ทีดีอาร์ไอเผยผลศึกษาปัญหาโครงสร้างต้นทุนและการประกอบการรถแท็กซี่ เสนอแผนพัฒนาทั้งระบบ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นำเสนอผลการศึกษา โครงการศึกษาการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ พบเหตุปัญหาแท็กซี่ เกิดจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างต้นทุนและการประกอบการ เสนอทางปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานบริการตั้งแต่ผู้ประกอบการถึงผู้ขับรถ แนะทางแก้ไขปัญหาด้านกลไกราคา พร้อมข้อเสนอเพื่อการกำกับดูแลแท็กซี่ผ่านแอพฯ ที่ต้องคำนึงถึงประโยช์สูงสุดของผู้รับบริการ และเอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 14  มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก นำเสนอผลการศึกษาในการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ โดยมีนายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีฝ่ายปฎิบัติการ กรมขนส่งทางบก เป็นประธาน

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอการวิเคราะห์ปัญหาคุณภาพการบริการของรถแท็กซี่ ทั้งเรื่องสภาพรถ พฤติกรรมพนักงานขับรถ การปฏิเสธผู้โดยสาร และการเรียกเก็บค่าโดยสารสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ว่ามีสาเหตุมาจากโครงสร้างของตลาด การประกอบการ และราคาที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการประกอบการ ส่งผลให้การพัฒนาและการรักษามาตรฐานคุณภาพการบริการเป็นไปได้ยาก ทั้งในระดับพนักงานขับรถ และระดับผู้ประกอบการ พร้อมกันนี้ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาบริการรถแท็กซี่ในประเทศไทย โดยกำหนดมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ ทั้งในด้านการพัฒนาศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง การผลักดันให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ประกอบการภายใต้รูปแบบของนิติบุคคลที่เหมาะสม และการพัฒนาคุณภาพพนักงานขับรถแท็กซี่ โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ขับรถ การอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการให้บริการที่มีคุณภาพ และการประยุกต์ใช้ระบบตัดแต้มผู้กระทำผิด เพื่อติดตามและประเมินผลพนักงานขับรถแท็กซี่

ในส่วนของการแก้ไขปัญหากลไกราคา คณะที่ปรึกษาโครงการฯ มีความเห็นว่ายังสามารถคงอัตราค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไว้ดังเดิม แต่ควรเพิ่มค่าโดยสารตามระยะเวลาการเดินทาง แทนการคิดค่าโดยสารกรณีรถหยุดหรือเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะเวลารวมการเดินทางที่นาทีละ 50 สตางค์ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรที่ติดขัดในปัจจุบัน รวมถึงทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามปัจจัยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปรับปรุงอัตราการบรรทุกผู้โดยสารของบริการรถแท็กซี่ทั้งระบบทุก 2 ปี เพื่อพิจารณากำหนดค่าโดยสารที่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับบริการที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแบบแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชันนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีระเบียบเพื่อกำกับดูแลการให้บริการ TNC ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดจากการบริการ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม  โดยให้มีการกำกับดูแล 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการ TNC ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบการกับกรมการขนส่งทางบกและเสียภาษี 2) รถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการต้องจดทะเบียนเพื่อให้บริการสาธารณะ และจัดให้มีการประกันภัยเป็นการเฉพาะ 3) ผู้ขับรถยนต์ที่ให้บริการ TNC ต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะเช่นเดียวกับรถแท็กซี่ทั่วไป และ 4) การกำกับดูแลด้านราคาที่ต้องออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการฉวยโอกาสและเอาเปรียบผู้โดยสาร  ทั้งนี้ การกำกับดูแลดังกล่าวควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ
การให้บริการของรถแท็กซี่ปกติด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดให้รถแท็กซี่ปกติเท่านั้นที่สามารถจอดรับส่งผู้โดยสารที่จุดจอดรถแท็กซี่จอดบนถนนได้ ฯลฯ

ทั้งนี้ ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ได้มีหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการรถแท็กซี่ในปัจจุบัน เข้าร่วมสะท้อนปัญหาและเสนอข้อคิดเห็นในการจัดการปัญหาการให้บริการรถแท็กซี่ เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการแท็กซี่ในอนาคต โดยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้รับข้อเสนอและข้อคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาต่อไป