ทีดีอาร์ไอ เสนอโมเดลการพัฒนา แก้โจทย์ยากของประเทศในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี

สัมมนาประจำปี ทีดีอาร์ไอ ระดมทีมนักวิจัยพร้อมเครือข่าย แก้โจทย์ยากของประเทศว่า ไทยจะรับมือและทำมาหากินอย่างไรในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2561  “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” (Reorienting the Thai Economy to Prepare for the Age of Technological Disruptions) ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน ในการปรับตัวของทุกภาคส่วน และกำหนดนโยบายสาธารณะให้สอดคล้องกับยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างถอนรากถอนโคนต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนคนทำงานอาชีพต่างๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดประเด็นเสนอว่า เทคโนโลยีดิจิทัลป่วนโลก โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่นกำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนมีความสามารถทัดเทียมหรือเกินกว่ามนุษย์ไปแล้วในหลายด้าน ธุรกิจและประเทศที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จึงมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง  รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน จึงแข่งกันกำหนดยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าวเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ดร.สมเกียรติ และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ต่อไปว่า หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และถูกปั่นป่วนจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในต่างประเทศ มูลค่าเพิ่มจากการผลิตในหลายสาขาธุรกิจจะย้ายออกไปต่างประเทศ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมสื่อ  เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5 ต่อปีตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยน่าจะโตได้เพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี และจะมีงานประมาณ 3 ล้านตำแหน่งหายไป 

ทั้งนี้ หากประเทศไทยใช้เทคโนโลยีป่วนตนเอง โดยดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเอาระบบออโตเมชั่นมาใช้อย่างเต็มที่ ก็จะโตได้ร้อยละ 3.1 ต่อปี  แต่ก็จะยังไม่สามารถก้าวเป็นประเทศรายได้สูงได้ใน 20 ปีข้างหน้า และจะมีงานประมาณ 1.5 ล้านตำแหน่งหายไป

นักวิจัยทั้งสองเสนอว่าประเทศไทยควรมุ่งสร้าง “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” โดยต่อยอดวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยยุทธศาสตร์การใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง  เสริมด้วยการสร้างงานจากเศรษฐกิจ 3C คือ เศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และ เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) เพื่อสร้างงานรายได้ดีให้แก่ประชาชน ซึ่งจะทำให้โตได้ร้อยละ 4.3 ต่อปี สามารถลดความเหลื่อมล้ำและก้าวเป็นประเทศรายได้สูงได้ใน 20 ปี

ส่วนการปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่นั้น นายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ และ นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า แรงงานไทยที่มีความเสี่ยงสูงจากการถูกคอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรทดแทนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย และการศึกษาต่ำ ซึ่งมีความพร้อมในการปรับตัวน้อย  

อย่างไรก็ตามคนทำงานวิชาชีพที่มีการศึกษาสูงจำนวนหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบด้วย แรงงานทุกกลุ่มจึงต้องสร้างทักษะขึ้นใหม่ตลอดเวลา โดยรัฐบาลควรมีกลไกสนับสนุนการค้นพบความถนัดของแต่ละคน และอุดหนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูง เหมือนกับที่ประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนปฏิรูปการศึกษาพื้นฐานให้เยาวชนไทยมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเพียงพอที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ควบคู่ไปกับการเสริมทักษะใหม่ๆ เช่น การเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะทำให้คนไทยอยู่รอดในโลกสมัยใหม่ได้ดีขึ้น และมีโอกาสทำงานที่มีรายได้ดี โดยไทยสามารถเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมที่ดีได้จากประเทศต่างๆ เช่น เอสโตเนีย

ในด้านการปรับระบบสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน  ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอว่า ควรปรับกองทุนประกันการว่างงานให้สามารถรองรับการเปลี่ยนงานที่จะเกิดบ่อยมากขึ้นในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี โดยนำเงินกองทุนมาใช้ในการแจกคูปองให้แก่คนงานเพื่อสร้างทักษะใหม่ ไม่ต้องรอให้ตกงานก่อน และควรพิจารณาใช้มาตรการจ้างงานเชิงรุกโดยอุดหนุนนายจ้างในการจ้างงานใหม่ เพื่อช่วยให้คนงานกลับมามีงานทำเร็วขึ้น พร้อมกับเลิกจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน กรณีลาออกโดยสมัครใจ

ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าในอนาคต จะมีแรงงานอิสระเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งจะเป็นแรงงานอิสระที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เรียกว่า gig worker ซึ่งควรนำเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงต่างๆ โดยกำหนดให้คนงานเหล่านี้และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ที่ได้รับ

ด้าน ดร. บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ และคุณสุทธิพงศ์ กนกากร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท WS3 เสนอให้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ดิจิทัลไอดี และเงินอิเล็กทรอนิกส์ในการให้สวัสดิการแก่ผู้ยากไร้ เพื่อลดปัญหาทุจริต ซึ่งพบในหลายกรณี เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และเงินสงเคราะห์คนยากไร้ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ทั้งนี้ ภาครัฐก็จำเป็นต้องปรับทัศนคติในการกำหนดนโยบายและออกกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสม  เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนในสังคมปรับตัวได้   ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย และนางสาวเทียนสว่าง ธรรมวณิช นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ เสนอให้ ภาครัฐเลิกแนวความคิดแบบ “คุณพ่อรู้ดี” โดยเลิกกำกับดูแลที่เน้นเฉพาะความปลอดภัยสูงสุดอย่างเดียว และเลิกการกำกับดูแลที่มุ่งปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิมเป็นหลัก มาสู่การกำกับดูแลตามความเสี่ยง (risk-based regulation) และการกำกับดูแลเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ได้   ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ รัฐควรกำหนดนโยบายและออกกฎระเบียบจากข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัตินำร่องใน “สนามทราย” (regulatory sandbox) ก่อน ในเรื่องที่ยังไม่มีความเข้าใจดีพอ