tdri logo
tdri logo
21 กันยายน 2017
Read in Minutes

Views

ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติต่อการศึกษาไทย (1)

ณิชา พิทยาพงศกร

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงขนานใหญ่และต้องได้รับการปฏิรูป ผลการทดสอบระดับชาติและระดับนานาชาติ ก็เป็นเหมือนสิ่งที่คอยย้ำเตือนว่า เด็กไทยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในห้องเรียน หากมองลึกลงไปอีกขั้น จะเจอว่าปัญหา ด้านการเรียนกำลังกลายเป็นปัญหาชีวิตของพวกเขา

งานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” โดยมูลนิธิเพื่อคนไทย พบว่า ระบบการศึกษาและการปลูกฝังของผู้ปกครองเรื่องการเลือกอาชีพ หรือเรียกได้ว่าทัศนคติดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญกดดันให้ เยาวชนไทย 78% เกิดความเครียด และงานวิจัย ชิ้นเดียวกันพบอีกว่าเยาวชนกว่า 1 ใน 3 ประสบกับปัญหาความขัดแย้งในตัวเอง มีความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้าและหมดหวังในชีวิต

ดังนั้นก่อนจะคิดแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยการปฏิรูปขนานใหญ่ ผู้เขียนขอชวนมองให้เห็นสิ่งที่ทำให้การศึกษาไทยมีปัญหาตั้งแต่ระดับมุมมองและทัศนคติ ทั้งจาก พ่อแม่ ครูอาจารย์ไปจนถึงผู้กำหนดนโยบาย มาขยายทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่ทางแก้ไขกันอย่างถูกจุด

จากผลวิจัยที่บ่งชี้ว่า “พ่อแม่” มีส่วนเป็นต้นเหตุสร้างความเครียดให้ลูก สาเหตุเพราะ พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นเหยื่อของความกดดันทางเศรษฐกิจ เพราะผู้ปกครองไม่ว่าจะมาจากฐานะอย่างไร ล้วนต้องการสนับสนุนลูกหลานให้ได้เรียน แม้ว่าจะต้องกู้ยืมเงินก็ตาม

จากรายงาน “โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่า 2 ใน 3 ของครอบครัวไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับงานวิจัย ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่า กลุ่มครอบครัวที่มีฐานะยากจนถึง 50% ต้องกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาแต่ก่อนจะไปถึงระดับอุดมศึกษา 60% ของนักเรียนชั้น ม.ปลายก็ลงเรียน กวดวิชา ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ รวมค่าเดินทางและค่าที่พัก คิดเป็น 1.3 เท่า ของค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนตามปกติอีกด้วย

ครอบครัวไทยทุ่มเทให้กับการเรียนมากถึงเพียงนี้ แต่เมื่อนักเรียนจบการศึกษาก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกลับพบว่า ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่เหล่านี้ให้พร้อมสำหรับตลาดงาน เกิดความลักลั่นทั้งในเชิงปริมาณ เช่น ขาดแคลนคนจบอาชีวะ แต่คนจบปริญญาตรีล้นตลาด และในเชิงคุณภาพ เป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องลงทุนในการฝึกอบรมให้กับพนักงานใหม่ บริษัทที่ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องประสบภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ถึงแม้ ผู้ประกอบการจะมีไอเดียที่ชัดเจนว่าต้องการทักษะและความรู้ใดจากเด็กจบใหม่ ก็แทบไม่มีช่องทางให้ร่วมออกแบบระบบการศึกษาได้เลย

เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับสภาพการศึกษา ที่ย่ำแย่ เป้าหมายแรกๆ ที่สังคมมักชี้นิ้วใส่ คือ กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงข้าราชการ ทว่ากระทรวงเองก็มีความท้าทายที่ต้องจัดการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่เกิดขึ้น บ่อยครั้ง ใน 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 21 คน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการ ต่างเพื่อการปฏิรูป ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมาถึง 4 ชุด ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่สามารถดำเนินการและติดตามนโยบายใดๆ ในระยะยาว

แม้ภาคนโยบายจะมีการผลักดันแนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษา แต่ก็เป็น เรื่องยากที่จะทำให้การนำไปปฏิบัติ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตั้งต้นในระดับโรงเรียนและห้องเรียน เช่น นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ในห้องเรียน แต่กลับกลายเป็นคาบพิเศษเพื่อติวสอบ O-NET เนื่องจากโรงเรียนได้รับแรงกดดันเรื่องผลสัมฤทธิ์ หรือ นโยบายคูปองอบรมครู ที่ต้องการให้ครูได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแต่เพราะสถานที่ฝึกอบรมอยู่ต่างพื้นที่ ทำให้ครูต้องเดินทางไปอบรม ส่งผลให้ เวลาสอนในห้องเรียนลดลง

ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องเผชิญกับปัญหาภาระงานล้นมือจากโครงการต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางและ เจอความกดดันของการประเมินจากภายนอก จากการสำรวจครูในโครงการครูสอนดีของ สสค.

ในปี 2557 พบว่า ครูกว่า 90% ต้องการอิสระในการทำงานและการบริหารจัดการมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และ งานที่กินเวลาของครูมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ การเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมิน เช่น จาก สมศ. การประกวดแข่งขันระหว่างโรงเรียนและการเข้าร่วมฝึกอบรม จึงเป็นไปได้ยากมากที่ครูจะใช้เวลาอย่างเต็มที่เพื่อออกแบบการสอนและติดตามดูแลนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดการศึกษา

จากปัญหาที่กล่าวมา เห็นได้ว่า แท้จริงทุกฝ่ายต่างมีความพยายามที่จะมอบการศึกษาที่ดีให้เด็กไทย แต่เพราะต่างฝ่ายต่าง มีแรงกดดัน รวมทั้งทัศนคติและมุมมองของ “การศึกษาที่ดี” แตกต่างกัน แนวทาง ที่เลือกใช้ก็ไปคนละทิศคนละทาง ผลลัพธ์จึงยังห่างไกลจากสิ่งที่ควรเป็นเช่นนี้แล้วเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ได้อย่างไร?

ผู้เขียนขอให้คำตอบในบทความตอนหน้า และจะวิเคราะห์ว่าอะไรอยู่เบื้องหลัง ทัศนคติและมุมมองเหล่านั้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ในศตวรรษที่ 21


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2560 ใน กรุงเทพธุรกิจ วาระทีดีอาร์ไอ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด