สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
ข่าวคราวสังคมผู้สูงอายุช่วงนี้เงียบเหงาไปเพราะโดนข่าวอื่นกลบ อาทิ คนอยากเลือกตั้งเดินขบวน ข่าวเงินทอนวัด และจับพระเถระผู้ใหญ่สึก ข่าวจับอดีตพระพุทธะอิสระ (ซึ่งตอนนี้ไม่ค่อยอิสระ) ข่าวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ข่าวบอลโลก ฯลฯ
ประชากรของประเทศไทยแก่ลงทุกทีอย่างรวดเร็ว เรื่องของผู้สูงอายุและสังคมสูงวัยจึงนับวันน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น และที่น่าห่วงมากคือผู้สูงอายุในชนบทห่างไกล รัฐบาลหรือใครๆ จะคิดจะทำอะไรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและศักยภาพของผู้สูงอายุของประเทศนี้ให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็ต้องรีบทำ
และเมื่อพูดถึงคุณภาพชีวิตและศักยภาพของผู้สูงอายุ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชนแบบบูรณาการ เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรดำเนินไปอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง
การดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชนแบบบูรณาการ พูดง่ายๆ ไม่วิชาการนัก คือการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในระดับชุมชนโดยที่ภาคส่วนหรือภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกัน อย่างประสานสัมพันธ์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยไม่รู้ว่าใครทำอะไรอยู่และตนควรจะเข้าร่วมอย่างไร ถ้าเปรียบกับฟุตบอลก็คือเล่นกันเป็นทีม ไม่ใช่บอลวัด ต่างคนต่างเล่น และคำว่าชุมชน ก็ชัดเจนว่าเป็นการทำในระดับชุมชน หรือระดับบ้านของผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล
ทำไมต้องมีการดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชนแบบบูรณาการ
ตอบอย่างง่ายๆ อีกเช่นกันว่ามีห้าประเด็นที่สำคัญ คือ ประการแรกจะได้ไม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล ซึ่งทั้งแพงและไม่สะดวกทั้งการเดินทางไปโรงพยาบาล การรอหมอ การติดตามของญาติพี่น้องเพื่อนฝูง รวมทั้งไปเป็นภาระให้แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลซึ่งก็มีคนไข้ประเภทอื่นอยู่มากเกินพอแล้ว
นอกจากนั้นแล้ว มีงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้รับการดูแลรักษาแบบคนไข้ธรรมดาซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งพบว่าผู้สูงอายุมักจะถูกเช็กออกจากพยาบาลเร็วเกินไปเพราะทางโรงพยาบาลต้องการใช้เตียง
ประการที่สอง ผู้ป่วยสูงอายุต้องการการดูแลหลากหลายมากกว่าคนอื่นทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคม และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ในขณะที่มีปัญหาประการต่อไป คือ ประการที่สาม การที่ระบบดูแลผู้สูงอายุยังกระจัดกระจายอยู่หลายที่หรือหลายหน่วยราชการและเอกชน ประการที่สี่ คือการขาดการประสานงานระหว่างภาคีต่างๆ รวมทั้งคนในบ้าน ในชุมชน และภาคีนอกชุมชน และประการที่ห้า คือการดูแลผู้สูงอายุอย่างไม่ถูกวิธีและไม่ทันเวลา เป็นอันตรายต่อชีวิต คุณภาพชีวิต และศักยภาพผู้สูงอายุ
ภาคส่วนหรือภาคีต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในระดับชุมชนแบบบูรณาการ ในกรณีของประเทศไทยโดยทั่วไป สามารถไล่มาตั้งแต่ระดับครอบครัว คือ ผู้สูงอายุและครอบครัว ระดับพื้นที่ คือ อปท. (องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน/ชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สถาบันทางศาสนา โรงเรียน องค์กรภาคเอกชนและองค์กรอื่นๆ ในตำบล เชื่อมต่อมาระดับอำเภอ มีโรงพยาบาลอำเภอ กองทุนสุขภาพตำบล และหน่วยราชการอื่น ระดับจังหวัดมีโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ที่รับผิดชอบพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่ (สปสช.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในทางปฏิบัติ การประสานงานหรือบูรณาการภาคีเหล่านี้ ไม่ง่าย สาเหตุดังกล่าวรวมทั้งการที่ประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนเป็นครัวเรือนเดี่ยวมากขึ้น ภาวะครอบครัวแหว่งกลางเนื่องจากคนรุ่นหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานต่างถิ่นทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายายสูงอายุตามลำพัง นอกจากนั้น ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ (พ.ศ.2558) เคยศึกษาพบว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรจะเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เครือข่ายการดูแลที่มีศักยภาพในการเกื้อกูลผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลง
การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมีแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ คือ (1) ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัวและชุมชน (2) ชุมชนมีระบบการช่วยเหลือกันในการดูแลผู้สูงอายุ (3) หน่วยบริการมีระบบการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับบริบทสังคม และ (4) อปท.มีส่วนร่วมในการจัดการ สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวเน้น “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพ” ของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความหมายมากกว่า “การสังคมสงเคราะห์” ผู้เขียนโมเมว่าแนวความคิดนี้คล้ายๆ กับการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวระดับชุมชนแบบบูรณาการ (Community-based integrated long-term care for the aged) ของญี่ปุ่นที่เริ่มจากเมืองเล็กชื่อ Mitsugi เมื่อปี 2517 และขยายตัวไประดับเมืองทั่วประเทศในปัจจุบัน แต่ของญี่ปุ่นต่างกันมากในรายละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างของภาคีที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการของไทยต่างกับของญี่ปุ่นมาก ที่จริงมีคนพูดถึงระบบการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านหรือแนวคิดแก่อยู่กับบ้าน (Aging in place) ว่าเป็นโมเดลที่ให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่กับบ้านและชุมชน โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเอง และในแง่เศรษฐกิจก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งของผู้สูงอายุเองและของรัฐ
ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับมากในปัจจุบันและในย่านเอเชียถือกันว่าเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันจนเป็นธรรมเนียม ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์กับพี่ชายที่ป่วยเรื้อรังและอาการหนัก เมื่อพาเข้า โรงพยาบาล ห้องพิเศษอย่างดี เขาก็บ่นจะกลับไปอยู่ที่บ้านอย่างเดียว รูปแบบของระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวระดับชุมชนแบบบูรณาการมีหลายระบบ นอกจากระบบของญี่ปุ่น ที่ Mitsugi ซึ่งถือเป็นตำนาน ยังมีหลายระบบในประเทศต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ในเอเชีย และอาเซียน (ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับชุมชนและระดับประเทศ ซึ่งในบทความนี้เป็นเรื่องระดับชุมชน
ประเทศไทยมีความริเริ่มในการนำระบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2545 โดยได้ระบุไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2545-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 3-ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 3.3 “ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องจนวาระสุดท้ายของชีวิต”
ข้อ 4.2 “จัดตั้งและพัฒนาบริการทางสุขภาพและทางสังคมในชุมชนที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่สุดโดยเน้นบริการถึงบ้านและมีการสอดประสานกันระหว่างบริการทางสุขภาพและทางสังคม” และข้อ 4.3 “ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทางศาสนา องค์กรทางเอกชนและองค์กรสาธารณประโยชน์มีส่วนร่วมในการดูแลจัดสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุโดยกระบวนการประชาคม”
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติดังกล่าวยังไม่มีรูปแบบแนวทางปฏิบัติชัดเจนอย่างใดถึงแม้จะมีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ก็ตาม จึงไม่ประสบความสำเร็จตามผลการประเมินโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ที่พบว่าการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐานยังไม่ผ่านการประเมิน
ตัวอย่างของความพยายามค้นหารูปแบบหรือต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชนระยะยาวอย่างบูรณาการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนารูปแบบระบบบริการสังคมเชิงบูรณาการโดยชุมชนสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยซึ่งริเริ่มโดยกระทรวงสาธารณสุขในปี 2550
โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง รวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องระหว่างปี 2556-2560 โดยร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการข้างต้น
โครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ: พัฒนาพื้นที่ต้นแบบและปัจจัยสำคัญ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระหว่างปี 2553-2556 โดยความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โครงการ Community-based Integrated Approach for Older Persons’ Long-term Care in Thailand โดย ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา และคณะ ระหว่างปี 2556-2557 โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Toyota Foundation และ
โครงการศึกษาต้นแบบของการบูรณาการระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดย ดร.วิราภรม์ โพธิศิริ และคณะ ปี 2559 เสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โครงการศึกษาหาต้นแบบเหล่านี้จะถูกนำไปขยายผลเพื่อใช้งานในระดับชาติ เมื่อไร และเพียงใด คงไม่ใช่เรื่องง่าย ล่าสุดมีความพยายามถ่ายโอน รพ.สต.ไปขึ้นกับ อปท.ก็มีเสียงคัดค้าน
อุตส่าห์ค้นคว้าวิจัยมาตั้งหลายรูปแบบ เลือกเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์เสียทีเถอะครับ
ภาพหน้าปก: Background vector created by Freepik