แกะรอยผูกขาด ป้องกันทุจริตคอร์รัปชันด้วย Big Data

ภวินทร์ เตวียนันท์

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง สืบเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายนอกคือ เศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างซบเซา และปัจจัยภายในที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่ภาคครัวเรือนก็จับจ่ายอย่างระมัดระวังเพราะมีการก่อหนี้สะสมไว้สูง การผลิตและการบริโภคที่อ่อนแรงลง ยิ่งทำให้นักธุรกิจชะลอการลงทุน ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัว จึงต้องพึ่งพาการลงทุนและรายจ่ายของทางภาครัฐเป็นหลัก

โครงการก่อสร้างของภาครัฐจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟรางคู่ หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เป็น เม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย

แม้เป็นที่ยอมรับว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองกว่าทศวรรษ ทำให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ล่าช้ามานาน แต่ประชาชนก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ใช้เงินมหาศาลในแต่ละปี (ปี 2559 มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐคิดเป็น 37% ของงบประมาณประจำปี) “คุ้มค่า” หรือไม่

โดยเฉพาะจากสถิติกว่า 60-70 ของเรื่องร้องเรียนกรณีการทุจริตที่ ป.ป.ช. ได้รับนั้น เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขณะที่กลไกตรวจสอบของภาครัฐที่มีอยู่ ก็มีศักยภาพจำกัด
ในปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ต้องตรวจสอบกว่า 2 ล้านโครงการ และหน่วยรับตรวจอีกกว่า 7 หมื่นแห่ง ในขณะที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีคดีที่ยังอยู่ในชั้นของการสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงอยู่เกือบ 1 หมื่นเรื่อง

ผู้เขียนเห็นว่า ฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐทั้งหมดที่อยู่ใน data.go.th ของกรมบัญชีกลาง จำนวนโครงการทั้งสิ้น 5.4 ล้านรายการ ในช่วงเวลา 2 ปี (2558-2559) เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง เพราะ สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจถึงลักษณะของปัญหาทุจริตหรือประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งบ่งชี้หน่วยงานหรือพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นพิเศษ ช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการในการป้องกันคอร์รัปชันได้ตรงเป้ามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์กว้างๆ ไม่ได้อิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์แต่อย่างใด

ผู้เขียนได้ลองศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการใช้ค่าส่วนต่างระหว่างราคากลางกับราคาที่ประมูลเป็นตัวแปรแทน (proxy) โดยศึกษาเฉพาะโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งคิดเป็น 7.5% ของโครงการทั้งหมด และจำกัดว่าเป็นโครงการก่อสร้างของ 3 กรมที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูงสุด เนื่องจากศักยภาพในการประมวลผลของข้อมูล ของคอมพิวเตอร์ที่ใช้มีจำกัด

ผลการศึกษาพบว่า การประมูลแบบ e-bidding ซึ่งเปิดให้ผู้ประมูลเข้าร่วม ประมูลออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมาในที่เดียวกันเป็นรูปแบบการประมูลที่ ทำให้ได้ราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางมากที่สุด

โดยการนำระบบ e-bidding มาใช้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 ทำให้ภาครัฐประหยัดงบไปได้ประมาณ14% ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด แต่ e-bidding คงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ได้ราคาประมูลต่ำ

ผู้เขียนได้ลองศึกษาโครงการก่อสร้างของ 3 กรมที่ใช้วิธีการประมูลแบบ e-bidding พบว่า แม้จะมีการใช้ระบบการประมูลที่เปิดกว้าง แต่สุดท้าย การจัดซื้อจัดจ้างส่วนมากยังกระจุกตัวอยู่ที่ ผู้ประกอบการไม่กี่รายในบางจังหวัด โดยเฉพาะแถวตะเข็บชายแดน ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าประมูลได้น้อย ต่างจากในเขต กทม. ที่มีการกระจายตัว ของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างสูง แต่เมื่อวิเคราะห์ระดับ “เขต” ใน กทม. พบว่า บางเขตมีการกระจุกตัวของการ จัดซื้อจัดจ้างสูงมาก

ที่น่าสนใจ คือ โครงการขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทกลับมีการ กระจุกตัวมากกว่าโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป ทำให้เกิดคำถามว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่มี มูลค่าไม่สูง หากแต่มีการซื้อบ่อยครั้งอาจมี “เจ้าประจำ” หรือไม่

เมื่อวิเคราะห์รายชื่อของผู้ชนะการประมูล พบว่า แต่ละหน่วยงานมักจะมีเจ้าประจำที่ได้งานก่อสร้างไป และเมื่อศึกษาในเชิงพื้นที่ ระดับเขตของกลุ่มโครงการก่อสร้างใน กทม. พบว่า ผู้ที่ชนะโครงการก่อสร้าง มีการแบ่งเขตกันอย่างชัดเจน ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งงานมากที่สุดในพื้นที่ที่หนึ่งมักจะไม่ข้ามเขตไปเป็นขาใหญ่ของอีกเขตพื้นที่หนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจมีการผูกขาดในระดับพื้นที่อยู่

โจทย์ตามมาที่น่าสนใจคือ ถ้าเรา นำฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของ กรมธุรกิจการค้ามาเชื่อมกับข้อมูลรายชื่อผู้ชนะประมูลในรายพื้นที่เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า บริษัทที่ได้รับงานบ่อยครั้งนั้นมีใครเป็นผู้ถือหุ้นเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือไม่

หรือ เกี่ยวโยงกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างหรือไม่ เป็นต้น

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการที่เราเข้าถึงข้อมูล Big Data ทำให้เห็นภาพ ของปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างได้กว้างและลุ่มลึกมากขึ้น ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูล ของภาครัฐจึงสำคัญและจำเป็นในการ ยกระดับการพัฒนาประเทศ และยิ่งมีการรวมฐานข้อมูลของหลายๆ หน่วยงานไว้ใน ที่เดียวจะยิ่งทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลและโจทย์ของงานวิจัยไปได้ไกลขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ตรงจุด


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 ตุลาคม 2560