อนาคต 15 ปี ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทย

“ทีดีอาร์ไอ” เผย ผลศึกษาวิจัยค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยในอนาคตพบเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ งบรักษาพยาบาลบานปลายทั้ง 3 กองทุน ป่วย 5 โรคเรื้อรัง ต้องใช้งบสูงถึง 1.4 ล้านล้าน แนะรัฐนำมาตรการส่งเสริมป้องกันโรคมาใช้ และควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการศึกษา “การประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของการสร้างเสริมสุขภาพ ” ว่า จากการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพคนไทย ในช่วง 15 ปี ข้างหน้าสุขภาพคนไทยจะเป็นอย่างไร โดยนำข้อมูลสุขภาพของทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย สวัสดิการข้าราชการ,ประกันสังคมและสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ เปรียบเทียบและวิเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2545-2560 พบว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2545 อยู่ที่ 9.32% ในปี 2550 อยู่ที่ 13% คาดว่าในอนาคตจะยิ่งสูงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มวัยเพราะประชากรไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ จากการประเมินสัดส่วนของอัตรารายได้กับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะพบว่าหากมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า อัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้น 1 เท่าเช่นกัน และคาดว่าในอีก 15 ปี ข้างหน้า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หากรัฐไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เช่น การส่งเสริมและป้องกันโรค ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคเพื่อลดต้นทุนการรักษา เป็นต้น บวกกับหากเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 1.825 ล้านล้านบาท

แต่หากรัฐควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 1.319 ล้านล้านบาท และยังพบว่า ในสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยังมีบางส่วนอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เช่น วิตามินหรืออาหารเสริมด้านความงาม โดยปัจจัยภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นเรื่องของกำลังทรัพย์

เผย5โรคดันค่าใช้จ่าย
นายณัฐนันท์ กล่าวว่าจากการศึกษา พบว่า สัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นยังคงหนีไม่พ้น 5 กลุ่มโรค โรคอ้วน,โรคความดันโลหิตสูง ,โรคโลหิตจาง,โรคข้ออักเสบ, โรคเบาหวาน ทั้งนี้แนวทางในการแก้ไขสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐต้องเร่งหานโยบายแนวทางรองรับประชากรผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค เพราะ 5 โรคที่พบเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม การรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย “จะเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าจำเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้สูง ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาจเพราะกลุ่มคนนี้มีตัวเลือกในการใช้บริการในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อวิตามินต่างๆมากินมากขึ้น เป็นต้น แต่ไม่ได้แปลว่ากลุ่มคนมีรายได้สูงจะไม่ซื้อมากิน อาจจะซื้อมากินเช่นกันแต่ไม่ได้กระทบกับรายได้ของเขา สำหรับคนรายได้สูงจึงยังถือเป็นสินค้าจำเป็นได้” นายณัฐนันท์กล่าว

แจงค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อดูเรื่องภาวะการเจ็บป่วยกับสถานการณ์สังคมสูงวัยของไทย พบว่า คนไทยจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เรื้อรังมานาน โดยปี2551 ค่ารักษาพยาบาลใน 5 โรคนี้มีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท หากคนไทยป่วย 5 โรคนี้อยู่ที่ 18.25 ล้านคนต่อปี ที่เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 3.35 แสนล้านบาทต่อปี

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า โดยสรุปการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ไทยหรือประชากรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และภาวะการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ รวมถึงควรกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถป้องกันได้

“อัมมาร”แนะคุมเพดานค่ารักษา
ด้านนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้และควรทำอย่างมากที่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คือการควบคุมอัตราเพดานค่ารักษาพยาบาลให้เหมาะสม เพราะการรักษาโรค การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา ควรจัดเป็นสินค้าควบคุม กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการควบคุมได้และไม่ควรปล่อยให้มีการเปิดเสรีด้านสุขภาพ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 24 มกราคม 2561 ในชื่อ ห่วงค่าใช้จ่ายสุขภาพ15ปีพุ่ง1.4ล้านล้าน