ทีดีอาร์ไอ เผยผลประมาณค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยตามหลัก OECD อีก 15 ปี อาจสูงเกิน 1.4 ล้านล้านบาท

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าตามหลัก OECD  จะมีค่าประมาณ 4.8 – 6.3 แสนล้านบาท เมื่อผนวกกับปัจจัยสังคมสูงวัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 – 1.8 ล้านล้านบาท แม้รายได้ทั้งประเทศและต่อหัวเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  พบโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคในระบบไหลเวียนโลหิต โรคเบาหวาน และโรคในระบบหายใจ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพใน 3 กองทุน แนะรัฐจัดฐานข้อมูลค่าใช้จ่ายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีนโยบายรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่ชัดเจน และมีแผนป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ

งานแถลงข่าว “อีก 15 ปีข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร” จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยผลศึกษาจากโครงการ การประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในอดีตถึงปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 10 ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2545 เป็นประมาณร้อยละ 13 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ

ดังนั้น การประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงเป็นส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐในการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น การส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย รวมถึงการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

การประมาณการค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ ได้ใช้กรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปี พ.ศ. 2556  ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประมาณการค่าใช้จ่าย health care และ long-term care ในอีก 50 ปีข้างหน้าของประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศอื่น ๆ โดย พิจารณาผลกระทบจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1) ปัจจัยด้านประชากร เช่น โครงสร้างอายุ สุขภาพของประชากร และ 2) ปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น รายได้ เทคโนโลยีในการรักษา นโยบายของรัฐ เป็นต้น

เมื่อนำหลักการของ OECD มาปรับใช้กับประเทศไทย เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายในอีก 15 ปี โดยการเปรียบเทียบอัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าความยืดหยุ่นของรายได้ต่อค่ารักษาพยาบาล

พบว่า หากประเทศหรือประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มในอัตราส่วนที่น้อยกว่า (ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 0.8 เท่า) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ  4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท

แต่หากรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เทียบเท่ากันกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้น 1 เท่า) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทย จะมีค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้ เมื่อใช้ข้อมูลรายได้จริงของประเทศหรือประชากรในประเทศไทย พบว่า รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น 1 เท่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าคือ 0.85 เท่า แต่หากพิจารณาแบบต่อหัว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงถึง 3.54 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้มาก จากข้อค้นพบนี้จึงต้องพิจารณาต่อไปในระดับกองทุนว่ามีสินค้าหรือบริการใดบ้างที่จัดว่าเกินความจำเป็นหรือไม่มีผลต่อการรักษาพยาบาลโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐเผชิญความท้าทายในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทั้ง 3 กองทุนมาโดยตลอด เนื่องจากแต่ละกองทุนมีแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการแตกต่างกัน แต่ทั้ง 3 กองทุน ก็ยังอยู่ในการควบคุมของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยภายในที่รัฐสามารถบริหารจัดการได้

แต่ปัจจัยภายนอกที่สำคัญและยากต่อการควบคุม เช่น  โครงสร้างประชากร โครงสร้างอายุ สังคมสูงวัย โรคภัยและความเจ็บป่วยของประชาชน นั้นจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะการเจ็บป่วยและสังคมสูงวัย ต่อค่าใช้จ่ายของสวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐใน 3 กองทุน พบว่าโรคที่ประชากรไทยป่วยสูงสุด 5 อันดับโรคตามลำดับ คือ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคข้ออักเสบ และโรคเบาหวาน เมื่อผนวกกับปัจจัยโครงสร้างอายุทำให้ทราบว่าโรคเหล่านี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งสังคมสูงวัยอย่างไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่ผลวิเคราะห์โครงสร้างอายุ และโรคต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจาก 3 กองทุน สรุปได้ว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างมาก โดยกลุ่มโรคที่ส่งผลมากที่สุดคือกลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิต รองลงมาคือโรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังของระบบหายใจตามลำดับ

เพื่อเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น  รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาหาแนวทางที่ทำให้แนวคิด ข้อสมมติและวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถานพยาบาลเป็นบรรทัดฐานเดียวกันและเปรียบเทียบกันได้ เพื่อความสะดวกและความชัดเจนต่อการประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคตของทั้งประเทศ

รัฐบาลควรมีนโยบายพร้อมมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ที่งานวิจัยนี้พบว่าจะส่งผลเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้สูงขึ้นอีกมาก อีกทั้ง ควรกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคใน

กลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังเนื่องจากโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาได้ ช่วยลดโอกาสที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว