อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
85 ปีของประชาธิปไตยไทยยังคงติดอยู่กับการเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่งเสียง หรือที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นคนนอกหรือคนใน ซึ่งที่จริงแล้วหลักการสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่ความเท่าเทียมกัน เสรีภาพของประชาชน และการเคารพกฎหมาย
หากพิจารณากรณีการตัดสินใจในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนแม่วงก์ หรือการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะพบว่าการตัดสินใจในโครงการดังกล่าวภาครัฐมักจะเป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการเพียงผู้เดียวและบทบาทของประชาชนที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการร่วมคิดร่วมตัดสินใจนั้นยังมีน้อยมาก จนทำให้บางครั้งแทบจะสะท้อนให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยที่ให้โอกาสประชาชนมีความเสมอภาคหรือมีเสรีภาพในการเลือกแนวทางการพัฒนานั้นยังไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่ จนหลายครั้งแทบจะอดคิดไม่ได้ว่าความเป็นประชาธิปไตยของไทยยังจำกัดอยู่แค่ในรัฐธรรมนูญหรือในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น
กรณีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นอีกบททดสอบหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจของประเทศนั้นยังมีข้อจำกัดอย่างมากสำหรับประชาชนที่จะแสดงสิทธิและความคิดเห็นในการตัดสินใจลงทุนของรัฐ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ให้มีกำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับภาคการไฟฟ้าในภาคใต้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่ความต้องการพลังงานสูง
แต่จากการที่มีประชาชนออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งดำเนินโครงการ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจในการออกแบบโครงการก็ดี การเลือกชนิดของเชื้อเพลิงก็ดี การเลือกทำเลที่ตั้งโครงการก็ดี หรือการแบ่งปันผลประโยชน์สู่ท้องถิ่น ยังเป็นกระบวนการที่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ และไม่สะท้อนแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราต้องการ และหากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐยังคงเป็นในรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่เปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา โครงการทุนขนาดใหญ่ของรัฐคงจะต้องชะงักงันและประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาได้
ในกรณีการผลิตไฟฟ้านั้นที่จริงแล้วประเทศมีทางเลือกต่างๆ มากมายที่ประชาชนควรมีสิทธิในการเลือกว่าต้องการไฟฟ้าแบบใด ในบางประเทศการผลิตไฟฟ้านั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นบทบาทของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือชุมชนสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กเอง เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยภาครัฐมีบทบาทในการสร้างโครงข่ายระบบสายส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพื้นที่ต่างๆ (โดยไม่บอกว่าสายส่งเต็มอยู่ตลอดเวลา…)
ในบางประเทศผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถระบุได้ว่า ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่อาจมีราคาสูงกว่าบ้าง หรือต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่มีราคาถูกกว่า ดังนั้น หากมีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือท้องถิ่นสามารถเข้ามาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น โดยแต่ละรายสามารถเลือกชนิดของเชื้อเพลิงได้ตามความต้องการของประชาชนก็จะทำให้การผลิตไฟฟ้าเป็นไปตามต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
ส่วนภาครัฐนั้นก็ควรปรับบทบาทของตัวเองจากการที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า มาเป็นผู้ลงทุนในระบบสายส่งและคิดค่าลงทุนในระบบสายส่งลงไปในบิลค่าไฟ ที่สำคัญภาครัฐควรปรับบทบาทจากเดิมเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามาเป็นผู้กำกับกติกาให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมากขึ้นในลักษณะคล้ายๆ กับการดำเนินการในภาคโทรคมนาคม
หากจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของรัฐ การเลือกทำเลที่ตั้งโครงการเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้น สังคมไทยแทบจะไม่มีโอกาสในการร่วมเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการเลย และประเด็นนี้เองจึงทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนในพื้นที่ ที่อาจไม่ต้องการโครงการกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ
แต่สิ่งที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้คือการกำหนดพลังงานทางเลือกต่างๆ และทำเลที่ตั้งต่างๆ เพื่อนำไปสู่การหารือกับประชาชนในพื้นที่ว่าพื้นที่ใดจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยกว่ากันอย่างไร ประชาชนในพื้นที่ใดมีความต้องการโครงการของรัฐมากน้อยกว่ากัน และต้องการรับค่าชดเชยในระดับใด จากการมีทางเลือกในทำเลที่ตั้งโครงการก็ดีหรือแม้แต่ทางเลือกในชนิดของพลังงานก็ดีจะทำให้ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐสามารถหารือเพื่อหาความเหมาะสมร่วมกับภาคประชาชนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
มิฉะนั้นแล้วการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐก็ต้องมาถึงทางตันและมีจุดจบไม่ต่างกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา การสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือแม้แต่กรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมที่เชิงดอยสุเทพ สังคมไทยจะผ่าทางตันนี้ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ว่าหน่วยงานภาครัฐจะปรับวิธีคิดให้เป็นประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด
การพัฒนาประเทศยังไม่ไปถึงไหนส่วนหนึ่งก็เพราะพวกท่านใช้เวลานานเกินไปในการปรับตัว “การเลือกชนิดของเชื้อเพลิง ทำเลที่ตั้งการแบ่งปันประโยชน์สู่คนในท้องถิ่นไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย” สิ่งที่ภาครัฐดำเนินการได้คือกำหนดพลังงานทางเลือก ทำเลที่ตั้งหารือกับภาคประชาชนถึงความเหมาะสม
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ในวาระทีดีอาร์ไอ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 12 เมษายน 2561