ดร.วรวรรณ แนะรับมือค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงวัย ด้วยระบบประกันการดูแลระยะยาว

วันที่ 19 ธ.ค. 2560 มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดงาน ‘งานกับอุดมคติของชีวิต’ ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมีการเสวนา หัวข้อ สานฝัน สร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนถ้วนหน้า ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพฯ

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันสุขภาพประชาชน อนาคตอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย คือ ให้มีการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ผ่านระบบการให้บริการของประกันการดูแลระยะยาว โดยจะเก็บเบี้ยประกันจากประชากรวัยทำงาน วัย 40-65 ปี ปีละ 500 บาท และปรับขึ้นครั้งละ 500 บาท ทุก ๆ  5 ปี เพื่อจะช่วยให้ระบบยั่งยืนอยู่ได้

ทั้งนี้ เมื่อผู้สูงอายุได้รับการรับรองจากแพทย์ว่ามีภาวะติดบ้าน ติดเตียง จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนระบบการให้บริการของประกันการดูแลระยะยาว เพื่อมาใช้จ่าย โดยค่าวัสดุอุปกรณ์จะมาจากเบี้ยประกันของผู้ใช้บริการ ส่วนค่าจ้างผู้ดูแลเป็นการร่วมจ่ายของผู้ใช้บริการและรัฐบาลท้องถิ่นในอัตราคนละครึ่ง

ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 เป็น 3.4 แสนล้านบาท ในปี 2590 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยืนยันไม่ได้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน แต่การมีระบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดโอกาสการลงทุนในสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ เกิดอาชีพดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น แทนที่จะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งส่วนใหญ่สูงวัย และมีอาชีพหลักอยู่แล้ว” ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าว

ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ระบุผู้นำไม่ควรมีคำถามอีกแล้วในวันนี้ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรเดินหน้าต่อไปหรือไม่  หรือไม่ควรมีคำถามอีกแล้วว่า งบประมาณในการดำเนินนโยบายเพียงพอหรือไม่ เพราะองค์การสหประชาชาติรับรองให้วันที่ 12 ธ.ค. เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายมีผลดีต่อการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาวะผู้นำต้องทำ คือ จะทำอย่างไรให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนและสามารถใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในยุคต่อไป ไม่ว่าในระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง จะต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อนโยบายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อนเข้ามาทำงานด้วย

ขณะที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)กล่าวถึงระบบการสาธารณสุข ระบบการแพทย์ และการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดกลไกในการทำงานด้านต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีปัญหา เช่น ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลของรัฐ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการของแพทย์ ซึ่งถือเป็นความทุกข์ในระบบที่จะต้องเร่งจัดการให้ได้ จึงมีความพยายามส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง

“นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มีความสนใจในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงอยู่แล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลขึ้นมา แต่ขณะนี้ไม่ทราบเช่นกันว่า ระบบที่เกิดขึ้นมีพัฒนาการอย่างไร เพราะกำลังพบว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ได้ทำ ส่งผลให้งานเดี้ยงไปทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ระบบที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีกำลังมีปัญหา ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกบทบาทกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลขับเคลื่อนระบบการทำงานด้านการป้องกันโรค รวมถึงการสาธารณสุขอื่น ๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น” อดีต รมช.พม. กล่าว


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน สำนักข่าวอิศรา เมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ในชื่อ ดร.วรวรรณ ชี้ไทยส่อเผชิญวิกฤติการคลัง 30 ปีข้างหน้า ภาระดูแลผู้สูงวัยพุ่ง 3.4 แสนล.