พัฒนาคุณภาพครูสอนวิทยาศาสตร์ในยุค 4.0

เด็กไทยอ่อนวิชาวิทยาศาสตร์ จนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยระดับโลกมากจนใจหาย สังคมห่วงวิกฤตการศึกษาไทย จี้สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อการเรียน จัดหาวิธี สื่อการเรียนการสอนต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาเด็กไทย กระตุ้นต่อม “อยากรู้อยากเห็น” อีกทั้ง เนื้อหาการเรียนที่มากไป เลกเชอร์อย่างเดียวทำเด็กเบื่อ แนะเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ ยกเครื่องครู

ปฏิรูปครูไทย ยกเครื่องคณะครุศาสตร์

เมื่อ 5 ปีก่อน องค์กรสาธารณประโยชน์นานาชาติ หรือ พิซ่า  เปิดเผยผลประเมินผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ประจำปี 2555 ของนักเรียนไทยอยู่อันดับที่ 49 จากการประเมินพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา 65 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนเด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์สอบผ่านเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD เพียงร้อยละ 0.6 หรือคิดเป็น เด็กไทย 100 คนมีเด็กเก่งวิทยาศาสตร์เพียง 0.6 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนามีเด็กเก่งวิทยาศาสตร์อยู่ที่ระดับร้อยละ 9.6

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น ตัวพ่อวงการสิ่งพิมพ์แบบเรียน จะมาแนะนำการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำอย่างไรให้เด็กไทยอยากเรียนวิทยาศาสตร์แบบไม่ต้องบังคับ หรือเรียนจบแล้วเอาความรู้คืนครูไปหมด
“ครูเก่งที่สุดก็สอนให้เด็กรู้ได้แค่ในตำราแค่นั้น แต่ถ้าเด็กอยากรู้เอง ตรงนี้จะไม่มีขอบเขตจำกัดเลย”
“ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับในห้องเรียน และนอกห้องเรียนด้วย ในห้องเรียนครูต้องถูกเทรนมาให้มีทั้งความรู้ในวิชาที่สอน เช่น เรื่องวิทยาศาสตร์ แปลว่าครูต้องมีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่ดี ครูต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดด้วย 2 อย่างต้องไปด้วยกัน”

ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงความสำคัญของครูผู้สอนที่มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เด็กไทยรักวิทยาศาสตร์ “ประเทศที่มีการศึกษาวิทยาศาสตร์ดีๆ ครูจะเก่งมาก ของประเทศไทยจุดนี้ต้องไปช่วยฟื้นในส่วนของคณะครุศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเริ่มกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องมีกระบวนการสอนครูวิทยาศาสตร์ในคณะครุศาสตร์ที่ดีขึ้น ทุกวันนี้ส่วนที่เป็นทักษะการสอน กับส่วนที่เป็นเนื้อหาวิชา ไม่ค่อยเชื่อมกันดีสักเท่าไหร่ในเมืองไทย คือครูมีทักษะการสอนอยู่ ครูพอรู้เนื้อหาอยู่ แต่ 2 ส่วนนี้แยกคนละส่วน การสอนวิทยาศาสตร์ สอนคณิตศาสตร์ และสะเต็ม (STEM – เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ในต่างประเทศ ครูจะถูกฝึกให้เข้าใจว่า เวลาเด็กเข้าใจผิด เข้าใจผิดจากอะไร แปลว่าครูต้องมีความรู้วิชาการ พร้อมกับมีความรู้เรื่องการสอน และเข้าใจว่า แต่ละเรื่อง เข้าใจถูก เข้าใจผิด มันเป็นไปได้กี่ทาง ซึ่งประสบการณ์จะช่วย ฉะนั้น กระบวนการถ้าช่วยทำให้ปรับปรุงคณะครุศาสตร์ ให้สอนวิชาเก่งขึ้น โดยหามาสเตอร์ ทิชเชอร์ ที่เก่ง เริ่มมีโครงการแบบนี้ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีมของ อ.ไมตรี ก็จะช่วยยกระดับได้ ในเวลาเดียวกัน หลังจากครูเข้าไปประจำการแล้ว กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู จะช่วยทำให้ครูเรียนรู้จากกันและกัน จากแต่เดิมครูไปเรียนรู้จากคณะครุศาสตร์ ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักเรียน แต่ตอนนี้ครูมาเรียนรู้จากเพื่อนครูด้วยกัน ก็จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง”

อัปเกรดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ มองว่าพ่อแม่ก็มีส่วนช่วยเด็กอย่างมาก เพราะจะไปเอาทุกอย่างไปโยนใส่โรงเรียนก็ไม่ค่อยแฟร์กับโรงเรียน สิ่งแวดล้อมข้างนอกก็จะช่วยทำให้เด็กมีความตื่นตัวกระตุ้นต่อมอยากรู้ เช่นพ่อแม่พาลูกไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในวันหยุดแทนการพาไปชอปปิ้ง ทว่า พ่อแม่ยังสามารถเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับลูกได้อีกด้วย
“ผมไปเดินมาหมดพิพิธภัณฑ์ เกือบทุกเมืองใหญ่ในต่างประเทศ ของไทยผมพูดตรงๆว่า ขี้เหร่หน่อยเมื่อเทียบกับชาติอื่น อุปกรณ์ต่างๆ ทีแรกลงทุนไว้ทำไว้ดี แต่ไม่ค่อยบำรุงรักษาให้ใช้ได้ และไม่ได้อัปเกรดให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก็ยังเป็นของจักรกลง่ายๆอยู่ในโรงเรียนแน่นอนว่าแต่ละโรงเรียนมีทุนทรัพย์จำกัด จึงต้องทำโดยใช้วัตถุหาได้ในประเทศ ทำโดยวิธีฉลาด เอาของง่ายมาทำ และให้สนุก เกิดจินตนาการได้ แต่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการลงทุน ต้องลงทุนให้สื่อสาร และเกิดความดึงดูดให้มากๆ ไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯ เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ที่คลอง 5 รังสิต ตอนลงทุนทีแรก เป็นของที่ดีมาก แต่หลังๆตามไม่ทันแล้ว ต้องลงทุนเพิ่ม และต้องไปให้ไกลมากกว่ากรุงเทพฯด้วย ทำไมเด็กจากแม่ฮ่องสอนต้องนั่งรถบัสเพื่อมาดูพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ ตัวเมืองใหญ่ๆ ต่างจังหวัดก็ควรมี”

สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อการเรียน

นอกจากนี้ การสร้างสิ่งแวดล้อมนอกโรงเรียน นอกห้องเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ก็เป็นส่วนสำคัญ “อย่างเปิดทีวีมา มีรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แถวบ้านก็มีพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุด มีหนังสือดีๆ ดังนั้น การสอนวิทยาศาสตร์เชิงรุกในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นต้องมี 4 I” 1. Inspiration สร้างแรงดลใจ 2. Insight เห็นข้อมูล เห็นข้อเท็จจริง เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ มานั่งตรึกตรองดูว่า อะไรทำให้เกิดอย่างนั้นขึ้นมา 3. Intuition เกิดญาณทัศน์ ไม่ต้องมีใครมาบอกอะไรเลย ปิ๊งขึ้นมาเลย และ 4. Imagination เพราะถ้าเกิดความอยากรู้อยากเห็น เขาจะเริ่มหาค้นคว้า ยุคนี้ดีกว่าสมัยก่อนเยอะ มีสื่อออนไลน์ต่างๆที่สามารถค้นคว้าได้เองได้มหาศาล ถ้ามีความสนใจ คือเด็กไทยได้เหรียญทองโอลิมปิก คณิตศาสตร์ เคมี กันพอสมควรอยู่ อาจจะไม่ได้มากที่สุด แต่ ปัญหาใหญ่ คือระดับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสะเต็ม การศึกษาโดยรวมของไทย คุณภาพโดยรวมต่ำนั่นเอง ถ้าจะพูดถึงโรงเรียนท็อปๆ อย่างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนเตรียมฯ เขาไปได้ในเวทีระดับโลก แข่งได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือโรงเรียนท้องไร่ท้องนา บนภูเขา แต่อย่าไปเข้าใจผิดว่า เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะไม่ต้องมาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์สมัยใหม่เลย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา ดีมากเลย เด็กอยู่หลังเขื่อนแต่ทำไมต้องมาเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพราะถ้าไม่เรียนรู้ถึงเป็นคนจับปลาก็โดนโกงเพราะคิดเลขไม่เป็น เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าใจวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการทำเกษตร วิธีการทำประมง อาชีพของตัวเอง ก็จะทำแบบฉลาดขึ้น เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้”

เลิกตั้งคำถาม “ความจำ” เปลี่ยนเป็น “ทำไม”

นอกจากนี้ คุณตะวัน ยังแนะว่า การเรียนรู้ที่ดี ครูควรเริ่มต้นด้วยคำถามที่กระตุ้น ว่า “ทำไม” ถ้าครูพลิกมุมคิดจากที่ว่า เดิมถามคำถาม “ความจำ” แต่เปลี่ยนเป็นคำถามว่า “ทำไม” ง่ายๆ แค่นั้นเอง ครูทุกคนทำได้หมด ก็จะทำให้เด็กเกิดความกระหายอยากจะค้นคว้าหาความรู้ การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเรียน จะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ครูยืนข้างหน้า และเด็กๆ นั่งเป็นแถว แต่ทุกคนปฏิสัมพันธ์กัน กระตุ้นให้อยากรู้ ร่วมกันหาองค์ความรู้นั้นๆ อนาคตของห้องเรียน คือ Active Learning มีปฏิสัมพันธ์กันเยอะๆสังคมโยนความรับผิดชอบไปที่ครู กับกระทรวง มากไป คนก็จะด่าการศึกษาแย่ ว่ากระทรวง ความอยากรู้อยากเห็นสามารถสร้างให้ลูกได้ตลอดเวลา อย่างพ่อแม่เดินเล่นอยู่กับลูก เห็นใบไม้ร่วง ก็ตั้งคำถามลูกว่า หน้าหนาวทำไมต้องใบไม้ร่วงด้วย เพียงแค่นี้ก็ทำให้ลูกอยากหาคำตอบ

นอกจากนี้ คุณตะวัน ยังเสริมว่า ไม่ว่าโรงเรียนไหนก็สามารถมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีได้ ถ้าครูผู้สอนกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความ “อยากรู้อยากเห็น” จะยิ่งทำให้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์สนุกสนาน “ห้องเรียนในประเทศไทยพร้อมหมด แค่เติมความน่าสนใจเข้าไป” “ปัญหาการเรียนไม่ได้อยู่ที่เด็ก เด็กฉลาดทุกคน ปัญหาอยู่ที่เขาผ่านกระบวนการอย่างไร อย่างเด็กไทยผ่านกระบวนการหนึ่ง เด็กสิงคโปร์ผ่านกระบวนการหนึ่ง ดังนั้นออกมาไม่เหมือนกัน กระทรวง โรงเรียน ครู สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราต้องมาหาวิธีการที่ทำให้กระบวนการนั้นออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ดีได้ ขณะนี้มีภาคส่วนต่างๆ พยายามทำโปรเจกต์มากมาย ปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่การพัฒนาครู คอนเทนต์ หรือเปลี่ยนแปลงกรอบนโยบายต่างๆ” กระตุ้นต่อมกระหายอยากรู้ ส่วนในห้องเรียน ถึงแม้ว่าบางโรงเรียนจะไม่มีทรัพยากรมาก แต่ก็สามารถทำให้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์น่าสนใจได้ แม้แต่การเพาะปลูกต้นไม้ เป็นต้น “อย่างเช่นในท้องถิ่นหนึ่งดินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกต้นไม้ทางเศรษฐกิจ ให้เด็กๆช่วยกันปรับค่า PH หน่อย เด็กๆ ก็ไปวัดค่า PH จะปรับด้วยอะไร จะเอาอะไรเข้าไปปรับ เสนอวิธีการปรับปรุง ทำให้เขาต้องคิดเรื่องวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องคิดถึงการแก้ปัญหาท้องถิ่นของเขา เอาความคิดเรื่อง การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดสร้างสรรค์ หาโซลูชันด้วยตัวเอง”

แม้แต่ หนังสือเรียนควรปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย น่าสนใจ เห็นภาพให้ชัดเจนมากขึ้น “คอนเทนต์ที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือเรียนต้องหน้าตาเปลี่ยนไป ต้องขมวดความรู้ หนังสือเรียน 6 หน้าถูกรวมคอนเทนต์ให้เหลืออินโฟกราฟิกหน้าเดียว อย่างเรียนเรื่องสึนามิ ต้องมีมีเดียที่ประกอบให้ครูจัดการห้องเรียนให้น่าตื่นเต้น เพราะเกิดสึนามิขึ้นในภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องใกล้ตัว จากนั้นก็อภิปรายกันว่าจะป้องกันเหตุภัยพิบัติอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโลกเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไหร่ ก็ต้องใช้ตรีโกณมิติ (Trigonometry) มาวัด คำนวณเส้นผ่านศูนย์กลางรอบด้าน เป็นเรื่องของ Curiosity (ความอยากรู้อยากเห็น) เมื่อเด็กๆอยากรู้ กระหาย ก็อยากทดลอง ทดสอบ ไม่ว่าจะเด็กไทย เด็กต่างประเทศ มีความอยากรู้ กระหายเหมือนกันหมด เพียงแต่กระบวนการที่ถูกหลอมขึ้นมาค่อยๆทำให้เด็กไทยเราเป็นแบบนี้ สิงคโปร์เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราทำให้กระบวนการดีขึ้น ผมว่าให้เด็กไทยไปเรียนที่โรงเรียนดีๆ ก็ออกมาดี

ประเทศไทยก็ไม่ได้ห่วยนะ มีโรงเรียนที่น่าชื่นชมมากมาย เช่น โรงเรียนมหิดล โรงเรียนกำเนิดวิทยาลัย เพียงแต่ปัญหาของเราไม่ใช่การขาดโรงเรียนต้นแบบ แต่จะกระจายสิ่งเหล่านั้นให้ออกไปตามโรงเรียนบ้านๆ ทั่วไปได้อย่างไร

เราต้องทำให้ครูวิทยาศาสตร์ที่มีหลายหมื่นคนในประเทศ เกิดแรงบันดาลใจในวงกว้าง ครุศาสตร์ต้องดี กระบวนการ Inservice Training ในระหว่างทำงานไปก็ต้องมีการอบรม สัมมนาให้เห็น ลงมือทำจริง จากนั้นครูก็มาอภิปรายกันว่า ที่ทำไปเรียนรู้อะไรได้ ประยุกต์ให้สอนกับลูกศิษย์ได้อย่างไร เด็กๆ ก็ลงมือทำ ทำให้เกิดขึ้นได้จริง ควรนำเรื่องที่ยากๆ ให้เป็นไปได้จริง

ล่าสุด อักษร เอ็ดดูเคชั่น ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์การบริหารสถานศึกษา และการบูรณาการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) สำหรับผู้เรียนวิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 ภายใต้กรอบแนวคิดเตรียมความพร้อมสู่การศึกษาวิทยาศาสตร์ยุค Thailand 4.0 ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรก โดยมุ่งเน้นให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษา สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบสะเต็ม (STEM Education) ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ทั้ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และได้ฝึกฝนทักษะอันจะส่งผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อผู้เรียน ตอบสนองโลกการศึกษาในยุค Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ในชื่อ ยกเครื่องคุณภาพครูฉุดเด็กไทยล้าหลังวิชาวิทยาศาสตร์อ่อนเปลี้ย!?