tdri logo
tdri logo
17 พฤษภาคม 2018
Read in Minutes

Views

รับมือยุคเทคโนโลยีปั่นป่วน ด้วยเศรษฐกิจกิจ 3C และการพัฒนาทักษะ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาประจำปี 2561 “TDRI Annual Public Conference 2018: ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” โดยช่วงเช้า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ทีดีอาร์ไอ กล่าวเปิดประเด็น “อนาคตประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาโลกได้เห็น AlphaGo Zero ชนะ AlphaGo ซึ่งเคยชนะคนมาก่อนแล้ว, เห็น Libratus เล่นโป๊กเกอร์ชนะคน ซึ่งสะท้อนความสามารถที่เหนือจากการชนะด้วยกฎกติกาอย่างเกมโกะ เนื่องจากเป็นเกมที่ต้องอาศัยการการข่มเกทับ (Bluff), เห็น Xiaoy ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตแพทย์ด้วยคะแนนที่เหนือกว่ามนุษย์ และเห็น Sophia เป็นหุ่นยนต์เหมือนคนที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ กับคนจริงๆ ได้และปัจจุบันถึงขั้นได้สัญชาติจากประเทศซาอุดีอาระเบีย

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า หากเจาะลึกลงไป ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงโลกใน 3 สาขาอย่างมาก ได้แก่ อะตอม (Atom), ชีวภาพ (Bio) และ ดิจิทัล (Computing) หรือ ABC โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านการใช้ Sensors, Big Data, AI/Deep Learning, Cloud Computing และเลียนแบบสมอง ตา หู ปาก และมือของคน

เริ่มตั้งแต่สมองที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีบท ทำข้อสอบ SAT ชนะค่าเฉลี่ยของมนุษย์ไปแล้ว สามารถถอดองค์ประกอบของประโยคที่เป็นภาษาธรรมชาติได้ จนถึงขั้นแปลข่าวจากภาษาเยอรมันและอังกฤษกลับไปมาได้, ด้านตา สามารถระบุวัตถุในภาพชนะมนุษย์และตอบคำถามจากภาพได้ดีใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ, ด้านหู สามารถถอดเสียงเป็นถ้อยคำได้แม่นยำ 95% รวมไปถึงสามารถอ่านปากได้อีกด้วย, ด้านปาก สามารถเลียบแบบการพูดของคนไปจนถึงสร้างการพูดและโทรศัพท์ขึ้นมาใหม่โดยคนไม่รู้ว่ากำลังคุยกับหุ่นยนต์ และสุดท้าย ด้านมือ ได้เห็นการต่อประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมไปถึงการขับรถได้

ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในโลกความจริงและใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ ว่าอย่างเทคโนโลยีด้านตาสามารถใช้จดจำใบหน้าคนที่สามารถใช้ตั้งแต่การแท็กรูปใน Facebook จนถึงการตรวจหาผู้โดยสารในสนามบิน เพื่อช่วยให้เครื่องบินไม่ล่าช้า การแยกแยะรสนิยมทางเพศจากหน้าตาโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์หาคู่ การใช้เป็นสิ่งระบุตัวตน เช่น ใช้การสแกนหน้าจ่ายเงินเวลาซื้อสินค้า และตามหาคนร้ายโดยอาศัยข้อมูลยีนและดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ เพื่อสันนิฐานรูปพรรณเบื้องต้น เช่น สีผิว สีตา สีผม เป็นต้น

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ การตรวจโรคหัวใจและสโตรกจากประวัติ ตรวจมะเร็งผิวหนังจากตัวอย่างภาพถ่ายผิวหน้าจำนวนมาก การวินิฉัยปอดบวมจากภาพถ่ายเอ็กซเรย์ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่มีการขยายการใช้เทคโนโลยีเข้าไปในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การตลาด การขาย การบริหารสายพานการผลิต ฯลฯ

ขณะที่เมื่อหันไปมองประเทศรอบข้าง พบว่าหลายประเทศมียุทธศาสตร์สู่ความเป็นมหาอำนาจด้าน AI ตั้งแต่จีนกับยุทธศาสตร์ “Made in China 2025”  ที่จะลงทุนกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันกำลังขึ้นเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมความรู้ผ่านผลงานตีพิมพ์ด้าน AI และ Deep Learning ที่แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว, มีจำนวนสิทธิบัตรแซงหน้าสหราชอาณาจักรและเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และสัดส่วนเงินลงทุนในสตาร์ทอัปด้าน AI ที่แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ “Intelligence Information Society” ของเกาหลีใต้ ด้วยเงินลงทุน 860 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2559-2564, ยุทธศาสตร์ “Conected Industries” ของญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุน 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561, ยุทธศาสตร์ “AI Taiwan” ของไต้หวัน ด้วยเงินลงทุน 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561-2565 และ ยุทธศาสตร์ “AI Singapore” ของสิงคโปร์ด้วยเงินลงทุน 112 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2560-2565

ขณะที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยจะต้องมีความชัดเจนและปรับตัวให้ทันตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจ การจ้างงานและระบบการศึกษา ระบบสวัสดิการ และกฎระเบียบภาครัฐ ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อการสัมมนาประจำปีนี้ เริ่มตั้งแต่ “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน”, “การปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่”, “ปรับระบบสวัสดิการสังคมพร้อมรับโลกใหม่ที่ผันผวน” และ “ปรับทัศนคติภาครัฐเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต”

ปรับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ – 3 ภาพประเทศไทยในอนาคต

ในช่วงต่อมา ดร.สมเกียรติ กล่างถึงหัวข้อ “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” ว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาจะเขย่าสร้างความปั่นป่วนในแต่ละภาคส่วนไม่เท่ากัน เช่น “ภาคเกษตร” ถูกกระทบจากระบบการผลิตที่แม่นยำมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับยังใช้งานน้อยอยู่ ขณะที่ “ภาคผลิต” จะถูกกระทบจากหุ่นยนต์และคลังสินค้าอัตโนมัติและกระทบกับการจ้างงานโดยตรง โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นชัดว่าการผลิตเพิ่มขึ้นแต่เวลาทำงานลดลง และสุดท้าย “ภาคบริการ” จะมีกลุ่มสื่อ อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มใหม่เข้ามากระทบ

ขณะเดียวกัน ยังมีอยู่ 2 กลุ่มที่อาจจะถูกกระทบได้ยากมากกว่าแต่กลับจำเป็นต้องปรับตัวมากที่สุดคือภาครัฐและการศึกษา เพราะมีผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ อย่างมาก โดยกลุ่มแรกจะเป็นคนที่กำหนดกฎกติกาและกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ ขณะที่กลุ่มหลังจะกระทบโดนตรงต่อการผลิตแรงงานที่ตรงตามความต้องการเข้าสู่ระบบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมภาคต่างๆ จะถูกกระทบจากเทคโนโลยี แต่ยังมีชนิดงาน 3 ประเภท หรือ 3H ที่จะไม่ถูกกระทบ ได้แก่ 1) กลุ่มที่ใช้ประสาทสัมผัสทางมือแบบประณีต เช่น งานประกอบที่หุ่นยนต์ยังทำแทนไม่ได้ หรือ Hand 2) กลุ่มที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือ Head และ 3) กลุ่มที่ใช้ความฉลาดทางสังคม เช่น การดูแลผู้สูงอายุ หรือ Heart

ทั้งนี้ กลุ่มงานทั้ง 3H เพื่อจะรองรับการปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีจะต้องมีการยกระดับขึ้นเป็น 3C คือ 1) Craft คือการผลิตสินค้าประณีต เช่น สินค้าเกษตรแบบญี่ปุ่น เฟอร์นิเจอร์สั่งทำ คราฟต์เบียร์ เป็นต้น 2) Creative เช่น การผลิตเกม งานบันเทิง ศิลปะ และ 3) Care ในงานบริการต่างๆ เช่น ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย มัคคุเทศก์ ดูแลสัตว์เลี้ยง

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า หากประเทศไทยไม่สามารถยกระดับในมิติต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้ ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับ 3 สถานการณ์ในอนาคต

ภาพแรกคือไม่มีการพัฒนาใดๆ และถูกแย่งงานและมูลค่าเพิ่มจากต่างประเทศ ประเทศไทยในอีก 20 ปีจะโตเฉลี่ยได้เพียง 2.1% มีรายได้ต่อหัว 8,600 ดอลลาร์สหรัฐ และมีตำแหน่งงานหายไป 3.06 ล้านตำแหน่ง

ภาพที่ 2 รัฐบาลเลือกที่จะปั่นป่วนตัวเองก่อนและประสบความสำเร็จในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยอาศัยเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งถือว่ามีจุดอ่อนเนื่องจากประเทศไทยเน้นการลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่กลับไม่สามารถสร้างงานที่มีทักษะสูงได้ เพราะไม่เชื่อมโยงกับภาคการศึกษา เทียบกับสิงคโปร์ที่เน้นไปที่การให้ทุนวิจัยร่วม พร้อมทั้งมีนโยบายหาแรงงานทักษะมาป้อนตามความต้องการ ในกรณีแบบนี้ไทยอาจจะรักษามูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นในอีก 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเพิ่มการจ้างงานหรือพัฒนาแรงงานทักษะสูงได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจน่าจะโตได้ 3.1% ต่อปี มีรายได้ต่อหัว 10,300 ดอลลาร์สหรัฐ มีตำแหน่งงานหายไป 1.49 ล้านตำแหน่ง

ภาพที่ 3 คือภาพที่ประเทศไทยสามารถต่อยอดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเชื่อมโยงการลงทุนและพัฒนา AI สร้างแรงงานทักษะสูง รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงานเดิมที่อาจจะถูกทดแทน โดยตอบโจทย์ 3C ข้างต้นและให้ย้ายไปทำงานในภาคบริการได้ ซึ่งคาดว่าต้องรองรับแรงงานที่ถูกทดแทนถึง 80% ในกรณีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 4.3% มีรายได้ต่อหัว 12,540 ดอลลาร์สหรัฐ

“ถามว่าโอกาสจะเป็นแบบไหน ต้องบอกว่าอนาคตเกิดจากการกระทำ เป็นสิ่งที่ต้องสร้างร่วมกัน ถ้าไม่ปรับตัวก็จะถูกดึงดูดมูลค่าเศรษฐกิจไป แต่ถ้าทำได้ดีขึ้นก็จะปรับตัวผ่านไปได้ ภาครัฐจึงต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะในภาคราชการและการศึกษา ขณะที่ภาคธุรกิจตะเห็นว่าเริ่มปรับตัวไปแล้ว” ดร.สมเกียรติ สรุป

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส และ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในมุมมองของเอกชนที่ทำงานมาแทบทุกอุตสาหกรรมที่ถูกปั่นป่วน พบว่าปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่มันมาพร้อมกัน โดยไก่คือความปั่นป่วนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ Tech Giant ที่อยากเข้ามาทำธนาคาร เพราะมีรายได้กำไรเยอะ และไข่ก็คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากถูกเอาใจอย่างมากในระยะหลัง เช่น แอปพลิเคชันที่ฟรีหมด ทำให้ใจร้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น ต่อให้ธนาคารไม่ทำอะไรทั้งไก่และไข่ก็เข้ามากระทบแบบไม่ตั้งตัว และธนาคารรวมถึงธุรกิจอื่นจะต้องรีบปรับตัว โดยเฉพาะการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ภาพของทีดีอาร์ไอที่เสนอมา นายธนา กล่าวว่า ประเทศไทยยังเดินหน้าช้ามากและน้อยมากเทียบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น ในจีนปัจจุบันมีสตาร์ทอัปเกิดขึ้นนาทีละหลายพันราย ขณะที่ไทย “ทั้งปี” มีเพียง 700-800 อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้างที่ประสบความสำเร็จให้เห็น เช่น Platform ขายหนังสือแบบออนไลน์ที่มีคนคลิกวันละนับ 1,000 ล้านคลิก สร้างรายได้ให้คนเขียนสูงสุดเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน หรืองาน H2O ของวู้ดดี้ช่วงสงกรานต์ที่เขาลงทุนไปปีแรกให้มีมาตรฐานสูงมาก ยอมขาดทุนก่อนที่ภายหลังจะใช้เป็นจุดขายส่งออกเป็นเทศกาลไปยังประเทศอื่นๆ เป็นต้น

สุดท้ายคือการศึกษาหรือการเตรียมพร้อมแรงงานในอนาคต นายธนา กล่าวว่า ในอนาคต นอกจาก STEM หรือการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ จะต้องเพิ่มสาขาศิลปะ หรือ Art เข้าไปเป็น STEAM เพราะความรู้และการพัฒนาในอนาคตจะต้องอาศัยสมองจากทั้ง 2 ข้างไปพร้อมกัน นอกจากนี้จะต้องสร้างสำนึกของการเป็นพลเมืองโลก ต้องส่งเสริมการเห็นโลกในความเป็นจริงที่กว้างขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีก็จะเข้ามาช่วยได้

ปรับทักษะแรงงาน-การศึกษา ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในช่วงต่อมา นายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ นำเสนอหัวข้อ “การปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่” ว่าหากพิจารณาจากมุมมอง 3H แล้วจะพบว่าแรงงานไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนมากกว่า 70% ถึง 8.2 ล้านคน ซึ่งกระจายไปในทุกระดับการศึกษาและรายได้ เช่น คนเย็บผ้า คนขับรถ จนถึงนักบัญชี อย่างไรก็ตาม แม้แต่กลุ่มอาชีพความเสี่ยงต่ำ เช่น ทนาย ก็ต้องปรับตัว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถทำงานต่างๆ ทดแทนได้มากขึ้น เช่นวิเคราะห์สัญญา การประมวลคำพิพากษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการว่าความ หุ่นยนต์ให้คำแนะนำด้านกฎระเบียบจากหุ่นยนต์ เช่น ระเบียบการค้าและศุลกากรในต่างประเทศ เป็นต้น

ทางออกสำหรับแรงงานกลุ่มนี้คือต้อง พัฒนาทักษะใหม่ หรือ Reinvent ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่เมื่อเรียนจบก็มักจะทำงานที่เดียวไปจนเกษียณด้วยความมั่นคง แต่ในปัจจุบันแรงงานจะต้องเปลี่ยนงานเฉลี่ยกว่า 5 ครั้งตลอดอายุการทำงาน และทุกครั้งที่เปลี่ยนงานก็ควรต้องมีการเรียนรู้พัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยจะต้องกำหนดเป้าหมาย ขวนขวายทักษะที่ขาด และสร้างความสามารถจากตัวช่วยต่างๆ

ตัวอย่างเช่นในสิงคโปร์ รัฐบาลจะเริ่มการกำหนดเป้าหมายด้วยเว็บไซต์ MySkillsFuture ซึ่งจะให้ประชาชนเข้าไปกรอกทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่า Profile ทักษะ ก่อนที่เว็บจะแนะนำอาชีพในอนาคตที่เหมาะสมออกมา พร้อมทั้งระบุทักษะที่ต้องเรียนเพิ่มเติม ในขั้นต่อมา รัฐบาลจะจัดทำหลักสูตรอบรมทั้งสั้นและยาว ตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงเป็นปี จำนวน 24,000 หลักสูตร โดยใช้เว็บไซต์ Trianing Exchange ให้สถาบันการศึกษาหรือเอกชนเข้ามาแข่งขัน นำเสนอหลักสูตรเพื่อสอนทักษะใหม่ๆ และสุดท้ายตัวช่วยเริ่มตั้งแต่รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุน ให้เงินชดเชยแก่นายจ้างค่าเสียเวลาทำงาน และให้คูปองประชาชนไปลองเรียน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสเอกชนตั้งบริษัทฝึกอบรมผลิตแรงงานทักษะป้อนให้แก่บริษัทอื่นๆ โดยตรงด้วย เช่น Andela หรือ BitSource เป็นต้น

เทียบกับประเทศไทยที่มีหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงแรงงานเพียง 3,000 หลักสูตรระยะสั้น และส่วนใหญ่จะเป็นประเภทงานประดิษฐ์หรืองานฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลต้องเพิ่มการทำฐานข้อมูลสมัครงานออนไลน์ ซึ่งทีดีอาร์ไอกำลังทำอยู่ เพื่อให้ประเทศสามารถแนะแนวอาชีพแก่ประชาชนได้ และสามารถจัดทำหลักสูตรรวมทั้งใช้ระบบตลาดให้เอกชนเข้ามาช่วยเป็นผู้ฝึกอบรมได้

ด้านนายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า หากต้องย้อนกลับไปถึงการศึกษา การศึกษาในอนาคตจะต้องเป็น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” และต้องคุยกับหุ่นยนต์ได้ หรือมีทักษะเขียนโปรแกรม (Coding) โดยการเรียนจะต้องเป็นการเรียนที่เน้นทำและเล่น ซึ่งทำให้มีสามารถเรียนรู้ได้ถึง 20-75% ต่างจากการฟังอย่างเดียวในปัจจุบันที่เรียนรู้ได้ต่ำกว่า 20% เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศเอสโตเนียที่มีวิสัยทัศน์ว่าเด็กจะต้องเขียนโปรแกรมได้ เหมือนเรียนภาษาต่างประเทศ โดยในช่วงเด็กจะเรียนเขียนเกม ต่อมาก็จะเริ่มฝึกประกอบหุ่นยนต์ ซึ่งช่วยฝึกการทำงานเป็นทีม และพอโตขึ้นจะเริ่มทำโครงการเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ขณะที่หากหันมาดูประเทศไทย จากผลสอบ PISA 2015 พบว่ายังสอบตกในหลายวิชา อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีโรงเรียนหลายแห่งที่ได้คะแนนสูงกว่ามาตรฐานของประเทศในกลุ่ม OECD และทุกฝ่ายควรต้องร่วมขยายผลประเด็นเหล่านี้มากขึ้น


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน Thaipublica ในชื่อ “TDRI แนะรัฐปรับ โมเดลเศรษฐกิจ รับมือยุคเทคโนโลยีปั่นป่วน – เปิด 3 ภาพประเทศไทยในอนาคตและงาน 3H ที่จะไม่ถูกกระทบ”  เมื่อ 15 พฤษภาคม 2561

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด