tdri logo
tdri logo
5 พฤศจิกายน 2017
Read in Minutes

Views

กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ – ใครได้ประโยชน์

จักรกฤษณ์ ควรพจน์

ตามที่มีข่าวว่า หน่วยงานของรัฐประสงค์จะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ 1991 (UPOV 1991) นั้น มีข้อที่ควรทำความเข้าใจว่า กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปัจจุบันของไทย จัดทำขึ้นตามอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1978 พร้อมทั้งผสมผสานกับหลักการสำคัญของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

อนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 แตกต่างจากอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1978 หลายประการ ที่สำคัญคือ จะให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ที่กว้างกว่า คือผู้ทรงสิทธิจะไม่ได้มีสิทธิเฉพาะในส่วนขยายพันธุ์ (propagating material) ตามอนุสัญญายูปอฟ 1978 และตามกฎหมายปัจจุบัน หากแต่จะมีสิทธิที่ครอบคลุมไปถึงทุกส่วนที่เป็นผลผลิตของพันธุ์พืช (harvested material) กล่าวง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายเดิมให้สิทธิเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด หน่อ หัว ฯลฯ แต่กฎหมายใหม่จะให้สิทธิครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สำการการบริโภคด้วย ซึ่งตรงนี้แหละที่ผู้คัดค้านเขาบอกว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ ผู้ทรงสิทธิจะยังมีสิทธิเหนือ “พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์คุ้มครอง” (essentially derived varieties) อีกด้วย ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า หากมีนักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายอื่น นำเอาพันธุ์พืชคุ้มครองไปทำการศึกษาวิจัยหรือปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ แม้นักวิจัยดังกล่าวจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ ตามข้อยกเว้นที่ว่า Breeders’ exemption แต่อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 และร่างกฎหมายที่เสนอขึ้นมาใหม่ กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชคุ้มครองที่ถูกผู้อื่นนำไปศึกษาวิจัย สามารถอ้างสิทธิในผลงานการวิจัยหรือในพันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนขึ้นนั้นได้ หากพิสูจน์ได้ว่าพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ มิได้มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากพันธุ์พืชคุ้มครอง พันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการวิจัยก็จะตกเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิเดิม ในฐานะที่เป็น “พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์พืชคุ้มครอง” (essentially derived varieties)

ซึ่งบทบัญญัติในอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 เช่นนี้ มิได้เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็คือนักปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ซึ่งทั่วไปจะไม่มีศักยภาพที่จะปรับปรุงต่อยอดพันธุ์พืชของผู้อื่นให้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญได้ จะคงมีก็แต่บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่จะสามารถสร้างความแตกต่างอย่างสำคัญในพันธุ์พืชปรับปรุงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากหลักการ Essentially derived varieties ในอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 และอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ค.ศ. 1991 ยังจำกัด “สิทธิพิเศษของเกษตรกร” (Farmers’ privileges)

กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยในปัจจุบัน อนุญาตให้เกษตรกรเก็บและใช้พันธุ์พืชคุ้มครองที่เป็นผลผลิตในแปลงของตนเอง เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ แต่อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1991 จำกัดสิทธิดังกล่าวลงให้กลายเป็นข้อยกเว้นสิทธิที่รัฐสมาชิกจะให้การรับรองหรือไม่ก็ได้ (UPOV Convention 1991, Article 15) โดยร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอนั้น ได้จำกัดสิทธิพิเศษดังกล่าวของเกษตรกรโดยบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้”

ระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้อนุสัญญายูปอฟได้สร้างอำนาจตลาดให้กับบรรษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ แต่ลดและจำกัดโอกาสของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ระบบดังกล่าวจึงส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรรม และการดำรงชีวิตของเกษตรกรในประเทศ

ซึ่งระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยเป็นระบบการเกษตรขนาดเล็กที่ทำโดยเกษตรกรรายย่อย การเก็บ รักษา และแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีที่เกษตรกรถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต

ประเทศสมาชิกของอนุสัญญายูปอฟส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีฐานการปรับปรุงในระดับอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก การปรับปรุงมีอยู่อย่างจำกัด หรือหากจะมีอยู่บ้างก็เป็นการปรับปรุงพันธุ์ที่อาศัยการลงทุนของภาครัฐและศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนของประเทศดังกล่าว ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ การแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญายูปอฟ 1991 จึงนับว่ามีความสุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกษตรกรรม และต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด