จากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ใน พ.ศ. 2556 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีอัตราการตายเท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก จึงกล่าวได้ว่า คนไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล เพราะการเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ อุบัติเหตุยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น
ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตที่บูรณาการจากข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แสดงให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 22,281 คนต่อปี ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งอ้างอิงจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนเฉลี่ย 107,542 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้สามารถนำมาประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ได้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) (2560)[1] ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจรจากพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ด้วยวิธีการประเมินความเต็มใจที่จะจ่ายในการลดอุบัติเหตุทางถนนของคนในพื้นที่ พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย ในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย
ซึ่งผู้วิจัยได้อ้างอิงมูลค่าดังกล่าวในการประเมินความสูญเสียของทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่ที่ทำการสำรวจเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงสามารถเป็นพื้นที่ตัวแทนของทั้งประเทศได้ จากข้อมูลดังกล่าว คณะผู้วิจัยพบว่า ในช่วงปี 2554-2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
แม้ว่าอุบัติเหตุทางถนนก่อเกิดความสูญเสียที่มีมูลค่ามหาศาล คนไทยจำนวนมากก็ยังขาดความตระหนักรู้ถึงภัยจากอุบัติเหตุทางถนนต่อตนเองและสังคมโดยรวม
การศึกษาของทีดีอาร์ไอในข้างต้นพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 27 ไม่ตระหนักว่าปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาสำคัญ ในขณะที่อีกร้อยละ 38 ให้ความสำคัญกับปัญหาความปลอดภัยทางถนนเพียงปานกลางเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 2 ยังไม่ยินดีที่จะจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในสถานการณ์สมมติ
ความไม่ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุจราจร ทำให้พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุดังกล่าวมีความรุนแรง
หนทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ในด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชน จากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและความปลอดภัยทางถนนของ Dr. Sam Peltzman[2] ผู้วิจัยได้มีข้อสรุปว่า คนเราอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเองเมื่อรู้สึกปลอดภัย ดังนั้น หากผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักว่าตนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากเท่าใด ก็จะยิ่งระมัดระวังพฤติกรรมในการขับขี่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ทำให้เกิดความสูญเสียที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี
ในขณะที่ประชาชนยังขาดความตระหนักรู้ถึงปัญหาความปลอดภัยทางถนน ส่งผลให้คนจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น การรณรงค์ด้านปัญหาความปลอดภัยทางถนนจึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกและระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งจะช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่ของคนอีกด้วย