TDRI ร่วม BOI เจาะเทรนด์ เห็นโอกาสและความเสี่ยง การลงทุนใน 6 ชาติอาเซียน

“โลกยุคโลกาภิวัตน์” เป็นยุคสมัยของการพึ่งพาอาศัยกันการค้าการลงทุนคือหนึ่งในกุญแจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มการลงทุนระหว่างอาเซียนที่มีโอกาสให้เห็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “ความเสี่ยง” ก็นับว่ายังสูงเช่นกัน แต่อย่างน้อย ๆ นักธุรกิจที่ดีควรยึดนิยามข้อนี้ว่า “ความเสี่ยงสูงสุดคือ การไม่คิดออกไปลงทุนเลย”

ในงาน “Thailand Overseas Investment Forum 2017” โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ระบุว่า การลงทุนในอาเซียนมีโอกาสมาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูง สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแตกต่างกัน แต่สินค้าไทยในสายตาต่างประเทศยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค
โดยครั้งนี้ได้ศึกษา 6 ประเทศอาเซียนที่ได้รับความสนใจในแวดวงนักธุรกิจทั่วโลก

 

สำหรับ “อินโดนีเซีย” ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนควรมองตลาดในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออก ขณะที่เดิมอินโดนีเซียได้ชื่อว่ามีข้อกฎหมายกีดกันการค้าสูงอันดับต้น ๆ ของอาเซียน แต่ปัจจุบันข้อกฎหมายถูกยกเลิกไปบ้าง เช่น การยกเลิกสัดส่วนแรงงานต่างชาติต่อแรงงานท้องถิ่นเดิมที่ 1 ต่อ 10 และมีการกำหนดสูตรค่าจ้างขั้นต่ำรายปี โดยจะเริ่มบังคับใช้ปีหน้า

กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะผู้ประกอบการอินโดนีเซียยังผลิตได้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน ได้แก่ ลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคล 30% ใน 6 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบ 2 ปี ข้อควรระวังคือ ต้นทุนโลจิสติกส์สูงมากโดยเฉพาะการขนส่งข้ามเกาะ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงสุดใน 6 ประเทศ และการเลิกจ้างงานต้องเสียค่าชดเชยสูง เป็นต้น

“เวียดนาม” มีความได้เปรียบจากข้อตกลงการค้า FTA เวียดนาม-อียู ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลตามข้อตกลง 100% ไตรมาส 2 ปีหน้า โดยจะมีการลดภาษีรายการสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามได้ประโยชน์จากข้อตกลงไปด้วย รัฐบาลได้ยกเว้นใบอนุญาตทำงาน ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานในเวียดนามน้อยกว่า 30 วัน/ครั้ง และวันทำงานรวมน้อยกว่า 90 วัน/ปี

ข้อแนะนำคือ ผู้ประกอบการไทยควรเป็นเจ้าของธุรกิจ 100% ไม่ควรหุ้นกับหุ้นส่วนท้องถิ่น เนื่องจากคอร์รัปชันสูง ส่วน “ต้นทุนแฝง” ที่ต้องคำนึง ได้แก่ คนงานหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 18-20 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 10-15% ของแรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยกระทรวงแรงงานระบุว่า แรงงานที่ตั้งครรภ์ลาคลอดได้ 6 เดือน และต้องย้ายไป ทำงานเบาหรือลดการทำงานลง 1 ชั่วโมง (สำหรับตั้งครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป)

“เมียนมา” แม้จะมีความไม่ชัดเจนของนโยบายแต่ปัจจุบันมีแผนการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 7 เขตใหม่ เพิ่มโอกาสธุรกิจเทรดดิ้งและค้าปลีกเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 35% ผ่อนปรนให้ธุรกิจต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ไม่ต้องขออนุญาตลงทุน พร้อมปรับสิทธิลดภาษีนิติบุคคล 3-7 ปี

นอกจากนี้ สินค้า 5 ประเภทที่รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติทำการค้าโดยไม่มีข้อจำกัด ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพืช ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การแพทย์ และวัสดุก่อสร้าง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการต่างกับเวียดนามตรงที่ “ต้องมีพันธมิตรทางการค้า” และเข้าใจในสถานการณ์ของค่าเช่าที่ดิน โดยเฉพาะในย่างกุ้ง เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติจะเช่าที่ดินได้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น หากไม่ถูกปรับค่าเช่าเพิ่มก็จะถูกประท้วงเวนคืนที่ดิน เช่นกรณีบริษัท บาซินี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ แชร์ประสบการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนค่าเช่าที่ดินในย่างกุ้งไร่ละ 1,000 ดอลลาร์/เดือน ปัจจุบันปรับเพิ่มเป็น 16,000 ดอลลาร์/เดือน

“ฟิลิปปินส์” เสมือนแบ่งเป็น 3 ประเทศ (เกาะลูซอน, เกาะวิซายัส, เกาะมินดาเนา) ดังนั้นหากสนใจจะขายสินค้าในเกาะใดเกาะหนึ่ง ควรตั้งโรงงานในเกาะนั้นเลย เนื่องจากค่าโลจิสติกส์สูงกว่าขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปฟิลิปปินส์ แม้รายได้หลักของประเทศมาจากธุรกิจ เอาต์ซอร์ซิ่ง แต่โลกที่เริ่มถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนทางอื่นทดแทน ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่มี “เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านท่องเที่ยว” นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 6 ปี

“สปป.ลาว” มีความโดดเด่นในธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 15 ปี หากลงทุนที่ทุรกันดาร และ 7 ปี ในพื้นที่ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรร่วมทุนกับคนท้องถิ่น เนื่องจากอิทธิพลนักธุรกิจท้องถิ่นยังมีสูง

“กัมพูชา” การลงทุนการผลิตควรตั้งโรงงานที่ปอยเปต เกาะกง พนมเปญ หรือสีหนุวิลล์ เนื่องจากการเข้าถึงไฟฟ้ามีมากกว่าพื้นที่อื่น จุดเด่นคือ รัฐบาลเปิดเสรีให้นักธุรกิจต่างชาติมากที่สุด ไม่มีกิจการที่ห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุน แต่ยังจำกัดการถือครองที่ดิน ถือว่า เอื้อสำหรับการเป็นฐานผลิตเพื่อการ ส่งออก

แต่ข้อควรระวังคือ ค่าจ้างขั้นต่ำปรับ ขึ้นทุกปี และการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทั้งเป็นประเทศที่มีการทุจริตมากสุดในอาเซียนด้วย


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 9 สิงหาคม 2560 โดย ประชาชาติธุรกิจ ในชื่อ  6 ชาติอาเซียน แข่งดึงดูดนักลงทุน