‘พันธบัตรป่าไม้’ กลไกการคลังฟื้นป่าเศรษฐกิจ

ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง จากพ.ศ. 2504 มีพื้นที่ป่า 171.0 ล้านไร่ คิดเป็น 53.3% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ใน พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.6%

ในขณะที่ ประเทศไทยมีนโยบายป่าไม้แห่งชาติกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ 40% ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ 25% และป่าเพื่อเศรษฐกิจ 15% ดังนั้นประเทศไทยต้องพื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้กลับคืนมาอีก 7% หรือคิดเป็นพื้นที่มากถึง 26 ล้านไร่ จึงจะเป็นไปตามเป้าหมาย

ประชากรขยายตัว และปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือปัจจัยสำคัญทำให้พื้นที่ป่าหายไป

การเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ก่อให้เกิดความต้องการใช้ที่ดิน เพื่อการอยู่อาศัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น นำไปสู่การบุกรุกทำลายป่ามาอย่างต่อเนื่อง

มาตรการที่ดีควรส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถดำเนินการให้มีพื้นที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ด้วยการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือต้องสูญเสียพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจึงกลายเป็นอีกภารกิจสำคัญของประเทศ

แนวทางการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจในต่างประเทศที่น่าสนใจซึ่งเผชิญปัญหาคล้ายกับประเทศไทย คือ ประเทศคอสตาริก้า ด้วยพื้นที่ป่าของ คอสตาริก้าเคยลดลงจาก 58% มาเหลือเพียง 21% ใน พ.ศ. 2529 ด้วยสาเหตุสำคัญคือ การบุกรุกป่าเพื่อตัดไม้ขาย และการทำการเกษตรที่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการเลี้ยงวัวจำนวนมาก

ภาครัฐของประเทศคอสตาริก้าแก้ไขปัญหานี้ โดยมีนโยบายส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ใน พ.ศ. 2555 หรือในช่วง 20 ปี คอสตาริก้ามีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 53% ของพื้นที่ทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อาจอาศัยกลไกลักษณะคล้ายกับคอสตาริก้า ด้วยกลไกจูงใจให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ร่วมกันผ่านกลไกทางการคลัง เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน นั่นคือ “พันธบัตรป่าไม้”

กลไกพันธบัตรป่าไม้สร้างสมดุลเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์ป่า

พันธบัตรป่าไม้เป็นกลไกทางการคลังรูปแบบใหม่ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและระบบนิเวศป่าไม้ อย่างยั่งยืน ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน เงินทุน และ ความต้องการใช้ไม้ เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากการปลูกป่าเศรษฐกิจเป็นการดำเนินธุรกิจที่มี ผลกำไรจึงทำให้การปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ในช่วงการดำเนินงานของการปลูกป่าเศรษฐกิจ กลไกพันธบัตรป่าไม้จะมีการจัดเก็บรายได้จากผู้ที่ได้ประโยชน์จากป่าเศรษฐกิจเพื่อนำรายได้ มาจ่ายให้กับผู้ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่า และนำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนที่มาจากหลากหลายแหล่ง เช่น รายได้จากการขายไม้เศรษฐกิจแบบผสมผสาน รายได้ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำสำหรับผู้ประกอบการ รายใหญ่ รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตหรือรายได้จากป่าไม้ที่ทำหน้าที่ เก็บกักคาร์บอน และรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น
นอกจากนี้ กลไกพันธบัตรป่าไม้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม คือประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการลงทุน ในพันธบัตร เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ปลูกป่าและผู้ดูแลป่าไม้ และการมีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลป่าไม้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

รูปแบบการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้ที่มีความเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสาน การจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมเงินทุน เงินสมทบจากภาครัฐ และต่างประเทศ และเงินบริจาค การดำเนินการโดยภาคเอกชนในการสนับสนุนเงินทุนให้บริษัทเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ ในการบริหารจัดการการปลูกป่าเศรษฐกิจร่วมกับชุมชนในพื้นที่ การจัดการแบบชุมชนป่าไม้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน อีกทั้ง ภาครัฐต้อง มีการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการดำเนินพันธบัตรป่าไม้ในรูปแบบป่าเศรษฐกิจ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2560 ใน กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ‘พันธบัตรป่าไม้’ กลไกการคลังฟื้นป่าเศรษฐกิจ