สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
โดยทั่วไป นายจ้างในภาคเอกชนในประเทศไทยก็ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณแน่นอนสำหรับลูกจ้าง (ยกเว้นบางบริษัท) โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยส่วนใหญ่ไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีกำหนดเวลาเกษียณเพื่อให้ลูกจ้างทำงานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใครทำไม่ไหวก็ลาออกไปเอง (เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย) ส่วนใหญ่จะเกษียณราวๆ 45-55 ปี ขึ้นอยู่กับอาชีพและสภาพงานที่ทำ (เช่น งานที่ต้องใช้สายตา หรือทำงานในสภาพที่มีความร้อนสูงหรือสารเคมี เหล่านี้มักจะเลิกทำงานไปโดยไม่ได้ค่าชดเชย) ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีสัญญาจ้างและส่วนใหญ่จ้างกันจนถึงอายุ 55 ปี (ตามอายุในการเกิดสิทธิประกันสังคมหลังจากส่งเงินสมทบประกันสังคมครบ 180 เดือน)
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การกำหนดหรือขยายอายุเกษียณเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นการผูกโยงกับอายุที่จะได้รับบำนาญตามระบบประกันสังคม ทั้งนี้ เพราะสาเหตุหลักคือการที่ประเทศมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพมากขึ้นทุกที ซึ่งนอกจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นแล้วแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ (รับบำนาญและใช้เงิน) นานกว่าแต่ก่อน ทำให้กองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินพอจ่ายหรือที่เรียกว่าขาดเสถียรภาพ ดังนั้น ทางออกคือการเลื่อนอายุที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพหรืออายุเกษียณออกไป
นอกจากนั้นแล้ว สาเหตุประการสำคัญที่ต้องมาพูดถึงอายุเกษียณคือสวัสดิการของแรงงานที่หยุดทำงานโดยไม่มีอายุเกษียณที่แน่นอนโดยเฉพาะกรณีที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยทั้งๆ ที่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
ต้องชมรัฐบาลที่ขจัดความคลุมเครือในเรื่องการเกษียณหรือเลิกจ้างและเพื่อคุ้มครองแรงงานลูกจ้างให้รัดกุมขึ้นโดยออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 โดยมาตรา 6 ให้เพิ่มประเด็นต่อไปนี้เป็นมาตรา 118/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คือ
ก. การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ข. ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น
กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสรรเสริญจากฝ่ายลูกจ้างว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดการเกษียณอายุทำให้ลูกจ้างที่อายุมากขึ้นไม่สามารถทำงานต่อไปได้ต้องลาออกจากงานเองและไม่ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในโรงงานที่มีสหภาพได้มีการยื่นต่อรองกับนายจ้างว่าขอให้กำหนดเกษียณอายุที่ 55 ปี ในโรงงานดังกล่าวจึงมีกฎข้อบังคับในเรื่องนี้และผู้ที่อายุเกิน 55 ปี หากนายจ้างต้องการจ้างก็จะต่ออายุการทำงานออกไป โดยรวมเห็นว่าการกำหนดอายุเกษียณเป็นการช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างที่สูงอายุได้มาก
สำหรับนายจ้าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 น่าจะมีผลกระทบต่อนายจ้างธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อยที่ไม่มีการกำหนดเกษียณอายุของคนงานและส่วนใหญ่ไม่จ่ายเงินชดเชยเมื่อคนงานออก เพราะไม่มีการตีความของการเลิกจ้างที่รัดกุม การที่คนงานไม่มาทำงานหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เองรวมทั้งการลาออกเองถือว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของนายจ้างจึงไม่มีการจ่ายเงินชดเชย
เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นายจ้างดังกล่าวมีทางเลือกอยู่ว่าคนงานของตน มีกำหนดเกษียณอายุหรือไม่และเมื่อไร เพราะการเกษียณอายุถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ถ้าไม่มีกำหนดเกษียณอายุไว้ก็ถือว่าคนงานนั้นๆ เกษียณอายุที่ 60 ปี ดังนั้น นายจ้างต้องจ้างต่อไปจนคนงานนั้นอายุ 60 ปี จึงปลดเกษียณโดยนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง
ในปี 2559 มีแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 11.7 ล้านคน คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของแรงงานลูกจ้างเอกชนทั้งหมด ดังนั้น ภาระการจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างหรือเกษียณในธุรกิจ SMEs ก็น่าจะหนักหนาสาหัสเหมือนกัน
(สมมุตินะ สมมุติว่าในแต่ละปีอัตราการเกษียณอายุเท่ากับร้อยละ 5 ของแรงงาน 12 ล้านคน คือปีละประมาณ 6 แสนคน สมมุติต่อว่านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยต่ำที่สุดคือคนละ 1 เดือน คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำก็ตกคนละ 9,000 บาท (ตอนนี้ปรับขึ้นไปแล้ว) จะเท่ากับ 6 แสนคน x 9 พันบาท) แทบไม่น่าเชื่อว่าตัวเลขค่าชดเชยต่อปีออกมาถึง 5 พัน 4 ร้อยล้านบาท และหากต้องจ่ายถึง 6-10 เดือน ก็เป็นเงินมหาศาล ทั้งนี้ เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้อย่างเฉียบขาด
แต่ที่ว่ามานั้นเป็นตัวเลขสมมุติ ตัวเลขจริงน้อยกว่าเยอะ ดังจะกล่าวต่อไป
สถานประกอบการขนาดใหญ่ส่วนมากไม่มีปัญหา เพราะมีการกำหนดอายุเกษียณและมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างถูกต้องอยู่แล้ว รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ก็จ่ายเงินดังกล่าวให้กับลูกจ้างที่เกษียณอายุ 60 ปีอยู่แล้วในอัตรา 10 เดือน รองประธานกรรมการหอการค้าก็เช่นกัน กล่าวว่า เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่เพราะโดยทั่วไปภาคเอกชนก็ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมานานจะจ่ายให้ไม่ต่ำกว่า 10 เดือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูสถิติของทางราชการซึ่งตัวเลขค่อนข้างต่ำ อาจจะทำให้สงสัยว่าความจริงแล้วเป็นอย่างไร
ตัวเลขสถิติแรงงานประจำปี 2559 แสดงตัวเลขจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเฉลี่ยต่อเดือนมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเลิกจ้าง 3 หมื่นราย กรณีลาออกเอง 1 แสนราย และกรณีหมดสัญญาจ้าง 6 พันราย ไม่มีกรณีการเกษียณอายุ เมื่อค้นคว้าต่อไปก็พบตัวเลขรายงานสถานการณ์การว่างงาน การเลิกจ้างและความต้องการแรงงาน เดือนพฤษภาคม 2559 ว่ามีผู้ถูกเลิกจ้างในเดือนดังกล่าว 7,587 ราย และลาออกจากงาน 50,838 ราย โดยลาออกเนื่องจากเกษียณอายุเพียง 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผู้ลาออก
การที่ตัวเลขผู้เกษียณอายุในรายงานฉบับนั้นต่ำน่าจะอธิบายได้ว่า ประการแรก ตัวเลขดังกล่าวเป็นเฉพาะกรณีที่ผู้ประกันตนยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเท่านั้น ถ้าผู้เกษียณอายุไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว (ด้วยเหตุใดก็ตาม) ตัวเลขจะไม่ปรากฏ
ประการที่สอง จะเห็นว่าสัดส่วนของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีลาออกสูงมาก การลาออกอาจถือได้ว่าเป็นการเกษียณทางอ้อม กล่าวคือการลาออกถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการบอกเลิกสัญญาจ้าง (ซึ่งการบอกเลิกสัญญาจ้างทำได้สองฝ่าย นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างเรียกกันว่า “การเลิกจ้าง” ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างเราเรียกกันว่า “การลาออก” บริษัทโดยมากเมื่อถึงคราวต้องปรับลดพนักงานเพราะเหตุผลใดก็ตามจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีเลิกจ้างเนื่องจากจะเข้าข่ายต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด การพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อให้สมัครใจเข้าร่วมโครงการเพื่อลาออกเองจึงถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของบริษัท โดยถึงแม้เป็นการให้ลาออกเองโดยสมัครใจนั้นบริษัทก็จะมักจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องถึงอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้)
ประการที่สาม ตัวเลขประกันสังคมไม่ได้รวมลูกจ้างเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ประกันตน ในปี 2559 ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีจำนวน 10.5 ล้านคน เทียบกับจำนวนแรงงานเอกชนทั้งหมด 14.9 ล้านคน แปลว่ายังมีลูกจ้างเอกชนอีก 4.4 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 33 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดย่อยและขนาดย่อม (Micro and small enterprises) ซึ่งจ้างงานอย่างไม่ค่อยเป็นทางการหรือเป็นแรงงานนอกระบบ
เพื่อให้เห็นภาพรวมแนวโน้มการเกษียณอายุในกลุ่มลูกจ้างภาคเอกชนได้อีกมุมหนึ่ง ผู้เขียนได้ขอให้นักวิจัยที่ทีดีอาร์ไอช่วยคำนวณตัวเลขลูกจ้างเอกชนจำแนกตามกลุ่มอายุ (ดังภาพ) ให้ดู พบว่าลูกจ้างเอกชนที่เสี่ยงต่อการเกษียณอายุ คือกลุ่มอายุ 55-60 ปี มีจำนวน 7.2 แสนคน และกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป อีกประมาณ 5 แสนคน รวมสองกลุ่มอายุนี้จะมีลูกจ้างที่เข้าข่ายเกษียณอายุได้ตามกฎหมาย 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ ยังไม่นับลูกจ้างในกลุ่มอายุ 45-54 ปี อีก 2.7 ล้านคน ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เลิกทำงานหรือเกษียณอายุแล้ว
ถ้านายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากการเกษียณอายุ จะเกิดอะไรขึ้น
ถ้านายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 118 และ 118/1 ทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนทางแพ่ง ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระในการจ่ายค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และถ้าจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกๆ ระยะ 7 วัน
กฎหมายนี้จะศักดิ์สิทธิ์เพียงใดก็รอดูกันต่อไป
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ใน มติชน คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพิพิจ : การเกษียณอายุของแรงงานภาคเอกชน