tdri logo
tdri logo
5 ตุลาคม 2017
Read in Minutes

Views

ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติ ต่อการศึกษาไทย (จบ)

ณิชา พิทยาพงศกร

ในบทความ ปรับฐานคิด เปลี่ยนทัศนคติต่อการศึกษาไทย (1) ผู้เขียนได้ระบุถึงปัญหาด้านฐานคิด หรือทัศนคติของพ่อแม่ ผู้กำหนดนโยบาย ที่ต่างมีความพยายามมอบการศึกษาที่ดีให้เด็กไทย แต่เพราะทัศนคติและมุมมองของ “การศึกษาที่ดี” แตกต่างกัน แนวทางที่เลือกใช้ก็ไปคนละทิศทาง ผลลัพธ์จึงยังห่างไกลจากสิ่งที่ควรเป็น เช่นนี้แล้ว เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้อย่างไร?

เปลี่ยนฐานคิด (Paradigm shift)เพื่อปรับทัศนคติ

เมื่อระบบการศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมที่ใหญ่มหึมา คนมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนับล้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่อาจทำได้ด้วยการใช้กำลังบังคับให้ทำตาม เพราะแต่ละบุคคลมีฐานคิด (paradigm) ของตนเองที่เกิดจากประสบการณ์ที่ประสบมา ฐานคิดนี้เป็นตัวกำหนดวิธีการมองโลกและวิธีปฏิบัติและตัดสินใจต่อสิ่งรอบตัว ดังนั้นจะปรับทัศนคติได้จะต้อง เปลี่ยนฐานคิด (Paradigm shift) กันใหม่

การเปลี่ยนฐานคิดเป็นคำที่ Thomas Kuhn นักฟิสิกส์และปรัชญาชาวอเมริกันใช้เรียกปรากฏการณ์ในโลกวิทยาศาสตร์ที่หักล้างความเชื่อเดิมนำไปสู่การมองโลกและการแก้ปัญหาที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง

เช่นในปี 1543 นิโคลัสโคเปอร์นิคัส พิสูจน์ได้ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่หมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาได้หักล้างความเชื่อเก่าที่มีมานับพันปี การคำนวณที่อยู่บนฐานคิดเดิมว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลกลายเป็นโมฆะ ทำให้สังคมนักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนฐานคิดครั้งนั้นกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในเวลาถัดมา

เทียบกับสถานการณ์การศึกษาไทย ฐานคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังถูกกำหนดโดยตลาดงานในศตวรรษที่ 20 ที่มีการจ้างงานตลอดชีพและมีสายอาชีพที่รับประกันรายได้มั่นคง ขณะที่คนจบการศึกษาระดับปริญญามีน้อย การเรียนให้สูงที่สุดจึงเป็นใบรับประกันสู่การมีชีวิตที่ดี เพราะฐานคิดนี้ทำให้พ่อแม่ไม่น้อยกดดันลูก เลือกสายการเรียน เลือกอาชีพหรือเลือกองค์กรที่ดูมั่นคง

แต่ทว่าโลกในศตวรรษที่ 21 เด็กนักเรียนต้องใช้ชีวิตที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ถูกล้มได้โดย start up เล็กๆ บางอาชีพจะสูญหายไป และมีอาชีพเกิดใหม่ เมื่อฐานคิดเดิมของสังคมไม่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์จริงจึงเกิดการลักลั่น เช่น บัณฑิตมีใบปริญญาแต่ยังตกงานหรือสิ่งที่เรียนมาใช้งานไม่ได้อีกต่อไปกลายเป็นความทุกข์ของผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องปรับตัวให้ได้กับความคาดหวังของพ่อแม่และโลกการทำงานจริง

ในศตวรรษที่ 20 การเข้าถึงความรู้มีจำกัด การเรียนในห้องเรียนจึงมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การถ่ายเทความรู้ไปสู่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ฐานคิดนี้นำไปสู่การสอนที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก (content-based) เน้นท่องจำแต่ในศตวรรษที่ 21 ความรู้ต่างๆ เข้าถึงง่ายดาย ด้วยเทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจำข้อมูลได้มากที่สุดแต่ใครจะนำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์ใช้ให้ประโยชน์ได้มากกว่ากัน ทักษะเช่น การคิดวิเคราะห์การแก้ปัญหาซับซ้อนจึงจำเป็นอย่างยิ่งหากผู้สอน เปลี่ยนฐานคิดเช่นนี้แล้วการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ในศตวรรษที่ 20 มีการเคลื่อนย้ายประชากรน้อย การเข้ามาของต่างชาติถูก มองว่าเป็นการคุกคาม เราจึงยังเห็นหลักสูตรการเรียนที่มุ่งรักษาอัตลักษณ์ของประเทศและถ่ายทอดอุดมการณ์ชาตินิยมไปสู่คนรุ่นใหม่ แต่โลกในศตวรรษที่ 21 จะเกิดการทำงานข้ามวัฒนธรรมมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน การเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการร่วมงานกับบุคคลหลากหลาย จะเป็นทักษะที่โลกการทำงานใหม่ต้องการ หากผู้ออกแบบหลักสูตรเปลี่ยนฐานคิดใหม่ จะทำให้การออกแบบหลักสูตรแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

“สร้างจุดสั่นสะเทือน” (Disrupt) แทน “เปลี่ยนรูปแบบ” (Reform)

ปัจจุบันมีกลุ่มคนและองค์กรไม่น้อยที่กำลังหักล้างความเชื่อเก่าว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องจัดการโดยลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียน และนักเรียนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระของภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหา กำไรหรือองค์กรในภาคเอกชน

แต่รูปแบบการทำงานขององค์กรเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะโครงการที่มีระยะเวลาจำกัด หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนได้ การขยายผลจึงมีข้อจำกัด นอกจากนี้พื้นที่การทำงานของแต่ละองค์กรกระจัดกระจาย จึงยากที่จะเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนเปลี่ยนความเชื่อของสังคมได้

การลงทุนเพื่อการเปลี่ยนการศึกษาในโลกยุคใหม่จึงควรมุ่งเน้นกลไก 2 จังหวะ คือ (1) การประสานพลังขององค์กรเหล่านี้เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้และ (2) ถอดบทเรียนเพื่อขยายผลเพื่อทำให้แนวทางที่ได้ผลไม่เป็นเพียง “ทางเลือก” แต่กลายเป็น “กระแสหลัก” ของประเทศ

กระบวนการนี้คือกระบวนการสร้างจุดสั่นสะเทือน (Disrupt) เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก กระบวนการนี้ทำให้แนวทางปฏิบัติที่ดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้กลายเป็นแนวทางกระแสหลักได้ในเวลาไม่กี่ปีอย่างที่ airbnb ทำให้การไปนอนค้างบ้านคนที่ไม่รู้จักกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ในภาคธุรกิจการ disrupt ที่เกิดจากผู้เล่นใหม่ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างระบบใหม่และระบบเก่ามีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ แต่การ disrupt ในภาคการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือของผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นเก่าจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ด้วยความตั้งใจและด้วยทัศนคติใหม่คือความหวังที่จะทำให้เกิดระบบการศึกษาใหม่บนฐานคิดใหม่ที่ผู้ได้รับประโยชน์ คือคนไทยทุกคน


หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2560 ใน ปรับฐานคิดเปลี่ยนทัศนคติ ต่อการศึกษาไทย (จบ)กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด