ปฏิรูปการศึกษาไทยในความฝัน ให้ใกล้ความจริงด้วย “Sandbox”

กชกร ความเจริญ

ภาพการศึกษาไทยในฝันที่ผู้อ่านอยากเห็น กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้อยู่ห่างไกลกันมากขนาดไหน?
หลายคนอาจอยากเห็นนักเรียนไทย มีทักษะชีวิต คิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ได้ดี นักเรียนและครูสนุกสนานกับการเรียน เพราะได้อยู่ในห้องเรียนที่มีบรรยากาศ เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงการมีโรงเรียนดีๆ ใกล้บ้าน โดยคุณภาพการศึกษาของทุกโรงเรียนเท่าเทียมกัน แต่เมื่อกลับมาดูความเป็นจริงเทียบกับสิ่งที่กล่าวมายังห่างไกลอยู่มาก ผู้เขียนจึงอยากชวนมาทบทวนความจริงของการศึกษาไทย เพื่อหาทางออกใหม่เพิ่มโอกาสและความหวัง ในการดึงความฝันพัฒนาการศึกษาให้เข้าใกล้ความจริงยิ่งกว่าเดิม

ความเป็นจริงการศึกษาไทย :
ประเทศไทยมีโรงเรียนคุณภาพอยู่บ้าง… แต่ยากจะขยายผลไปทั่วประเทศ
ปัจจุบัน มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่ทำได้ดังภาพฝัน คือมีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยตรง เช่น โรงเรียนทอสี และโรงเรียนรุ่งอรุณในกทม. ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาในจ.บุรีรัมย์ ที่จัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนทั้งภายในและภายนอก และให้ความสำคัญกับพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู (Professional Learning Community-PLC) รวมทั้งโรงเรียนสาธิตต่างๆ และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งลักษณะพิเศษของโรงเรียนเหล่านี้ คือ มีอิสระในการบริหารจัดการสูง จึงมีโอกาสคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพสูงตามต้องการ และมีนโยบายเพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถผลิตและใช้นวัตกรรมการสอนได้อย่างยั่งยืน

หลายองค์กรพยายามนำนวัตกรรมเหล่านี้ขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ แต่ต้องพบกับอุปสรรคหลายประการ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลจะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับ “ความเชื่อ” ของบุคลากรในโรงเรียนไปจนถึงการ เปลี่ยนแปลง “ระบบบริหารจัดการ” ในโรงเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่หยั่งรากลึก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเรียกร้อง ให้ครูและผู้อำนวยการต้องพัฒนาทักษะที่ต่างจากเดิม โรงเรียนต้องการพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ในการใช้งานนวัตกรรมการเรียนรู้มาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน แต่การมีพี่เลี้ยงอย่างเดียวไม่สามารถสร้าง การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ หากโรงเรียนยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของนโยบายและกฎระเบียบของโรงเรียนรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาและการบริหารบุคลากรในภาคการศึกษาที่ตอบสนองกับนโยบายส่วนกลาง เท่านั้น รวมถึงการขาดการสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของครูและผู้บริหารที่จะนำนวัตกรรมไปปรับใช้ หรือการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีกฎระเบียบและวัฒนธรรม การทำงานใหม่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

ความเป็นจริงการศึกษาไทย :
การปฏิรูประดับประเทศเกิดขึ้นบ่อย… แต่ยากจะคาดคะเนผล
การปฏิรูประดับประเทศที่ผ่านมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร กฎระเบียบ รวมถึงนโยบายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับรัฐมนตรีแต่ละคน มักมุ่งเป้าหมายให้ครูและโรงเรียนจำนวนมาก หรือในวงกว้างต้องปรับตัวจากเดิมมาก แม้การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะมีเจตนาที่ดี แต่เมื่อไม่ได้มีการเตรียมการเปลี่ยนผ่านรับความเปลี่ยนแปลงให้รอบคอบนอกจากจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบเชิงลบที่ไม่ได้ตั้งใจต่อนักเรียนและครูทั่วประเทศ

เช่น นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เมื่อปี 2560 ที่มุ่งหมายลดจำนวนชั่วโมงเรียนวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนมีส่วนร่วม แต่เนื่องจากครูส่วนใหญ่มีภาระงานมากอยู่แล้ว ประกอบกับไม่สามารถออกแบบกิจกรรมที่ทั้งสนุกและทั้งทำให้เด็กได้เรียนรู้ได้ หลายโรงเรียนจึงจัดกิจกรรม จิปาถะเพื่อฆ่าเวลา ในขณะที่มีโรงเรียนไม่น้อยมีความกดดันเรื่องคะแนน O-NET และครูกังวลเรื่องการสอนเนื้อหาให้ครบตามหลักสูตรแกนกลาง จึงใช้เวลาส่วนนี้เพื่อติวข้อสอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับเจตนาของนโยบายอย่างสิ้นเชิง แม้หลายนโยบายจะมีการนำร่องทดลอง ในบางโรงเรียนก่อนจะขยายผลทั้งประเทศ แต่ยังขาดกระบวนการวิจัยและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานอย่างเที่ยงตรง ประกอบกับ ครูและผู้บริหารต่างมีความกังวลว่า ต้องปฏิบัติตามนโยบายให้ได้ผล ผลการประเมินต่างๆ ในเอกสารจึงอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด

ดึงความฝัน เข้าใกล้ความจริง :
สร้างบรรยากาศใหม่ในการปฏิรูปด้วย “Sandbox”
ปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ภาคการศึกษากำลังเผชิญแทบไม่ต่างจากหลายองค์กรหรือในหลายภาคส่วนเช่นเดียวกัน แต่หนึ่งในวิธีที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้เมื่อต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง คือการสร้างพื้นที่ทดลองสำหรับคิดค้น วิจัย พัฒนา และ นำนวัตกรรมที่ได้ผลป้อนเข้าสู่องค์กรหลัก แม้กระทั่งภาครัฐก็เริ่มนำแนวทางนี้มาใช้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศสร้าง Regulatory Sandbox เพื่อเอื้อให้เกิดการ พัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการทางการเงินภายใต้กฎระเบียบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ดังนั้นจะดีหรือไม่ หากการศึกษาไทย ก็มี Sandbox สำหรับการปฏิรูป หรือ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อทดลองวิธีการขยายผลนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านโรงเรียน ให้สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา โดย Sandbox มีกรอบแนวคิดหลัก คือ

(1) มีสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและแก้ไขระบบ (2) เชื่อมต่อกับระบบการศึกษาปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบ ต่อครูและนักเรียน และสามารถส่งต่อ ข้อเสนอแนะทางนโยบายสู่ทั่วประเทศ (3) เปิดให้ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้าร่วม เช่น ภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น จังหวัด ภาค ประชาสังคม ภาคธุรกิจ และ (4) รับรองด้วยกฎหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมฯ สามารถลดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจต่อวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ บทเรียนที่ได้จาก Sandbox จะเป็นแนวทางที่ใช้การได้ เพื่อการปฏิรูปในระดับประเทศต่อไป


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ในวาระทีดีอาร์ไอ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 26 เมษายน 2561