ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร? (ตอนที่ 2) : คุณภาพการศึกษาตกต่ำ คุณภาพกำลังคนตกต่ำ จะไม่มีใครช่วยได้เชียวหรือ?

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานหรือคนทำงานไทยที่สถานศึกษาระดับต่างๆผลิตขึ้นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะให้ได้คำตอบนี้เราต้องทำความเข้าใจว่าขณะนี้พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่

เมื่อเดือนตุลาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรไทย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 65.75 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน (work force) จำนวน 56.05 ล้านคน (ดูแผนภาพที่ 1) ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน น่าจะอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ตราบเท่าทุกวันนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากประชากรวัยแรงงานจำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.22 ล้านคน ซึ่งผู้เขียนขอใช้เวลาพูดถึง กลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.83 ล้านคน (33%) ซึ่งแน่นอนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไม่ได้หรือยังไม่ได้อยู่ในฐานะสร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น แม่บ้าน 5.72 ล้านคน เป็นคนทำงานที่คอยสนับสนุนคนในบ้านที่ต้องออกไปทำงานภาคเศรษฐกิจไม่ถือว่าเป็นภาระของสังคม เนื่องจากมีคนหารายได้ให้ใช้อยู่เบื้องหลัง แต่ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน เกือบ 100% อยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้งบประมาณมากกว่า 20.3% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งประเทศเพื่อหวังว่าจะผลิตบุคลากรจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ แต่คุณภาพของผู้เรียนที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพของผู้เรียน ถ้าวัดผู้ที่กำลังเรียนต่ำกว่าอุดมศึกษา จะพบว่าผลการสอบ ไม่ว่าจะเป็น O-net หรือ V-net ส่วนมากอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 45 จากคะแนนเต็มร้อยแทบทั้งสิ้น ถ้าเป็นการเรียนตามปกติก็ถือว่าสอบตก ซึ่งแน่นอนเป็นระดับคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่เป็นที่พอใจ ผลจากการที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำมาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ส่งต่อผู้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ข้อเท็จจริงของความล้มเหลวก็คือไม่สามารถจะรักษาเด็กแต่ละชั้นเรียนให้คงอยู่ในสถานศึกษา

เช่น จำนวนเด็กก่อนจะถึงอายุ 15 ปีนั้น ในปี 2559 เป็นเด็กอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ (6-14 ปี) ซึ่งมีประชากรวัยนี้อยู่ 7.4 ล้านคน แต่ปรากฏว่าได้รับการศึกษาเพียง 7.2 ล้านคน หลุดจากระบบการศึกษาจากแต่ละชั้นเรียนถึง 2 แสนคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในสังกัด ศธ. และผู้ปกครองจะต้องนำเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้

แต่ความเป็นจริงหน่วยงานที่รับผิดชอบยังปล่อยให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการศึกษา และพบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเด็กด้อยคุณภาพ เร่ร่อน เต็ดเตร่ มั่วสุม จนบางคนเผชิญปัญหาอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ถ้าตกจากระบบนานนับ 10 ปี และไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้รับการฝึกอบรมอีกเลยจนอายุถึง 18 ปี ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงงานหรือคนทำงานทักษะต่ำ (low skilled) ทำงานรับจ้าง รายได้ต่ำวนเวียนในวัฏจักรของความยากจน บางคนอาจจะมีครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กตกอยู่ในวงจรแห่งความยากจนเป็นผู้มีรายได้น้อย

ตัวเลขนักเรียนไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก็มีมาก ในปี 2559 อยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ. ซึ่งกลุ่มนี้มีอายุ 12-14 ปี มีประชากรวัยนี้ 2.6 ล้านคน แต่ไม่ได้เรียนต่อถึง 11.4% หรืประมาณ 3 แสนคน เป็นสถิติที่น่าตกใจมากเนื่องจากอายุยังไม่ถึงวัยทำงาน ไม่มีใครกล้าจ้างเด็กเหล่านี้เข้าทำงาน (เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก)

ถ้าเป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันหรือเป็นเด็กที่ครูส่วนหนึ่งเลื่อนชั้นให้โดยที่เด็กไม่มีความรู้ และถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นเอาใจใส่อย่างจริงจังจากพ่อแม่ให้เรียน หนังสือ (กศน.) จะมีความเสี่ยงอย่างสูงมากที่เด็กตกจากระบบเหล่านี้จะกลายเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับสังคม สูญเสียอนาคตเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นที่รับรู้และพบเห็นเป็นข้อมูลอยู่ทุกวันนับเป็นความสูญเปล่าที่ยังไม่ได้แก้ไขให้สำเร็จ เพื่อที่จะต้องนำเอาเด็กที่เกิดน้อยลงทุกคนให้กลับมาอยู่ในโลกและทำคุณประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัวและประเทศชาติ

ยิ่งกว่านั้นเมื่อเข้าสู่วัยที่ต้องเลือกเรียนต่อสายสามัญและอาชีวศึกษาพบว่า มีเด็กวัย 15-17 ปีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านคน เรียนต่อเพียง 2 ล้านคน แบ่งเป็นเรียนต่อสายสามัญ 1.3 ล้านคน (48.9%) อาชีวศึกษา 0.7 ล้านคน (23.8%) (ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการให้มีผู้เรียน ปวช. ถึง 60-70%) ดังนั้นยังมีผู้ไม่ได้เรียนต่อถึง 0.7 ล้านคน (27.1%) นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติเช่นกัน เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ถ้าอยากทำงานถึงกฎหมายจะคุ้มครอง แต่จะทำงานไม่ได้เต็มที่เท่ากับแรงงานที่บรรลุนิติภาวะแล้วคือ 18 ปี อีกทั้งนายจ้างคงไม่ต้องการจ้าง เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานและทำงานให้ไม่ได้เต็มที่

ผู้ที่จะลดความสูญเสียของแรงงานกลุ่มนี้ได้ เช่น การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือวิทยาลัยสารพัดช่าง ของ ศธ. ซึ่งในอดีตถึงปัจจุบันการเติมความรู้ให้กับเด็ก(จำนวนประมาณ 1 ล้านคนที่อยู่ในสังกัดของ กศน.) ที่สนใจศึกษายังมีคุณภาพไม่ทัดเทียมกับเด็กนักเรียนภาคปกติ

การที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้ว แต่ยังปล่อยให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควรเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลน และเยาวชนยากจน เป็นต้น

ปัญหารองลงมาเป็นเรื่องที่ผู้เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายและจบอาชีวะ ซึ่งถ้าเข้าเรียนต่ออุดมศึกษาช่วงอายุ 18-21 ปี ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนถึง 43.7% ไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา(หรืออนุปริญญา) ก็จะมีเด็กต้องออกจากการศึกษาถึงประมาณ 308,000 คน เด็กเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าทำงานได้ทันทีทั้งหมด เนื่องจากบางส่วนอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องรอเกือบปีเต็มและเป็นช่วงที่เด็กจะอ่อนไหวต่อการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองเพื่อรอเข้าสู่ตลาดแรงงาน (ถ้าไม่กลับเข้าไปเรียนต่อ) จะเที่ยวเตร่คบเพื่อนสนุกสนามไปวันๆ ถ้าโชคร้ายคบเพื่อไม่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดี จะมีปัญหาสังคมหลายประการตามมาในที่สุด จะมีผู้รอดจากปัญหาเหล่านี้จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เกิดความสูญเสียต่อประเทศชาติจนไม่อาจประเมินได้

ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กศน. และ/หรือหน่วยงานประชารัฐจะต้องจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกคนได้มีโอกาสเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลนแรงงานนี้จำนวนนับแสนคนได้

จำนวนตกหล่นจาก ม.ปลายและ/หรืออาชีวะมีจำนวนมากในแต่ละปีอยู่แล้ว ยังมีผู้ที่เข้าเรียนอุดมศึกษาปีที่ 1 ไม่ได้มาลงทะเบียนหรืออกจากระบบการศึกษาถึง 38.6% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเช่นกัน นับเป็นความสูญเปล่าต่อประเทศเป็นอย่างมาก ผู้เขียนลองสมมติให้มีนักเรียน 800,000 คน เข้าเรียนตั้งแต่ ป.1 เมื่อปี 2546 เนื่องจากแต่ละชั้นเรียนในทุกระดับนั้นมีเด็กต้องออกจากระบบการเรียนทุกปีจนถึงปี 2558 นักเรียนที่เข้า ป.1 จะเหลือเข้าเรียนปี 1 ระดับอุดมศึกษาเพียง 133,073 คน

เมื่อขึ้นชั้นเรียนปี 2 จะมีนักศึกษาไม่ได้เรียนต่อสูงถึง 38.6% ดังได้กล่าวมาแล้ว และถ้าสมมติให้เด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษาไปในแต่ละชั้นเรียนไม่ได้กลับเข้ามาเรียนอีกจำนวนความสูญเสียจะมากขึ้น (ตารางที่ 1)

จากสถิติตัวอย่างความสูญเสียอันเกิดจากไม่สามารถรักษาอัตราคงอยู่ในช่วง 12 ปีของแต่ละขั้นปีมากกว่า 0.60 ล้านคน ทำให้ปัญหาการได้บุคลากรเมื่อถึงวัยทำงานได้มีความรู้และทักษะต่ำไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องนำนักเรียนอยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับกลับเข้าเรียนหนังสือและ/หรือเทียบการศึกษา (อาจจะโดย กศน.) เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความรู้ติดตัว (อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างน้อย) เพื่อสามารถเข้ารับการฝึกอบรมในระดับเหมาะสมกับวัยและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชารัฐ

ที่จริงแล้วการสูญเสียอันเกิดจากเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนทุกคนนั้นเป็นความสูญเสียเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ยังมีผู้ที่ทั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงานอีกส่วนคือคนว่างงานและข้อมูลส่วนอื่นๆ อีกซึ่งจะได้พูดถึงรายละเอียดต่อไป

จากตัวเลขจากตารางที่ 2 จะเห็นว่าเกือบ 1.2 ล้านคน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่สามารถสนับสนุนมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศและยังเป็นภาระให้กับประเทศอีกด้วย ถ้าตัดกลุ่มพระและเณรออกไปกลุ่มที่เหลือเข้าข่าย “เสียของ” คือ โดยเฉพาะผู้ต้องโทษหรือผู้อยู่ในสถานพินิจฯ ถึงแม้ว่าจะได้รับอิสระภาพแล้วแต่จะมีปัญหาในการเข้าทำงานในตลาดแรงงานในระบบเป็นส่วนใหญ่อันเกิดจากสังคมยังไม่เปิดกว้างยอมรับกำลังแรงงาน “มีตำหนิ”เหล่านี้ทำให้อยู่ในภาวะ “ถูกรอนสิทธิ” การช่วยเหลือกลุ่มนี้คือการส่งเสริมให้ทำงานอาชีพอิสระหรือสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเองผ่อนปรนกฎระเบียบให้รับผู้ต้องขังเข้าทำงานให้มากขึ้น

เมื่อย้อนกลับไปดูแผนภาพที่ 1 ประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ 36.65 ล้านคน ถ้าดูจากจำนวนแล้วจะเห็นว่าพลังในการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไม่เท่ากันเนื่องจากแรงงาน/คนทำงานมีคุณภาพ (การศึกษา) สูงต่ำแตกต่างกัน ถ้าจำแนกแรงงานกลุ่มนี้ออกไป 2 ส่วน คือแรงงานในระบบ (ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมีเพียงประมาณ 15.34 ล้านคน หรือ 41.2% เท่านั้น) ถ้าตัดนายจ้างออก 0.94 ล้านคน จะเหลือลูกจ้างเอกชนเพียง 14.4 ล้านคน

ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการสร้างรายได้ในรูปมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยจากกำลังแรงงานเพียง 41.8% เป็นแรงงานที่มีคุณภาพระดับ semi-skilled ขึ้นไป แต่กำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงาน (หรือคนทำงาน) นอกระบบ (ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย) จำนวน 21.31 ล้านคน หรือ 58.2% แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในภาคเกษตรถึง 11.04 ล้านคน มากกว่า 51.8% ของแรงงานนอกระบบ ส่วนมากมีคุณภาพ (ระดับการศึกษา) ระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าเกือบ 50% ทำการผลิตทางการเกษตรเชิงเดี่ยวมีผลิตภาพต่ำทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำมากอีก 10.27 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัวซึ่งมีจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการหารายได้ที่มั่นคงซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งที่จะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในระดับที่สูง(ช่วยสนับสนุนให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว)

สิ่งที่ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้วคือ พยายามนำประเทศไทยให้ก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางไปให้ได้ โดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศระยะยาว 20 ปี พร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมุ่งสู่นวัตกรรม 4.0 (ไทยแลนด์ 4.0) ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมๆ รวมเวลา 55 ปี พิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจได้ช้ากว่าประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กัน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย แต่ถ้าพิจารณาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจุดอ่อนของประเทศไทยคือ มีปัญหาที่การผลิตและพัฒนากำลังคน (ด้านอุปทาน) และปัญหาการผลิตและการค้าที่ขาดนวัตกรรม (ด้านอุปสงค์) แต่ประเทศไทยจะนิ่งนอนใจไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากการชะลอตัวของด้านอุปสงค์ (ต่อแรงงาน)

เนื่องจากผลิตภาพด้านการผลิตของไทยสู้ประเทศคู่แข่งและคู่ค้าที่เป็นประเทศพัฒนาใหม่ๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่ได้  เนื่องจากประเทศไทยยังติดกับดักเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่ำมาโดยตลอด สถานประกอบการขนาดใหญ่และเป็นผู้นำส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและนวัตกรรม นักลงทุนต่างประเทศและ/หรือไทยร่วมทุนกับต่างประเทศแต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังเป็นของต่างประเทศ “การพัฒนาที่ยืม จมูกคนอื่นหายใจ” ได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้แต่ไม่ยั่งยืน

การที่ประเทศไทยกำลังปรับโครงสร้างการผลิต/อุตสาหกรรมบริการในช่วง 20 ปีข้างหน้านับว่าเดินมาถูกทาง  แต่รัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการหรืออย่างน้อยจะพบว่า 1) ประเทศไทยยังขาดนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความสามารถระดับโลก สังเกตได้จากรายชื่อมหาวิทยาลัยวิจัยที่ไทยมีอยู่ติดลำดับไม่ถึง 100 ของโลก มีนวัตกรรมในรูปสิทธิบัตรค่อนข้างน้อยและมีผลงานวิจัยที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ค่อนข้างจำกัด มีผู้มีงานทำที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นับล้านคนแต่ส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่ศึกษา มีกำลังแรงงานเพียง 41% ของกำลังแรงงานที่อยู่ในข่ายสนับสนุนทั้งหมด 8.12 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรม (หรือ 21.8% ของกำลังแรงงาน) และมีแรงงานสาขาเทคนิคหรือจัดในกลุ่ม productive work force ไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งยังมีน้อยมากเทียบกับกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคน

ผู้เขียนจึงเสนอแนะกิจกรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. เด็กวัยเรียน ทุกคนต้องได้เรียนและระหว่างเรียนต้องรักษาอัตราคงอยู่ทุกชั้นเรียนให้ได้ใกล้เคียงกับ 100% ผู้บริหาร ศธ. ทุกระดับและครูทุกคนต้องรับผิดชอบกับคุณภาพเด็กนักเรียนทุกคนที่ไม่ได้มาตรฐานให้กลับมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศให้ได้
  2. เก็บตกเด็กวัยเรียนทุกคนให้ได้เรียนและ/หรือฝึกฝีมือแรงงาน เด็กและเยาวชนที่พ้นวัยเรียนรวมทั้งผู้ที่ตกจากระบบมาก่อนให้พวกเขาทุกคนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้ทุกคน
  3. ใช้กระบวนประชารัฐที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานความร่วมมือในการเตรียมผู้จบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง
  4. ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาทุกช่วงวัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
  5. รัฐควรจะต้องดูแลกำลังคนที่เป็นแรงงานในระบบและคนทำงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม

ดังนั้นก่อนที่จะคิดถึงอะไรที่ไกลความเป็นจริงรัฐก็ควรจะดำเนินการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง 5 ข้อข้างต้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป