บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนที่ภาครัฐทยอยแจกจ่ายและเริ่มมีการใช้งานแล้ว นอกจากจะอยู่ระหว่างการติดตามแก้ปัญหาเรื่องเครื่อง EDC ไม่พร้อม ไม่เพียงพอ และการนำบัตรไปแลกเงิน รัฐบาลยังมีโจทย์ท้าทายที่ต้องตามตรวจสอบ คือการรั่วไหลของสิทธิไปยังคนไม่จนจริง ส่วนคนจนจริงกลับไม่ได้รับสิทธิ
ดังนั้นก่อนที่การผลักดันโครงการและฐานข้อมูลคนจนอาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อีกมากต่อจากนี้ ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ ชวนมาทบทวนจุดตั้งต้นโครงการ ตั้งแต่การแจ้งจดทะเบียนคนจน ไปถึงข้อควรพิจารณาในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยเหลือคนจน จากมุมมองและข้อเสนอของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
เพื่อนำไปสู่คำตอบว่ากระบวนการที่ดีในการตามหาคนจนและการตอบโจทย์ความต้องการคนจนควรมีแนวทางอย่างไร ที่จะช่วยลดการสูญเสียงบประมาณ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนจนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนและอนาคตของประเทศได้อย่างถูกจุด
หลังบัตรสวัสดิการคนจนถูกแจกจ่ายให้ผู้ลงทะเบียน และเริ่มมีการใช้งานบ้างแล้ว อาจารย์มองเห็นอะไรบ้าง ?
ดร.สมชัย: มองออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการออกแบบของโครงการ กับ implementation ซึ่งช่วงหลังนี้จะเป็นข่าว implementation เรื่องคนไปใช้ในทางที่ผิดแปลกไป แต่ไม่แปลกใจเลย รู้ว่ามันต้องเป็นแบบนี้ เพราะมันคล้าย food stamp ของอเมริกา คือถ้าเอาสิทธิไปแลกของได้ สุดท้ายก็จะมีคนอยากได้เงินมากกว่าของ โดยเอาบัตรไปขาย ร้านค้าก็ยึดบัตรนั้นไป แล้วร้านค้าก็ไปใช้สิทธินั้นแทน ยิ่งถ้าเขาเป็นร้านธงฟ้าอยู่แล้ว เขาจะไปใช้รูดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าให้บัตรเขาไป
สมมติถ้าบัตรมีมูลค่า 300 บาท ซื้อของได้ 300 บาท ที่เขาตกลงกันคือ ฉันให้เงินคุณ 200-250 บาท แล้ว คุณเอาบัตรมา คนที่ได้ก็รู้สึกว่าให้บัตรแล้วได้เงินทันที แล้วไปซื้อของ ไปทำอย่างอื่นที่ชอบที่ต้องการจริงๆ ซึ่งไม่มีในร้านธงฟ้า แบบนี้การได้เงินมันดีกว่า ด้านเจ้าของธงฟ้าได้บัตรมา มูลค่า 300 บาท โดยที่จ่ายเงินไปแค่ 200 หรือ 250 ก็กำไรมา 50 บาท
คือ ปัญหาแบบนี้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว จะจับได้สักเท่าไหร่ คือจับได้ก็เท่าที่จับได้ ที่จับไม่ได้ก็เยอะไปหมด นี่คือขั้นตอน implementation แต่นี่ก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปของการให้เป็นของ แทนที่จะให้เป็นเงิน เพราะถ้าให้เป็น คูปอง ไปแลกกันมันจะมีประเภทของ transaction ประเภทนี้ให้เห็น เป็นเรื่องปกติ
ย้อนมาการออกแบบ concept ว่าการจดทะเบียนคนจนถ้ามันใช่ แล้วมันโอเคหรือเปล่า โดยใช้วิธีให้เขามารายงานว่าเขาเป็นคนจน ซึ่งเคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็มีปัญหามาแล้วในตอนนั้น คือ คนที่ไม่จนมาประกาศตัวว่าเป็นคนจน ซึ่งมีแน่นอน ง่ายๆว่า มีคนลงทะเบียน 14 ล้านคน ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนจน
แต่ตัวเลขทางการของสภาพัฒน์ มีคนจนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของประชากร คิดเป็นประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งจำนวนของสภาพัฒน์ คือ รวมทุกอายุ แต่เงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนรอบนี้กำหนดให้จดเฉพาะคนอายุเกิน 18 ปี จำนวนคนจนที่ได้สิทธิก็ควรต่ำกว่า 4-5 ล้านคน
การลงทะเบียนคนจนรอบนี้ก็เกินกว่าของสภาพัฒน์มา 10 กว่าล้านคน แค่นี้ก็บอกแล้วว่ามีคนที่ไม่จนมาเยอะมาก
แต่ถ้าเราไม่เอานิยามคนจนของสภาพัฒน์ ตามนิยามที่ว่าใครรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ คนจน ก็ได้ โดยสมมติใหม่ว่า เราขยับเส้นความยากจนให้สูงขึ้น เช่น มากกว่าสภาพัฒน์สักคูณสอง จำนวนคนเข้าข่ายจนก็จะมากขึ้น แต่ผมว่าคนจะขึ้นจาก 4-5 ล้านมาเป็นแค่ 8-9 ล้าน ยังไงก็ยังต่ำกว่า 14 ล้าน แต่ทางนี้ ก็บอกว่าเขาไม่ได้เชื่อสักทีเดียว ก็พยายาม screen ออก บอกเหลือ 11 ล้าน แต่ 11 ล้านก็ยังสูงกว่า 8 ล้าน ดังนั้น คนที่ไม่จนจริงมาจดทะเบียนนั้นยังคงมีอยู่ และมีเยอะด้วย
นำไปสู่คำถามว่า ถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้ว่าเป็นเรื่องตายตัว เป็นสรณะ ต่อไปการออกแบบนโยบายการช่วยคนจนต่างๆ จะยึดฐานข้อมูลนี้เป็นหลัก มันก็มีปัญหาทันทีว่า มันจะมีคนที่ไม่ใช่คนจนได้ประโยชน์ไป ในแง่หนึ่งคือ งบประมาณรั่วไหล ไม่ถูกวัตถุประสงค์แต่ที่จะซีเรียสกว่านั้น คือมันเป็นไปได้ว่าคนจนจริงเขาไม่มา ซึ่งตรงนี้ไม่มีตัวเลขว่าเท่าไร
อย่างตัวเลขสภาพัฒน์บอกว่ามี 4-5 ล้านที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็ไม่รู้ว่ามาครบไหม อาจจะมาไม่ครบ ถ้าถามว่าสัก 5 แสนคนไม่ได้มา ซึ่งไม่ได้มาก็ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจไม่รู้เรื่อง ไม่ว่างมา เพราะคนจนเขาหาเช้ากินค่ำ ต้องมานั่งหาข้อมูล กรอกนู้นนี่ บางทีคนจนก็กลัวการกรอกนะ ก็อาจไม่มากัน
ดังนั้นถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้เป็นเรื่องตายตัว แล้วคนจนที่ไม่ได้มาหล่ะ เขาก็จนแท้จริงด้วย และคนที่ไม่มามักจะเป็นคนจนตัวจริง คือ จนสุดๆ คนกลุ่มนั้นถูกละเลยทันที ทำตรงนี้ได้แต่อย่าลืมว่ามันมี error 2 แบบ แบบที่คนไม่จนมาจด และคนจนไม่มาจด
ถ้ามีมาตรการเสริม ว่าคนจนไม่มาจดนี่ควรทำไงกับเขา คุณต้องมีกระบวนการอื่นตามตัวเขามั้ย ซึ่งไม่มีการพูดถึงตรงนี้เลย นี่คือ ในแง่ของ policy design ที่น่าจะยังไม่ใช่ เรื่องความทั่วถึง ของบัตรคนจนจึงเรียกว่า ตั้งคำถามได้
อะไรคือกระบวนการที่ดี เพื่อความถูกต้อง ทั่วถึงในการตามหาคนจน ?
ดร.สมชัย: ในทางทฤษฎีนะ อันที่อยากให้ดึงมาใช้มากเลยคือ ข้อมูลการใช้จ่าย อาจเรียกได้ว่าเป็น big data ทุกวันนี้เขายังไม่ได้เอาตรงนั้นมา ตอนนี้เค้าดูแค่มีหนี้เท่าไหร่ มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ตามที่พอจะหาข้อมูลเจอ แต่ที่แม่นยำมากคือ ข้อมูลการใช้จ่าย ถ้ารู้ว่าใน 11 หรือ 14 ล้านคน มีพฤติกรรมการใช้จ่าย ตามปกติอย่างไรบ้าง ปกติเข้าห้างไปกิน food court จ่ายทีนึง 300 บาท รึเปล่า หรือไปภัตตาคารหรู ถ้าพฤติกรรมแบบนี้มันอนุมานได้ว่าเขาไม่ใช่คนจน ถ้ามีข้อมูลประเภทนี้เข้ามา จะ screen คนได้อีกเยอะ
ต่างชาติเคยใช้ คือ เขาไปติดต่อ บ.บัตรเครดิต คือแค่รู้ว่าเขามีบัตรเครดิตก็เพ่งเล็งได้แล้วว่าไม่จนจริง แล้วยิ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิต เช่นไปซื้อเปียโน แบบนี้ก็ตัดออกได้เลย
ผมเคยไปแอฟฟริกาใต้ เขาใช้วิธีนี้ เขาก็ตัดออกได้เลย เขาก็ screen ไม่คนจนออกไปได้เยอะ แต่ว่าตรงนี้ต้องมีความร่วมมือ รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายใหม่ด้วยซ้ำ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น เรื่องบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของธนาคาร ว่าแต่ละคนจ่ายเรื่องอะไร มันอยู่ในวิสัยที่ทำได้ คือเทคโนโลยีทำได้ แต่มันจะมีขั้นตอนกฎหมายต่างๆ ถ้าทำได้มัน screening ค่อนข้างดี แต่ว่าแก้ปัญหาคนไม่จนนะ ส่วนปัญหาที่คนจนไม่มาจดนี่ต้องแก้อีกแบบหนึ่ง
สำหรับไทยก็มีกรณีนโยบายไฟฟ้า รถเมล์ร้อนฟรี ภาษาวิชาการเรียก self-targeting คือดูพฤติกรรมของคน แล้วนำข้อมูลไปคำนวณว่าเขาเป็นคนจนหรือไม่ คือถ้าคุณใช้ไฟน้อย ก็น่าจะเป็นคนจน อันนี้มันดีกว่าการจดทะเบียนคนจนตรงที่ว่าเอาพฤติกรรมการใช้มาเป็นตัววัด มันก็มีรั่วบ้างคือ คนที่มีคอนโด บ้านหลังที่สอง ค่าไฟก็จะได้ฟรีไป
หรือถ้าขึ้นรถเมล์ร้อน แบบในสมัยก่อน หรือรถไฟชั้น 3 ถามว่าถ้าคุณเป็นคนรวยคุณจะยอมเบียดขึ้นรถเมล์ร้อนไหม ในแง่นี้ตัวสินค้า บริการมันช่วย screen คนจนได้ คนรวยไม่มาแย่ง เทียบกับการจดทะเบียนคนจน มีถึงขั้น ดร. มาจด ดังนั้นทั้ง ใช้ไฟ ขึ้นรถเมล์ รถไฟ แบบนี้เป็น self-targeting ซึ่งด้วยไอเดียมันดีกว่าจดทะเบียนคนจน
กับข้อมูล big data อีกแบบที่ ทีดีอาร์ไอ เคยทดลองทำคือ การตามหาคนจนแบบ Geographic targeting เป็นการตามหาด้วยพื้นที่ เช่น ดูภาพถ่ายดาวเทียมของหลังคาบ้าน หลังคาแบบไหนจน แบบไหนไม่จน เพื่อดูว่าตำบลนี้มีคนจนสักกี่เปอร์เซ็นต์ โดยไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร แต่ก็ช่วยว่าแต่ละพื้นที่มีคนจนมากน้อยต่างกันอย่างไร ที่ช่วยได้คือ เวลาจัดสรรงบประมาณเพื่อไปช่วยคนจน ก็สามารถจัดให้ผันแปรตามจำนวนหลังคาบ้านคนจน มันเป็นประโยชน์สำหรับการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่มากขึ้น แต่โจทย์ต่อมาคือ พองบลงไปแล้วจะกระจายให้แต่ละบ้านอย่างไร
ไอเดียที่ผมชอบมากเลย คือ คุณต้องไปถึงตัวเขาเลย เพื่อช่วยเสริมการกระจายงบประมาณ หรือความช่วยเหลือไปถึงคนจนได้จริง
โดยมันต้องมีกลไกของการตามหาคนจน ซึ่งกลไกที่ว่าต้องเป็นระดับชุมชน คนที่น่าจะทำเรื่องนี้ได้คือ อสม. อาสามัครสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข
อสม. เป็นคนในพื้นที่ เป็นชาวบ้านนี่แหละ เพียงแต่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขทำการดูแล คนในบ้านแถวนั้น ที่เขามีสูตรคือ อสม. 1 คน ดูแลเพียง 15 บ้าน เขาจึงรู้จักทุกคนที่เขาดูแล รู้ว่าชื่ออะไร มีลูกไหม ทำงานอะไร ท้องหรือยัง แท้งไหม เหมือนรู้จักเพื่อนบ้าน อสม.มารับช่วงต่อ มันก็จะเป็น 2 step ที่จะได้เจอคนจนอย่างแท้จริง จะได้ไม่มีปัญหาว่างบขาดหรือเกิน
ถ้าถาม อสม. ว่าใครจนไม่จน เขาบอกได้ เราจึงควรใช้ประโยชน์ตรงนี้ เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของราชการอยู่แล้ว ให้เขารายงานข้อมูลมาได้เลย ที่ผมเคยเสนอคือว่า ทำไมไม่เอา ข้อมูลจดทะเบียนคนจนในพื้นที่ไปแจกใส่มือ อสม. แล้ว อสม. ไปเช็คว่าใครไม่จนจริง ส่วนคนจนที่ไม่มีชื่อก็ให้ อสม. เติมชื่อเข้ามา เพราะเขารู้ว่าต้องเติมใคร และต้องเอาใครออก
เทียบกับสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วคือ ไปจ้างนักศึกษาใช้เงินเป็นพันล้าน จ้างผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือจ้างทำการสำรวจ ข้อเสียคือ นักศึกษาไม่รู้จักชาวบ้าน เป็นคนจากข้างนอก งั้นถ้าตอนเขาไปจดทะเบียนคนจนเขาโกหกรอบนึง ทำไมเขาจะโกหกอีกไม่ได้ นักศึกษาก็จับโกหกไม่ได้ อาจไม่เชี่ยวชาญพอ แต่ อสม. เขาเคี่ยวมาก ต้นทุนก็จะไม่มากเท่า
ทำไม ดร.สมชัย จึงบอกว่า ‘ไม่แปลกใจ’ หรือเป็นเรื่องปกติ ที่สุดท้ายเกิดปัญหาคนจนเต็มใจนำบัตรไปแลกเป็นเงินสดกับร้านค้าธงฟ้า ?
ดร.สมชัย: พอคิดว่าจะให้เป็นของแทนเงิน มันก็จะมีเรื่องของ implementation ตามมาเพราะไม่ว่าอย่างไร อย่างที่บอก สุดท้ายคนก็จะอยากได้เงินมากกว่าได้ของ
สมมติผมอยากช่วยคุณเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมมี 2 ทางเลือกคือ ให้เป็นของ ซื้อของขวัญให้กับให้เป็นเงิน ด้วยมูลค่าเท่ากัน แต่ถ้าให้เป็นของก็มีโอกาสที่คุณจะไม่ชอบ หรือไม่ชอบที่สุด แต่ถ้าให้เงิน คุณก็เอาเงินนั้นไปซื้อของที่ชอบที่สุดได้
ดังนั้นประโยชน์ต่อคนได้รับ ให้เป็นเงินเขาได้ประโยชน์สูงสุดกว่า เศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ ECON 101 เลย บอกว่าให้เป็นเงินดีกว่าให้เป็นของ
แต่ว่านี่หมายความว่าให้ถูกคนนะ คือถ้าเขาจนจริง คนจนจริงเขาก็มีความจำเป็นในชีวิตที่เขายังขาด อาหารไม่พอ เครื่องนุ่งห่มไม่พอ ได้เงินมาเขาไม่ไปซื้อบุหรี่ก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณให้คนไม่จน ก็เป็นไปได้ที่เขาจะไปซื้อบุหรี่ซื้อเหล้า เพราะปัจจัย 4 เขาครบแล้ว
ดังนั้นต้องกลับไปตั้งต้น คือ ตามตัวคนจนให้เจอ และให้เป็นเงินไป และถ้าให้ก็ให้ไม่มาก แค่ให้เขาผ่านช่วงชีวิตที่มันลำบากไปได้ ช่วยในเรื่องที่เขาจำเป็นจริงๆ ถ้าให้เยอะ จะยิ่งกระตุ้นให้คนไม่จนวิ่งมาหาช่องทางของคนจน
เรื่องที่ต้องจำกัดการใช้บัตรเฉพาะร้านค้าธงฟ้า ก็มาจากไอเดียไม่ยอมให้เงิน ก็ต้องไปแลกเป็นของ พอเป็นของ ก็ต้องเพิ่มเงื่อนไขจำกัดแค่บางร้าน และต้องมีเครื่องอ่านบัตร โดยใช้กับทุกร้านทั่วประเทศไม่ได้ เพราะมันต้องลงทุนสูง จึงมีแค่ธงฟ้า
ซึ่งดีไม่ดี คนจนในภูเขา ค่าเดินทางมาร้านธงฟ้า 300 บาท เขาก็ไม่อยากมาแล้ว ได้บัตรไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็เทียบกับได้เป็นเงินก็ได้ประโยชน์เลย พอคิดว่าจะให้เป็นของแทนเงิน มันก็จะมีเรื่องของ implementation ตามมา และต้นทุนก็สูงขึ้นตามจากเครื่องอ่านบัตร อย่างค่าแก๊สได้มา 40-50 บาท แต่ต้องผ่านกระบวนการกับทางรัฐบาล ก็รู้สึกไม่คุ้ม
อะไรเป็นข้อจำกัดทำให้นโยบายช่วยคนจนไม่ออกมาในลักษณะแจกเงินให้ใช้ซื้ออะไรก็ได้เลย ?
ดร.สมชัย: เรื่องแจกเงินนี่คนชนชั้นกลางไทยไม่ชอบ จะมีคำถามว่าทำไมให้เงินเขาไป ซึ่งเป็นความระแวงคนอื่น ว่าเดี๋ยวงอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน เดี๋ยวเอาเงินซื้อบุหรี่ กินเหล้า แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์เลยนะ คือยังไงให้เป็นเงิน ก็ดีกว่าให้เป็นของ
ซึ่งประสบการณ์จากที่ต่างๆ ที่ให้เป็นเงินกับคนจนนะ สัดส่วนคนที่ไปใช้เงินผิดประเภท ซื้ออบายมุขต่างๆ เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน้อยมาก
อีกอย่างคือคนให้ความช่วยเหลือมักทำว่ารู้ดีกว่า ทำเหมือนว่าเป็นพ่อกับแม่แล้วมองคนจนเหมือนลูก เหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่อง จะต้องคิดแทน และคิดแล้วว่าต้องเป็นสินค้านู้นนี่ เช่นเรื่องให้ขึ้นรถโดยสารฟรี นี่ก็เป็นเรื่องคิดแทน ทั้งที่ไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนต้องใช้รถโดยสาร
ไปดูในชุมชนแออัด เขาจะชอบทำมาหากินใกล้บ้านเขาไม่ได้ชอบเดินทาง การทำตัวเป็นพ่อแม่รู้ดี แต่รู้ไม่จริง ประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ได้
ดังนั้นควรออกแบบนโยบายยังไง ที่ทั้งต้องช่วยคนจน แต่ในอีกทางก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถกระตุ้นให้เขาอยากออกจากความจนด้วย?
ดร.สมชัย: เขาอยากออกอยู่แล้ว ถ้าสมมติให้เป็นเงินเขาก็เอาไปใช้ประโยชน์ เช่น คนจนขาดสารอาหารกินได้ไม่พอ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้วในเมืองไทย ก็สมมติเอาแล้วกัน พอเขาได้เงินไปก็ซื้ออาหาร เขาก็ได้สารอาหารครบถ้วน ทำงานได้ดีขึ้น สุดท้ายก็ได้รายได้ดีขึ้น
หรือขยับมาสู่การมีลูก ก็อยากให้ลูกไปเรียนในศูนย์เด็กเล็กที่บางที่เขาเก็บวันละ 10 บาท เดือนนึง 300 บาท ถ้าจนจริงๆ ลูกก็ไม่ได้ไปศูนย์เด็กเล็ก เด็กก็ไม่ได้พัฒนาการอะไร ซึ่งถ้าเขามีเงิน มีโอกาส ก็ได้รับการพัฒนาตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็ได้โอกาสในชีวิต และถ้าช่วยกระตุ้นในช่วงวัยแรกเกิด ถึง 5 ปี เด็กเล็กที่ได้รับการกระตุ้นในช่วงนี้ดีๆ จะเป็นโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ถามว่าช่วยคนจนมั้ย ก็ช่วยได้แน่นอน generation ต่อไปจะหายจน
มีกรณีตัวอย่างโครงการหรือนโยบายที่ดีในการช่วยเหลือคนจนโดยแจกเงิน บ้างไหม?
ดร.สมชัย: ตามที่ศึกษาอยู่คือ โครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก อันนี้รัฐบาลแจกเป็นเงินสด กำลังอยู่ในช่วงทำวิจัยว่าผลจะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไร ว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัวนั้นอย่างไรบ้าง ซึ่งยังทำไม่เสร็จดี แต่มีที่ประเมินได้ และพบความสำเร็จ
คือ โครงการนี้มีข้อดีที่ การเลือกช่วยเด็กเล็ก target เด็กเล็ก แต่ที่ควรปรับปรุงคือต้องทำให้กระบวนการง่ายขึ้น เช่น เมื่อเกิดที่ รพ. พอแจ้งเกิดก็ได้เลย แต่เขาต้องแจ้งว่าประสงค์รับเงิน และมีช่องทางรับเงินที่ต้องแจ้งกันนิดหน่อย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องทำให้ง่ายสุดเพื่อขจัดปัญหาคนจนไม่ได้เงิน เช่น เกิดที่ รพ. มีเจ้าหน้าที่ทำให้ได้เลยได้ไหม มีระบบเชื่อมต่อกัน พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ รพ. ก็แค่ถามเบอร์บัญชี ก็จบ เดือนถัดไปเงินก็เข้า ตอนนี้ให้ถึง 3 ขวบ 600 บาทต่อเดือน ขยับจาก 400 และ ขวบเดียว
ที่ผมเคยเสนอคือ 600 ให้ถึง 6 ขวบ และให้ทุกคนเพื่อป้องกันเด็กจนไม่ได้เงิน แบบนี้ใช้เงิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น คุ้มมาก สร้างอนาคตประเทศด้วยเงินเท่านี้คุ้มมาก แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมจ่าย
เด็กเล็ก คือกลุ่มที่ควร target อย่างยิ่ง คือเอาเงินไปแจกให้เด็ก ดีกว่าแจกคนแก่นะ ตอนนี้แจกคนแก่ใช้เงิน 6-7 หมื่นล้านบาท แจกเด็กเล็กยากจน 1-2 พันกว่าล้าน size มันต่างกันเยอะมากเลย ทั้งที่เด็กเล็กเป็นอนาคตของประเทศ แต่กลับไปประหยัดตรงนั้น แล้วไปจ่ายให้คนแก่ เพียงเพราะคนแก่โหวตได้
แต่การเป็นนโยบายที่ targeting เด็กที่ยากจน มันก็มีปัญหาเดียวกันกับลงทะเบียนคนจน คือ คนไม่จนก็ได้ด้วย แม้ว่าขั้นตอนของเขาก็มีการรับรองต่างๆ ก็มีความพยายาม screen แล้ว พวกผู้ใหญ่บ้าน อบต. ต่างๆที่รับรอง และมีคนไม่จนที่มาเข้ากระบวนการ ซึ่งที่ซีเรียสคือ จนแล้วไม่ได้เข้าโครงการ
ตอนนี้ที่ล่าสุดทางเราเสนอคือ ให้ทำตัวนี้ เป็น universal เลย ไม่สนใจยากดีมีจน ก็ทำคล้ายๆ คนแก่เลย แต่ใช้เงินน้อยกว่าคนแก่เยอะ คือประมาณหมื่นสองหมื่นล้าน และยิ่งเวลาผ่านไป เด็กยิ่งเกิดน้อยลงๆ ใช้งบประมาณอนาคตก็น้อยลง ไม่เหมือนคนแก่ยิ่งนานยิ่งเยอะ ฉะนั้น ก็เสนอว่าทำให้ถ้วนหน้าไป เพื่อ ขจัดปัญหา exclusion error คือเด็กที่ยากจนไม่ได้เงิน
การทำเป็น universal เป็นวิธีที่ได้ผลชะงัดที่สุด ที่จะทำให้ปัญหาไม่ถึงคนจนหมดไปเหลือ 0 แน่นอนมันไปปูดเรื่องคนไม่จน สำหรับผมงบประมาณเรื่องนี้ 1-2หมื่นล้านบาท สำหรับ universal ก็ยังคุ้มกว่า
คือถ้ารวยจริงๆ เขาคงไม่มาเอาหรอก ยกเว้นชั้นกลางอาจมาเอา แต่รั่วไปตรงนั้นไม่เป็นไร ดีกว่าต้องตกหล่นคนจนไป
เมื่อรัฐบาลมีหลายนโยบายช่วยคนจน ทั้งไฟฟรี บัตรคนจน เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ควรนำมาเชื่อมกันมั้ย ?
ดร.สมชัย: เขาก็มีคุยกันว่าจะนำมาชนกัน คือถ้านำมาชนกันก็ overlap แต่ใช่ว่าจะเจอ overlap คนจน นั่นอาจเป็น overlap คนไม่จนก็ได้ สุดท้ายยังไงก็ต้องมี อสม. มาตรวจสอบ สมมติตรวจสอบตรงลงทะเบียนคนจนด้วยวิธีนี้สำเร็จจะได้เอาไปทาบกับนโยบายอะไรก็ได้
นอกจากมิติแก้จนแล้ว โครงการช่วยเหลือคนจนต่างๆ ส่งผลบวกกับการลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยบ้างได้ไหม ?
ดร.สมชัย: ถ้าคุณแก้ปัญหาความยากจนได้จริงๆ คุณก็แก้ความเหลื่อมล้ำได้หน่อยนึงแล้ว ก็ทำให้คนจนดีขึ้น ช่องว่างมันเล็กลง แต่อย่างงบบัตรคนจนมันก็แค่ 4 หมื่นล้าน แต่มีบางส่วนรั่วไปคนไม่จนด้วย ดังนั้นตีเป็นคนจนจริงๆ ก็อาจ 3 หมื่นล้าน จำนวนนี้ต่อปีไม่ได้เยอะ ก็ช่วยคนจนได้อยู่นิดนึง
แต่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นคือ เงื่อนไขและสิทธิในบัตรที่ให้ไม่เท่ากัน ที่ทำให้ได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน เมื่อคนได้บัตรที่อยู่ในเขตชนบทได้เงินน้อยกว่า คิดเป็นเม็ดเงินก็ได้น้อยกว่า ก็เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างจนในเมือง กับจนในชนบท ก็กลายเป็นห่างมากขึ้น หลังจากที่ใส่ตรงนี้เข้าไป แต่ถ้าจะให้เท่ากัน ก็ควรแจกเป็นเงินไปเลย ก็จะไม่ต้องมีประเด็นที่เป็นปัญหากันตอนนี้
อะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และควรเน้นไปที่ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ?
ดร.สมชัย: ก็ต้องมีการสำรวจออกมา ตามหลักวิชาการ ทั้งการจดทะเบียนที่เจอคนจนจริง ไม่จริง และประโยชน์ที่ได้มามีแค่ไหน ดีต่อชีวิตเขายังไง แตกต่างอย่างไร ซึ่งตามหลักวิชาการมันทำได้ แต่ใช้เวลา 1-2 ปี
ส่วนกรณีกระตุ้นเศรษฐกิจ มากน้อยแค่ไหน ง่ายๆ ถ้าอยากซื้อข้าวสาร ยังไงคุณต้องกินข้าวอยู่แล้ว ถ้าไม่มีบัตรคนจนไปร้านธงฟ้า คุณก็ต้องเอาเงินไปซื้อ แต่ถ้ามีบัตรธงฟ้า ก็เอาบัตรไปซื้อ ดังนั้นเงินที่เขาเตรียมไว้เพื่อซื้อของในร้านธงฟ้า ซื้อข้าวสาร ก็ไม่ต้องจ่าย เงินนี้ก็ได้เอาไปซื้ออย่างอื่น ดังนั้นข้าวสารก็ยังขายได้ผ่านช่องทางธงฟ้า และยังมียอดขายอย่างอื่นเพิ่มอีก คิดเป็นเม็ดเงินก็ประมาณ 4 หมื่นล้าน ซึ่งถ้าเงินมันลงไป เศรษฐกิจมันก็ถูกกระตุ้น
ถึงจะเอาบัตรไปแลกเป็นเงินก็กระตุ้นนะ กระตุ้นเศรษฐกิจนี่ไม่ได้สนใจว่าเงินมันจะสกปรกหรือสะอาด ก็กระตุ้นได้หมดเหมือนกัน
อยากฝากอะไร ถึงผู้รับผิดชอบบัตรคนจน?
ดร.สมชัย: อย่าหยุดปรับปรุง อย่าคิดว่า screening ที่ทำมาทั้งหมดนี่พอแล้ว ผมว่ายังไม่พอ และอยากให้ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข ในเรื่องการให้ อสม. ช่วยเรื่องปรับปรุงฐานข้อมูล ส่วนเรื่องรั่วไหลไปคนไม่จน ไม่น่าซีเรียสเท่าไม่ถึงคนจนจริง แต่ก็ควร screen
ผมมองว่าบัตรคนจนเป็น step ของการเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่ว่านี่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นำเรื่อง big data เข้ามา และมีกฎหมาย เพื่อดึงข้อมูลต่างๆเข้ามา ข้อมูลมันจะดีขึ้น เพื่อนำไปใช้เรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องถ้าจะแจกเงินก็ใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ อันนี้คือข้อดีของการมีพัฒนาการทางเครื่องมือ