นโยบายแก้จนฉบับ คสช.

สมชัย จิตสุชน

ผลงานหนึ่งที่น่าสนใจของรัฐบาล คสช. คือความพยายามจัดการกับปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลนี้ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ คือระบุตัวตนคนจนที่ใช้เกณฑ์รายได้หรือความมั่งคั่งเป็นหลัก แทนที่จะใช้เกณฑ์อาชีพ อายุ การศึกษาซึ่งเป็นเกณฑ์ที่หละหลวมไม่เหมาะกับประเทศไทยที่มีความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจเกินกว่าที่จะบอกว่าคนอาชีพใดเป็นคนจนแน่ๆ เป็นต้น

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การที่นโยบายจำนำข้าวให้ประโยชน์กับชาวนาที่ร่ำรวยมากกว่าชาวนาจนหลายเท่า จนกล่าวได้ว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจนในแง่ความคุ้มค่าของการใช้เงินและน่าจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำไป

แน่นอน ผมกำลังพูดถึง “การจดทะเบียนคนจน” หรือชื่อทางการว่า โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาล คสช. เปิดให้ผู้ที่คิดว่าหรืออยากให้รัฐบาล คิดว่า ตนเองเป็นผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียน ความจริงเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่เสียทีเดียวต่างกันที่กระทรวงการคลัง ผู้รับผิดชอบการลงทะเบียนมีความพยายามที่ชัดเจน และน่าชมเชยในการคัดกรองผู้มีฐานะดีออกจากฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบรายชื่อกับ 26 หน่วยงาน ในเรื่องการมีที่ดิน การเสียภาษี เงินฝากธนาคาร หรือการขอความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดส่งนักศึกษาไปสัมภาษณ์ผู้มาลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคน

เมื่อได้รายชื่อ ‘ผู้มีรายได้น้อย’ แล้วรัฐบาล ก็เริ่มออกนโยบายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเฟสแรกที่ให้วงเงินซื้อของจากร้านธงฟ้า ให้ขึ้นรถเมล์ฟรี ลดค่าก๊าซหุงต้ม

แต่ที่น่าสนใจแนวทางในเฟส 2 ที่ผมคิดว่ามีความ ‘ก้าวหน้า’ ของแนวทางแก้ปัญหาความยากจนอย่างน่าชมเชยใน 2 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาแบบรายบุคคล โดยมี ทีมหมอประชารัฐสุขใจเข้าไปศึกษาและหาทางแก้ปัญหาให้ผู้มีรายชื่อทีละคน และ การบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องจาก หลายกระทรวง

แต่ผมอยากพูดถึงคุณภาพฐานข้อมูลมากกว่า เพราะแนวทางแก้ปัญหาแม้จะดี เพียงใดแต่ถ้าฐานข้อมูลคนจนไม่แม่นก็ไม่มีทาง ‘ขจัด’ คนจนให้หมดไปจากประเทศได้ โดย ฐานข้อมูลอาจไม่แม่นยำได้จาก 2 สาเหตุ คือ (ก) คนไม่จนมาลงทะเบียน เรียกกลุ่มนี้ ว่าคนอยากจน (ข) คนจนตัวจริงไม่ได้มาลงทะเบียนขอเรียก คนกลุ่มนี้ว่าคนจนตกหล่น

รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือกระทั่งนายกรัฐมนตรี ดูจะให้ความสำคัญกับปัญหาคนอยากจน มากกว่าคนจนตกหล่น เรื่องนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามจะ ‘บูรณาการ’ นโยบายแก้จนจากทุกหน่วยงานโดยใช้ฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐเป็นตัวกำหนดว่าใคร จะได้รับความช่วยเหลือและใครไม่ได้ และละทิ้งการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวิธีอื่น

น่าเป็นห่วงที่สุดว่าจะมีคนจนตกหล่น 7-8 แสนคน ที่อาจเคยได้รับความช่วยเหลือจากบางนโยบายต้องเสียสิทธิ์นั้นไป เพราะไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือมีคน 1.7 แสนคน ที่มีชื่อลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดยากจน แต่ไม่มีชื่อในฐานข้อมูลลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยพบว่าในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้มีฐานะยากจนจริง

ในตอนแรกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวคิดที่จะตัดหรือชะลอสิทธิ์ของคนกลุ่มนี้ ดีว่าเปลี่ยนใจในตอนหลัง แต่ก็ยังกึ่งบังคับกึ่งแนะนำให้คนกลุ่มนี้ไปลงทะเบียนคนจน

ปัญหาที่ 2 ของการบูรณาการความช่วยเหลือโดยอิงกับฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังมีปัญหาความแม่นยำสูงนี้ คือ ในการรับลงทะเบียนรอบต่อไปเชื่อว่าจำนวนคนอยากจนจะเพิ่มขึ้นมาก ผมเดาว่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนจะมาลงทะเบียนรอบหน้า ซึ่งกระทรวงการคลังก็คงคัดกรองออกไม่ได้มากเหมือนเช่นรอบล่าสุด

สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักคืออย่ายึดถือว่า ฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐในตอนนี้เชื่อถือได้เกิน 80% จนละเลยวิธีการเข้าถึงคนจนรูปแบบอื่น และควรมีกลไกปรับปรุงฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เช่นใช้ Account Officers (AO) ตามนโยบายการให้ความช่วยเหลือแบบรายบุคคลให้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลด้วยไม่ว่าจะเป็นการเอารายชื่อคนอยากจนออกไปและการเอารายชื่อคนจนตกหล่นใส่เข้ามา จนกว่าเราจะมีฐานข้อมูลคนจนที่แม่นยำจริงๆ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือรายบุคคลอย่างเหมาะสม จึงจะประกาศได้ว่าคนจนหมดไปจากสังคมไทย


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2561 ใน กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: นโยบายแก้จนฉบับ คสช.