ดูแลป่าอนุรักษ์ไทย จัดสรรการเงินการคลัง อย่างไรให้สมดุล: ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ

ร้อยละ 22 ของพื้นที่ประเทศไทย คือ ‘ป่าอนุรักษ์’ ซึ่งในอนาคตจะต้องเพิ่มอีกร้อยละ 3 เพื่อให้ถึงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2579 หรืออีก 18 ปีข้างหน้าตามเป้าหมายกรอบยุทธศาสตร์ชาติกำหนด

แม้การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ภารกิจเพิ่มพื้นที่ป่าและการอนุรักษ์ป่าเดิมไว้ยังคงเผชิญความยากลำบากและความท้าทายจากปัญหาการบุกรุกป่า ตัดไม้ ทำลายป่า และ การลักลอบฆ่าสัตว์ป่า อย่างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่และสังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในระยะนี้

ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอชวน คุณ ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ หัวหน้าทีมวิจัย เรื่อง กลไกการจัดการด้านการเงินการคลังของพื้นที่อนุรักษ์ : กรณีเขตผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มาเล่าถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยในด้านการบริหารจัดการงบประมาณ และการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ที่ไม่สมดุลกับต้นทุนในการดูแลป่าอนุรักษ์ นำไปสู่ข้อเสนอกลไกช่วยเพิ่มศักยภาพการดูแลป่าอนุรักษ์จากทุกฝ่ายร่วมกัน

คุณ ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ

ป่าไม้ของไทยถูกจัดสรรและแบ่งการดูแลไว้หลายประเภท อย่างป่าอนุรักษ์ ที่กำลังเป็นข่าว (กรณี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’) นั้น มีพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกับป่าประเภทอื่นอย่างไร

ปริญญารัตน์: คำว่า ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมทั้ง อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤษศาสตร์ และ สวนรุกขชาติ

อุทยานแห่งชาติ คือ พื้นที่คุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ มีความโดดเด่นของวิวทิวทัศน์ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ส่วน วนอุทยาน คือ พื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่มีความเด่นในระดับท้องถิ่น มีพื้นที่ประมาณ 500-5,000 ไร่

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างปลอดภัย เพื่อให้สัตว์ป่าในพื้นที่ได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น กำกับโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งทุ่งใหญ่นเรศวร ก็อยู่ในส่วนนี้

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า คือ พื้นที่ที่ทางราชการได้กำหนดได้กำหนดไว้ให้เป็นที่ที่สัตว์ป่าได้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นได้อย่างปลอดภัย  มีการเจาะจงชนิดพันธุ์ของสัตว์ที่ห้ามล่าในบริเวณนั้นๆ และสวนพฤษศาสตร์ คือ สวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งไทยและต่างประเทศ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและความสวยงาม ส่วน สวนรุกขชาติ หมายถึง สวนเล็ก ๆ มีพื้นที่น้อยกว่าสวนพฤกษศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นต่างๆ ไว้

ในขณะที่ภาครัฐมุ่งเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ตามเป้ายุทธศาสตร์ชาติ แต่ในอีกด้านกลับมีการตั้งข้อสังเกต ต่องบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ที่อาจมีน้อยไป งานวิจัยที่ศึกษาสามารถตอบเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ปริญญารัตน์: จากการศึกษาเห็นแนวโน้มของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และงบฯ นั้นเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การเพิ่มของงบประมาณต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการในอนาคตอย่างยั่งยืน ข้อเสนอหนึ่งของงานวิจัย จึงเป็นเรื่องของการเพิ่มวิธีการหารายได้ แต่หารายได้เพิ่มอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะเมื่อศึกษาลงในเชิงโครงสร้าง ระบบการเงินการคลังสำหรับป่าอนุรักษ์แล้ว เราพบ ความไม่สมดุลเรื่องงบฯ กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่

ที่มา: ข้อมูลสถิติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2550-2559

ที่ผ่านมาการดูแลป่าอนุรักษ์มีแหล่งเงินสนับสนุน  2 แหล่งหลัก คือ 1) งบประมาณจากรัฐ ที่ส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ 2) รายได้นอกงบประมาณ เช่น รายได้จากการท่องเที่ยว และเงินช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นค่าดูแลรักษาพื้นที่ การลาดตระเวน รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ อีกทั้งค่าบริหารจัดการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

แต่ในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เราศึกษาประมาณ 81 แห่ง บางแห่งมีการจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยว บางแห่งไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว รายได้หลักส่วนใหญ่จึงได้รับจากงบประมาณส่วนกลาง ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ

โดยงบประมาณที่ได้จากรัฐ ร้อยละ 60 แบ่งเป็นรายจ่ายให้กับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนประชากรภายในรัศมี 5 กิโลเมตร กับจำนวนเจ้าหน้าที่ และจำนวนเงินที่ลงไปในพื้นที่พบว่ายังไม่สมดุล

เราพบว่าโดยเฉลี่ยพื้นที่ป่า 6,250 ไร่ มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง 3 คน และมีงบประมาณสนับสนุน 198,000 บาท และข้อมูลในปี 2554 ชี้ว่าเรามีต้นทุนงบประมาณที่แบ่งให้การป้องกันพื้นที่ป่าเพียง 73,400 บาท ต่อ 6,250 ไร่ ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าที่ต้องดูแล หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็พบว่างบประมาณของไทยต่ำกว่ามาก เช่น สหรัฐอเมริกามีงบประมาณ มากถึง 600,000 กว่าบาท ต่อ 6,250 ไร่

เมื่อศึกษาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่เล็ก กลาง ใหญ่ของป่าอนุรักษ์ไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เราศึกษานั้น ส่วนหนึ่งมีจำนวนงบประมาณและสัดส่วนเจ้าหน้าที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของแต่ละกลุ่ม โดยพื้นที่อนุรักษ์ขนาดเล็กมีเจ้าหน้าที่ 4 คน ต่อ 6,250 ไร่ มีงบประมาณสนับสนุน 417,000 บาท ป่าขนาดกลางและขนาดใหญ่เฉลี่ยมีเจ้าหน้า 1-2 คน ดูแลป่า 6,250 ไร่ ด้วยงบประมาณสนับสนุน 61,000-189,000 บาท

สังเกตได้ว่าพื้นที่ขนาดเล็กมีงบฯ และคนเยอะกว่าขนาดใหญ่ สรุปคือ การลงทุนเพื่อดูแลและเพิ่มพื้นที่ป่ายังไม่เพียงพอ และเหลื่อมล้ำทั้งจำนวนคนและเงินที่ลงไปในพื้นที่

ความไม่สมดุลที่ว่าเกิดจากอะไร

ปริญญารัตน์: ปัญหาแรกคือ ความเป็นอิสระในการบริหารรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจาก อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่งแม้จะหารายได้จากการท่องเที่ยว เช่น ค่าบริการเข้าชมพื้นที่อนุรักษ์สำหรับนักท่องเที่ยวและยานพาหนะ ค่าตอบแทนที่พัก หรือการสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ  เช่น เงินช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก เงินบริจาค ได้เอง แต่ต้องส่งรายรับเข้าส่วนกลาง และจัดสรรเงินรายรับจากการท่องเที่ยวเป็นหลายส่วน ได้แก่ การเขียนข้อเสนอโครงการส่งไปให้คณะกรรมการคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาพื้นที่อนุรักษ์เพื่ออนุมัติจัดสรรรายได้ให้พื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติม ไม่เกิน ร้อยละ 50 บริหารจัดการภายในพื้นที่อนุรักษ์ร้อยละ 15 สร้างเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 10 งบสำรองไว้ใช้ส่วนกลาง ร้อยละ 20 และ จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร้อยละ 5  ตามกรอบกฎหมายกำหนด

ที่มา: ข้อมูลสถิติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2550-2559

การเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เมื่อเทียบกับการเติบโตของงบประมาณแล้ว พบว่ายังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ อุทยานเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น แต่เทียบกับที่ได้รับงบประมาณกลับคืนมาในปีนั้นๆ กลับไม่มากเท่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2557-2559

ดังนั้นเงินรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวบางส่วนไม่ได้เป็นของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมดแต่ต้องส่งให้ส่วนกลางและเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอสนับสนุนเงินเพิ่มเติม  ซึ่งงานวิจัยเราเสนอให้เพิ่มสัดส่วนเงินรายได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากขึ้น

ปัญหาที่สอง คือ การแบ่งพื้นที่เพื่อจัดสรรงบประมาณตามหน่วยอนุรักษ์ สร้างความเหลื่อมล้ำในการบริหารจัดการดูแลของแต่ละพื้นที่ เพราะที่ผ่านมางบประมาณที่จัดสรรลงไป ในทางทฤษฎีจะวัดจากขนาดพื้นที่ ความล่อแหลมของพื้นที่ การลักลอบล่าสัตว์ ความรุนแรงของปัญหาบุกรุก ประเภทสัตว์ป่า จำนวนชุมชน จำนวนนักท่องเที่ยว และการเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ รวมถึงจำนวนหน่วยพิทักษ์ว่ามีอยู่เท่าไร ไม่ได้แบ่งตามศักยภาพของกิจกรรม และทรัพยากรในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน

อย่างอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีความขัดแย้งของชุมชนกับเจ้าหน้าที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งบางพื้นที่มีความหลากหลายของกิจกรรมและทรัพยากรต่างกัน เช่น บางแห่งมีทรัพยากรหายากอย่างชมพูภูคา ที่เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว บางแห่งมีพันธุ์สัตว์หายาก ดังนั้นต้องนำเรื่องนี้มานับเป็นเกณฑ์หนึ่งในการได้รับเงินจัดสรร

คุณ ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ

การปรับการจัดสรรงบประมาณจากแบ่งตามหน่วยอนุรักษ์เป็นแบ่งตามผืนป่าจะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณดีกว่าเดิมอย่างไร

ปริญญารัตน์: ปกติเราจัดสรรงบตามพื้นที่อนุรักษ์ แต่ถ้าเราจัดการพื้นที่เป็นรายผืนป่า เช่น ผืนป่าตะวันตกที่ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 17 แห่ง ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งรวมทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ให้จัดการเป็นผืนป่าเดียวกัน จะช่วยแบ่งภาระต้นทุนกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เพื่อการกระจายได้อย่างทั่วถึง และลดความทับซ้อนในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่

ในด้านงบประมาณ จากการงานวิจัยที่ศึกษา ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย อุทยาน 4 แห่ง  ได้แก่ เขาใหญ่ ทับลาน ตาพระยา ปางสีดา  และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ ป่าดงใหญ่ พบว่า อุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง สามารถจัดเก็บรายได้รวมเป็นเงิน 67.146 ล้านบาทในปี 2555 โดยรายได้ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.54 มาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ รายได้ทั้งหมดหลังส่งเข้าส่วนกลาง ได้ถูกจัดสรรตามคำขอใช้เงินรายได้ในปี 2555 ทั้ง 4 อุทยาน รวม 62.37 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับงบประมาณมากที่สุด รองลงมาคือ ตาพระยา ทับลาน และปางสีดา ตามลำดับ

ส่วนในกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ นอกจากไม่มีการจัดเก็บรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยวแล้ว ยังได้รับการจัดสรรเงินรายได้เพื่อเพิ่มประสทธิภาพการจัดการดูแลป่าดงใหญ่ที่ค่อนข้างจำกัด

หากเราปรับให้มีการดูแลทั้งผืนป่า โดยมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจาก 5 แห่ง ดูแลร่วมกันทั้งหมด  แต่ละคนจะรู้ว่าแต่ละจุดมีการดูแลเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง แต่ละผืนป่าขาดงบประมาณ หรือกำลังสนับสนุนในเรื่องใด คณะกรรมการก็จะเป็นผู้ที่จัดสรรเจ้าหน้าที่ การบริหารแบบนี้จะเป็นการดูแลทั้งผืนป่า ดีกว่าจัดสรรงบประมาณไปตามหน่วยงานที่อาจจะยังมีการปฏิบัติหน้าที่ทับซ้อนกัน ส่งผลให้บางส่วนของพื้นที่ หรือบางกิจกรรมมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ไม่สมดุลกัน รวมถึงงบฯที่ลงไปก็ถูกบริหารได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงพอดีกับความต้องการแท้จริงของแต่ละผืนป่า พร้อมกับการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณในระดับพื้นที่ที่ควรทำได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากประเด็นเรื่อง จัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมตามผืนป่าแล้ว ด้วยงบประมาณเท่าเดิม และวิธีหารายได้แบบเดิม เราจะดูแลผืนป่าที่จะเพิ่มขึ้นอีกตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร  

ปริญญารัตน์: ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างระบบ และหากลไกเพิ่มรายได้ใหม่ๆในการดูแลผืนป่าในระยะยาว ซึ่งงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาและนำเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรงบประมาณ และการเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่อนุรักษ์ ด้วยแนวทางที่เรียกว่า Payment for Ecosystem Services (PES) หรือ การจ่ายค่าตอบแทนต่อคุณค่าระบบนิเวศ หลักการคือ คนที่ได้ประโยชน์จากการมีระบบนิเวศสมบูรณ์ ควรจ่ายทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงินคืนให้บุคคลหรือหน่วยชุมชนที่มีส่วนทำให้ระบบนิเวศนั้นๆคงอยู่เพื่อสร้างบริการที่ตนได้รับ หรือประโยชน์ที่ตนได้รับอย่างต่อเนื่อง

เช่น โรงผลิตน้ำประปา ที่ต้องใช้น้ำสะอาด หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม รอบอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ได้ประโยชน์จากการจัดแหล่งท่องเที่ยว ต้องแบ่งเงินคืนให้คนที่ดูแลรักษาป่า ร้อยละ 1-2 เพื่อช่วยกันดูแลรักษาป่าและพื้นที่ต้นน้ำ เเป็นค่าใช้จ่ายในการลาดตระเวน ให้ผืนป่ายังคงอยู่ต่อเพื่อเป็นรายได้หมุนเวียน ซึ่งวิธีการนี้ในประเทศเพื่อนเรา อย่างเวียดนามก็ใช้ และบังคับเป็นกฎหมายแล้ว

ส่วนของประเทศไทย รัฐบาลก็พยายามสนับสนุน PES  โดยกำหนดอยู่ในแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากการพยายามผลักดันให้เกิดกลไกนี้ ต้องอาศัยกฎหมายที่จะอนุญาตให้เก็บเงินได้ ต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างคนที่ได้ประโยชน์และคนที่เสียประโยชน์ ว่าจะเก็บในอัตราเท่าไหร่ ในไทยตอนนี้เป็นเพียงโครงการนำร่องที่ยังไม่มีการดำเนินการชัดเจน

ตัวอย่างผู้ได้รับประโยชน์ที่ควรใช้กลไก PES คือ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีน้ำตกนางรอง อุทยานวังตะไคร้ ที่แยกส่วนออกมาจากอุทยาน เป็นของเอกชน และ ของ อบจ.นครนายก ดูแลเอง มีการจัดเก็บรายได้บริหารกันเองในท้องถิ่น ไม่ได้กลับสู่อุทยานเลย ซึ่งจริงๆ ควรมีการพิจารณาจัดสรรคืนสู่ป่า ให้กับ คนที่คอยดูแลผืนป่า อย่างน้อยร้อยละ 1-2 ของรายได้

ถ้าหากกลไกเพิ่มเติมตอนนี้ยังไม่พร้อม แล้วภาคประชาชน เอกชน ภาคธุรกิจ จะมีส่วนร่วมสนับสนุนการดูแลผืนป่าได้อย่างไรบ้าง

ปริญญารัตน์: นักธุรกิจสามารถเข้ามามีส่วนที่จะนำเงินมาช่วยจัดการป่าอย่างยั่งยืน แต่ต้องทำอะไรที่มากกว่าแค่ CSR เพราะถ้าแค่ปลูกป่า ทำแล้วก็จบ แต่อยากให้เกิดความต่อเนื่อง อย่าง ‘พันธบัตรป่าไม้’ ที่สามารถทำเป็นกลไกได้

หลักการคือ คนที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐบาล ต้องเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ป่า โดยการระดมทุนจากกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ สร้างหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการเงินส่วนที่ได้มาจากการระดมทุนมาจัดสรร เพื่อส่วนหนึ่งจะนำไปเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการจ้างชุมชนในพื้นที่ในการปลูกป่า และหารายได้จากการทำไม้และขายไม้อย่างยั่งยืน จากการเก็บกักคาร์บอน และหักเงินรายได้จากการท่องเที่ยวมาบางส่วน เพื่อนำมาเป็นผลตอบแทนคืนผู้ลงทุน นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งท้ายสุดตอนนี้ พันธบัตรป่าไม้ ได้พัฒนาเน้นไปที่เรื่องไม้เศรษฐกิจเพื่อจูงใจภาคเอกชน แต่ถ้าเราจะนำมาใช้กับป่าอนุรักษ์ก็จะยากตรงที่รายได้จะไปเก็บในรูปแบบไหน อย่างภาษีคาร์บอนตอนนี้เราก็ยังเก็บไม่ได้

แต่ไม่อยากให้กลไกใดๆ เป็นเพียงทางเดียว เราต้องมีหลายกลไกเพื่อช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน ตัว PES หรือพันธบัตรป่าไม้เป็นหนึ่งในกลไก ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย เช่น การกำหนดระบบจัดเก็บภาษีเพื่อระบบนิเวศ การระดมทุนจากองค์กรภาคเอกชนเพื่อนำไปลงทุนในการอนุรักษ์ และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นต้น

ซึ่งจะเกิดหลากหลายกิจกรรมเพื่อหารายได้ในระยะยาวได้ นอกจากแต่ละกรมต้องทำงานบูรณาการกันแล้ว ทุกภาคส่วนในทุกระดับยังต้องบูรณาการเป้าหมายและกิจกรรมกับภาครัฐร่วมกัน ที่สำคัญคือการเคารพกฎในการดูแลอนุรักษ์ป่าอย่างเคร่งครัด โดยไม่ลืมเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒธรรมท้องถิ่น หากพบว่าการบูรณาการกิจกรรมต่างๆร่วมกัน หรือการไปถึงเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า มีอุปสรรคก็จำเป็นต้องหารือกัน เพราะการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องยึดหลักสร้างพันธมิตร ลดความขัดแย้งเป็นพื้นฐาน