ Big Data โดยขอความร่วมมือจากสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่จะเป็นคนที่รู้เรื่องการรวมข้อมูลอะไรต่างๆ รู้เรื่องทางด้านเทคนิค ถ้าร่วมมือกันก็จะอยู่ในวิสัยที่สามารถจะเอาข้อมูลมารวบรวมกันได้