โซลาร์รูฟท็อป: สัญญาณเริ่มต้นพลิกโฉมธุรกิจผลิตไฟฟ้า

วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวสำคัญสั่นสะเทือนวงการ พลังงานทดแทนและผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำการศึกษา เรื่องอัตราค่าสำรองไฟฟ้า (backup fee หรือ standby charge) ที่จะเก็บจากผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป

ทำไม กฟผ.ต้องเตรียมเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (backup fee หรือ standby charge)

ภารกิจหลักของ กฟผ. คือการเตรียมความพร้อมให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีไฟฟ้า เพียงพอต่อความต้องการตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงต้องวางแผนจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าในช่วงที่สูงที่สุดในอนาคต ซึ่งต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้านี้ ปกติจะถูกชดเชยให้กับ กฟผ. ผ่านทางอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่พวกเราจ่ายอยู่

ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้น ภาระการจัดหาไฟฟ้าของ กฟผ. อาจลดลงไม่มากนัก เพราะอย่างไรก็ต้อง มีโรงไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าตอนกลางคืนที่โซลาร์รูฟท็อป ไม่ทำงาน ในขณะที่ยอดซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ที่จะมาช่วยรับภาระการจัดหาและ สำรองไฟฟ้าจะลดลงเนื่องจากลูกค้าบางส่วนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการเก็บค่าสำรองไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนค่าเบี้ยประกันที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ต้องจ่ายให้กับกฟผ. เพื่อเป็น หลักประกันว่าตนเองจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอในยามที่โซลาร์รูฟท็อปไม่ทำงาน

นับเป็นการดี ที่ กฟผ. เล็งเห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี พลังงานทดแทนที่จะมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า แม้การเก็บ ค่าสำรองไฟฟ้าจะสมเหตุสมผลในมุมมองของผู้ดูแลระบบไฟฟ้า แต่การ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ จากมุมมองที่รอบด้านและการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอ มุมมองที่กว้างขึ้น ผ่านการหยิบยกคำถามที่เกี่ยวข้องสามประเด็น

ถึงเวลาเก็บค่าสำรองไฟฟ้าแล้วหรือยัง?

ในปัจจุบันการติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จากการประมาณอย่าง ไม่เป็นทางการ คือ ไม่ถึง 0.1% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งประเทศ อีกทั้ง ยังเติบโตค่อนข้างช้า เนื่องจากผู้ลงทุนไม่ได้รับการอุดหนุนใด ๆ จากรัฐบาล ประกอบกับการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นในระยะ 3-5 ปีนี้ การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจากโซลาร์รูฟท็อปไม่น่าจะกระทบยอดใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากถึงกับที่การไฟฟ้าต้องส่งผ่านภาระไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งแปลว่าการไฟฟ้าฯ และผู้กำหนดนโยบาย ยังพอมีเวลาเตรียมตัวในการรับมือ

มีทางออกอื่นหรือไม่?

ในอนาคตเมื่อมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เอง อย่างแพร่หลาย ทำให้ความต้องการพึ่งพาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักลดลง เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้กำหนดนโยบายจะนำวิธีการบริหารจัดการที่ดีมาใช้เพื่อ ลดความจำเป็นในการลงทุนในโรงไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนการลงทุนใน เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้า (energy storage) เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้เกิน ในตอนกลางวันไว้สำหรับใช้ในตอนกลางคืน หรือการคิดอัตราค่าไฟฟ้าให้ สะท้อนต้นทุนการผลิตในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

คิดรอบด้านแล้วหรือยัง?

การผลิตพลังงานเพื่อใช้เองจากเซลล์แสงอาทิตย์นอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ติดตั้งแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศ โดยรวมเพราะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลดก๊าซเรือนกระจก ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบายจึงควรคำนึงถึง ประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวมตรงนี้ควบคู่ไปกับต้นทุนในการสำรองไฟฟ้าด้วย

โดยตัวอย่างจากประเทศสหรัฐ การเก็บค่าอัตราสำรองไฟฟ้าจากผู้ผลิต ไฟฟ้าเพื่อใช้เองส่วนใหญ่จะเริ่มต้นเมื่อระดับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเริ่มสูงแล้วเท่านั้น และการคิดค่าอัตราสำรองไฟฟ้านี้ จะใช้ควบคู่ไปกับ มาตรการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ซึ่งอนุญาตให้ผู้ติดตั้งสามารถเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้เป็นเครดิตสำหรับหักลบค่าไฟฟ้าในเดือนต่อไปได้ด้วย

ในภาวการณ์ปัจจุบันที่ตลาดโซลาร์รูฟท็อปยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีความอ่อนไหวต่อนโยบายค่อนข้างสูง การส่งสัญญาณทางลบ ก่อนที่จะถึงเวลาอันควร อาจชะลอการเติบโตของตลาดและ การยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางพลังงาน เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และความสามารถในการ แข่งขันของอุตสาหกรรมได้


หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 29 มิถุนายน 2560 ใน กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: โซลาร์รูฟท็อป: สัญญาณเริ่มต้นพลิกโฉมธุรกิจผลิตไฟฟ้า