ปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่

สรุป TDRI Annual Public Conference 2018

ปรับการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ – คุณณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ ทีดีอาร์ไอ คุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ ทีดีอาร์ไอ และคุณเทียนธันย์ ณีศะนันท์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Skillsolved Recruitment

สรุปโดย กชกร ความเจริญ

เมื่อการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานไม่ใช่ทางเลือกสำหรับโลกที่กำลังจะมาถึง หลายอาชีพจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี บทความนี้จะพาผู้อ่านจินตนาการถึงโลกอนาคต เราคาดเดาได้หรือไม่ว่า งานประเภทไหนจะยังคงอยู่ งานประเภทไหนจะหายไป ทักษะใดเป็นที่ต้องการ ผู้อ่านจะได้ออกไปสำรวจประเทศที่เป็นผู้ฉุดโลกไปข้างหน้า ว่าแต่ละภาคส่วนในประเทศเหล่านั้นสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานและเตรียมแรงงานที่ตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างไร และสุดท้ายกลับมาทบทวนประเทศไทยและทบทวนตนเองว่าเราพร้อมแค่ไหน ปัจเจกจะต้องปรับตัวอย่างไร และรัฐจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อสนับสุนนและเตรียมพร้อมประชากรให้อยู่ได้ในโลกยุคใหม่

ในโลกอนาคตที่กำลังจะมาถึง มีงานหลายประเภทจะหายไปจากเทคโนโลยีที่เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่าและต้นทุนที่ต่ำกว่า เมื่อคิดในทางกลับกัน โจทย์ที่ควรตั้งคำถามต่อมาคืองานใดที่มนุษย์จะยังคงทำได้ดีกว่าและควรค่าแก่การฝึกฝนเพื่อรับมือโลกอนาคต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford 2 ท่าน ได้ศึกษาพบว่ามีงานคอขวดทางวิศวกรรมที่จะทำให้ไม่สามารถพัฒนา AI มาทำงานแทนคนได้ในเวลาอันใกล้ 3 งานหลัก ได้แก่ ใช้ความละเอียด (Hand) ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Head) และ ใช้ความฉลาดทางสังคม (Heart) อาชีพทีจำเป็นต้องเชี่ยวชาญในคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อ จะมีโอกาสถูกแทนที่ต่ำ เช่น อาชีพศัลยแพทย์ ส่วนอาชีพพนักงานคีย์ข้อมูลที่แทบไม่ต้องใช้คุณสมบัติทั้ง 3 เลยนั้นมีโอกาสถูกทดแทนมาก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ได้ประมาณการว่ามีโอกาสมากถึง 99% ที่จะถูกทดแทน

หากถือว่างานที่มีโอกาสถูกแทนมากกว่า 70% เป็น “งานเสี่ยงสูง” ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานเสี่ยงสูงอยู่ราว 8.3 ล้านคน โดยที่แรงงานเสี่ยงสูงกว่าครึ่งมีวุฒิการศึกษา ม.3 หรือต่ำกว่า แต่ทั้งนี้ใช่ว่าจะมีเพียงผู้จบการศึกษาไม่สูง เช่น คนงานเย็บผ้า คนขับรถบรรทุก พนักงานแคชเชียร์ จะะได้รับผลกระทบ แม้แต่คนที่ทำงานมีการศึกษาค่อนข้างสูงอย่างเช่น พนักงานบัญชี หรือนักบัญชี ก็หนีเทคโนโลยีปั่นป่วนไม่พ้น ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับไหนก็มีความเสี่ยงที่งานจะถูกทดแทนเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นคนงานเย็บผ้าดู ซึ่งในอดีตจะมีโอกาสถูกปั่นป่วนด้วย automation ค่อนข้างยากเพราะเป็นงานปราณีต (Hand) แต่ที่อเมริกามี Startup ชื่อว่า SoftWear ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี Automation ที่สามารถผลิตเสื้อยืดได้ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพชิ้นผ้าไปจนถึงเย็บผ้าสำเร็จเป็นเสื้อยืด โดยเย็บได้เร็วเป็น 2 เท่าของคนงาน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสัญชาติจีนอย่าง Tianyuan Garments ย้านฐานการผลิตไปที่รัฐอาร์คันซอ (Arkansas) เนื่องด้วยไม่ต้องพึ่งแรงงานราคาถูกอีกต่อไป

อาชีพพนักงานแคชเชียร์ก็จะหายไปเมื่อร้านค้ามีระบบให้ลูกค้าจ่ายเงินอัตโนมัติ เหมือนที่ amazon ได้ทดลองเปิด amazon go ร้านซูปเปอร์มาร์เก็ตที่ปราศจากเคาน์เตอร์คิดเงิน ลูกค้าสามารถเดินเข้าไปแล้วหยิบสินค้าที่ต้องการ หลังจากที่เดินออกจากร้าน amazon จะคิดเงินไปยังบัญชี amazon ของลูกค้าอัตโนมัติ ประเทศจีนก็มีร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแม้แต่พนักงานประจำร้านชื่อ BingoBox ที่เปิดไปแล้วกว่า 300 สาขา และมี MobyMart มาร์ทเคลื่อนที่ได้ที่นอกจากไม่ต้องใช้พนักงานประจำร้านแล้วร้านยังสามารถเคลื่อนที่ไปหาลูกค้าได้ด้วย

มาที่ความเสี่ยงของพนักงานบัญชีและนักบัญชี ที่เยอรมันมีบริษัท startup ชื่อ SMACC ที่พัฒนาเทคโนโลยี Deep Learning ให้สามารถทำงานบัญชีอย่างครบวงจร ตั้งแต่แปลงเอกสารการเงินให้อยู่ในรูปที่คอมพิวเตอร์ใช้ได้ ใช้ AI จัดแยกประเภทข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง ทำบัญชีตามกระบวนการที่กำหนดล่วงหน้า กระทบยอดบัญชีกับธนาคารและอนุมัติเบิกจ่านยเงินอันโนมัติ รายงานข้อมูลแบบ real-time ไปจนถึง สามารถเชื่อมต่อกับระบบ ERP ที่บริษัทใช้ได้

งานกฎหมายก็มีงานบางส่วนที่เทคโนโลยี AI สามารถเข้ามาทำแทนนักกฎหมายได้ ตั้งแต่ Robo-Lawyer ที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายอัตโนมัติ Legal Research ช่วยวิเคราะห์ข้อกฎหมายและค้นหาคำพิพากษาก่อนหน้าที่เกี่ยวข้อง Contract Analysis ที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบทบทวนสัญญาว่าการเซ็นต์สัญญาจะทำให้ผู้เซ็นต์เกิดความเสี่ยงทางกฎหมายหรือไม่ ระบบอย่าง eDiscovery ที่ช่วยรวบรวม คัดกรองข้อมูล ให้เหลือเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี และ Legal Analytics ที่ใช้ Bigdata ช่วยวางกลยุทธต่อสู่คดี ที่บอกได้กระทั่งว่าผู้พิพากษาคนไหนมักจะรับฟังข้อโต้แย้งแบบไหนเป็นพิเศษ

จะเห็นได้ว่า แม้แต่อาชีพที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างนักกฎหมาย ก็ยังต้องปรับตัวเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา  โดยคุณณัฐสิฏได้แนะนำ 5 กลยุทธ์หลักที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกับ AI ที่เสนอโดยนักวิชาการ 2 ท่านคือ Thomas Davenport และ Julia Kirby และได้ยกกรณีการปรับตัวของนักกฎหมายเป็นตัวอย่าง ได้แก่ (1) ย้ายมาทำงานภาพรวม เช่น นักกฎหมายผันตัวเป็นผู้จัดการโครงการ (2) เข้าไปร่วมพัฒนาระบบ AI เช่น นักกฎหมายเข้าไปร่วมพัฒนาระบบ AI ด้านกฎหมาย (3) ชาญฉลาดใช้ เปลี่ยนจากความกังวลที่จะถูกแทนที่งานมาเป็นการนำ AI มาช่วยงาน เช่น นำ AI มาใช้วิเคราะห์แนวทางการเขียนคำฟ้องที่จะชนะ (4) ใฝ่หาช่องว่าง ที่ AI จะ เช่น เลือกเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างกฎหมายกีฬา กฎหมายคุ้มครองสัตว์ และ (5) แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์ ทำในสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถมอบให้ได้ เช่น เป็นทนายว่าความหรือเป็นที่ปรึกษาที่เข้าใจลูกความ

คุณเทียนธันย์ ณีศะนันท์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Skillsolved Recruitment ได้ร่วมให้ข้อมูลว่าปัจเจกและองค์กรต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกที่กำลังมาถึงอย่างไร

นอกจากอาชีพที่กล่าวมาข้างต้น มีอาชีพผู้เชี่ยวชาญอีกหลายอาชีพที่น่าเป็นห่วง ปัจจุบันมี AI ทำเทรดเดอร์ (Trader) หลายตัวที่สามารถเทรดโดยไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เทรดได้ได้กำไรเท่ากับหรือมากกว่ามนุษย์ ธุรกิจอย่าง Customer Service ก็มีหุ่นยนต์ตอบคำถาม (Chatbot) ที่มาช่วยตอบปัญหาลูกค้าในธุรกิจค้าออนไลน์ (E-commerce) และธุรกิจสรรหาพนักงานใหม่ (Recruitment) เองก็มี AI ที่เข้ามาช่วยคัดเลือกประวัติผู้เข้าสมัครร่วมงาน (CV)

ที่อเมริกาเคยจัดงานเชิญผู้สรรหาพนักงานใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก (Global Recruiter) ที่มีชื่อเสียงมา 10 ท่านร่วมกับอีก 1 ผู้สรรหาที่เป็น AI มาแข่งกันคัดเลือกประวัติผู้เข้าสมัครร่วมงานจำนวน 6,000 ใบเพื่อคัดผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับบริษัทที่สุด ผู้ชนะอันดับ 1 และ 2 ที่คัดเลือกได้อย่างมีคุณภาพคือมนุษย์ โดยใช้เวลาคัดเลือก 24 ชั่วโมง ในขณะที่สามารถคัดเลือกได้มีคุณภาพเป็นอันดับ 3 คือ AI ที่ใช้เวลาคัดเลือกเพียง 3 วินาที แต่เมื่อเปลี่ยนจากการมอง AI เป็นภัยคุกคามเป็นการ ‘ชาญฉลาดใช้’ คนที่ทำงานสรรหาพนักงานใหม่ สามารถใช้สิ่งนี้เป็นโอกาสทำงานร่วมกับเทคโนโลยี เมื่อใช้เวลาคัดเลือกประวัติผู้เข้าสมัครร่วมงานน้อยลงก็สามารถใช้เวลากับการสัมภาษณ์และเทรนพนักงานมากขึ้น

แล้วองค์กรจะต้องทำอย่างไรเพื่อรับมือกับโลกเทคโนโลยีที่กำลังมาถึง องค์กรแบบดั้งเดิมที่ต้องการปรับตัวรับเทคโนโลยีโดยจ้างคนดิจิทัล (Digital Talent) เข้ามาทำงานควรรู้จัก การสร้างคุณค่าให้แก่พนักงานภายในองค์กร (Employee Value Proposition) ขององค์กรตัวเองเพื่อดึงดูดพนักงานในแบบที่บริษัทต้องการ จากการสำรวจคนดิจิทัลของไทยพบ 5 อันดับความต้องการต่องาน คือ การได้เงินเดือนและผลตอบแทนที่ดี (66%) การมีสมดุลย์ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (63%) ความท้าทายในการทำงาน (50%) การมีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (40%) และบริษัทมีวัฒนธรรมการทำงานที่ตรงกับบุคลิก (38%) โดยทักษะทางเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปัจจุบันคือ AI, BigData และ Clound Computing

การเปลี่ยนแปลงของงานในอนาคต ทำให้วงจรชีวิตการทำงานของคนในยุคปัจจุบันต่างจากยุคก่อนที่มีเพียงเรียน ทำงาน และเกษียณอายุ ในโลกยุคนี้คนทำงานต้องพบเส้นทางที่ต้องพัฒนาตัวเองและประกอบสร้างตัวเองใหม่ (Reinvent) ตลอดเวลา คนในยุคนี้จึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยการ กำหนดเป้าหมาย ขวนขวายเติมทักษะที่ขาด และสร้างความสามารถจากตัวช่วย เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองให้ทัน

ประเทศสิงคโปรเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการ Reinvent ตัวเองและรัฐบาลสิงคโปรได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น รัฐบาลสิงคโปรได้จัดทำplatform ชื่อ My Skill Future ที่ให้ประชาชนเข้าไปกรอกข้อมูลประวัติและทักษะที่ตนเองมี แล้วระบบจะแนะนำอาชีพที่เหมาะกับทักษะที่มีรวมถึงระบุทักษะที่คนนั้นๆ ควรขวนขวายเพิ่ม ประเทศสิงคโปรได้รับรองหลักสูตรอบรมกว่า 24,000 หลักสูตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเปิดสอนโดยผู้ให้บริการหลายแห่ง รัฐอุดหนุนค่าใช้การอบรมบางส่วนให้กับประชาชน รวมถึงชดเชยค่าเสียเวลาให้นายจ้าง และแจกคูปองอบรมให้ประชาชนคนละ 500$

ตัวอย่างของตัวช่วย Reinvent ตัวเองจากฝั่งบริษัท Startup เช่น บริษัท Andela ที่ประเทศเคนย่า ได้จัดหลักสูตรอบรมเข้มข้น 6 เดือน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้อบรมการเขียนโปรแกรมและออกไปทำงานแก้ไขปัญหาจริงกับบริษัทลูกค้า ระหว่างโครงการผู้เข้าร่วมจะได้รับเงินเดือนและทำงานเต็มเวลา มาที่ประเทศอเมริกา รัฐเคนตั๊กกี้ ก็มีบริษัท Start-up ชื่อ Bitsource ที่รับอดีตคนงานเหมืองถ่านหินที่ถูกปิดมาเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยคัดคนที่มีทักษะการคิดเป็นกระบวนการแล้วสอนเขียนโปรแกรมโดยเริ่มจากศูนย์ วิธีการเช่นนี้ถูกขยายไปใช้ในหลายรัฐในอเมริกาเพื่อช่วยแก้ปัญหาคนว่างงาน

ในขณะที่รัฐบาลไทยมีหลักสูตรของกรมพัฒาฝีมือแรงงานเพียง 3,000 หลักสูตร และเป็นหลักสูตรระยะสั้นเน้นทักษะพื้นฐานและงานฝีมือ ทำให้ไม่เอื้อต่อการ Reinvent ตัวเอง นำมาสู่ข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยให้แรงงานไทย Reinvent ตัวเอง โดยการสร้างระบบข้อมูลชี้ทักษะที่ตลาดต้องการ สร้างระบบแนะแนวอาชีพ ส่งเสริมให้ผู้ฝึกอบรมแข่งขันกัน เช่น พัฒนาหลักสูตรอบรมที่หลากหลาย จัดการฝึกอบรมคุณภาพสูง อุดหนุนคนงานและนายจ้างสำหรับค่าใช้จ่ายฝึกอบรมและค่าเสียเวลางาน

เยาวชนในวันนี้จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมกับงานที่ยังไม่มีในวันนี้ ใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาที่วันนี้ยังไม่รู้ว่าคืออะไร การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงจำเป็นต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแห่งอนาคต มีพร้อมทั้ง ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skill) และความรู้ (Knowledge) การจำความรู้จะมีประโยชน์ลดลงเมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามา สิ่งสำคัญกว่าคือทัศนคตืใฝ่เรียนรู้ ทักษะคิดสร้างสรรค์ สื่อสารเก่ง คิดแก้ปัญหาเป็น และสามารถทำงานเป็นทีมเพื่อรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียวในโลกอนาคต การศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนพร้อมกับโลกอนาคตได้นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงนั่งฟังอย่างเดียว ผู้เรียนจะต้องได้เล่นและลงมือทำ (Active Learning)

ทักษะการเขียนโปรแกรม (Coding) เป็นอีกทักษะที่มีความจำเป็นต่อโลกอนาคต ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่จะเป็นอนาคตของโลกนี้ เช่น AI หรือ Robot รวมถึงพัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน

เมื่อกล่าวถึงเรื่องสังคมแห่งเทคโนโลยีแล้ว ประเทศที่จำเป็นต้องพูดถึงคือประเทศเล็กๆ ในยุโรปเหนือ เอสโตเนียเป็นประเทศที่ 99% ของบริการสาธารณะสามารถติดต่อใช้บริการออนไลน์ 33% ของประชาการเลือกตั้งออนไลน์ และเปิดรับคนต่างชาติเป็นพลเมืองเอสโตเนียออนไลน์ การบริหารการศึกษาของประเทศเอสโตเนียเป็นการบริหารแบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการดูตารางเรียน ลาเรียน ให้-ส่งการบ้าน และพ่อแม่สามารถติดตามข้อมูลการเรียนได้ออนไลน์

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ผู้นำของเอสโตเนีย Toomas Hendril Ilves ประธานาธิบดีเอสโตเนีย ได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเริ่มมาจากเยาวชน โดย “มอบการศึกษาที่เอื้อให้พวกเขาอยู่ในสังคมอนาคตได้” และกล่าวถึงการให้เด็กเอสโตเนียเรียนเขียนโปรแกรมแต่เด็กไว้ว่า “ถ้าคุณเรียนแกรมม่าภาษาต่างประเทศตอน 7-8 ขวบแล้วมันจะต่างอะไรกับการเรียนเขียนโปรแกรม” Ave Lauringson อดีตผู้จัดการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ มูลนิธิสำคัญที่ได้วางรากฐานสารสนเทศก์ให้เอสโตเนียได้กล่าวไว้ว่า “ใครที่เขียนโปรแกรมได้จะไม่มีปัญหาในการหางาน เพราะทุกบริษัทจะมองหาคุณ”

การเรียนเขียนโปรแกรม ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่หน้าคอมพ์เสมอไป ประเทศฟินแลนด์สอนให้เด็กเขียนโปรแกรมด้วยโจทย์การจัดโต๊ะอาหาร เราจะไม่ได้กินข้าว ถ้าเราเอาอาหารวางก่อน ตามด้วยจาน ต่อด้วยช้อนส้อม และเอาผ้าปูโต๊ะคลุมสุดท้าย การเรียนเช่นนี้ทั้งสนุกและได้ซึมซับทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและเป็นลำดับขั้นในทุกขั้นตอน ถ้าเราเดินเข้าไปที่โรงเรียนเอสโตเนีย จะเห็นเด็กทำเกมส์โดยการเขียนโปรแกรมภาษาภาพ โตขึ้นมาก็รวมกลุ่มกันประกอบหุ่นยนต์บังคับ และเอสโตเนียก็มีโครงการให้เด็กไปรวมกลุ่มกันไปดูปัญหาของผู้สูงอายุ และให้เด็กๆ พัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุ

การเรียนเขียนโปรแกรมในโรงเรียนของประเทศเอสโตเนียเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผ่านโครงการ Programming Tiger ซึ่งเริ่มเพียง 20 โรงเรียนในปี 2012 และได้ขยายผลในปัจจุบันเป็น 440 โรงเรียน จาก 550 โรงเรียนทั่วประเทศ ภาคีแต่ละฝ่ายมีบทบาทดังนี้ ภาครัฐได้ทำหลักสูตรบูรณาการสอดแทรกการเรียนโปรแกรมสร้างหุ่มยนต์ในวิชาต่างๆ และสนับสนุนงบประมาณ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมครู จัดหาสื่อการสอนให้โรงเรียนที่ขาดแคลน รวมถึงสนับสนุนงบประมาณให้กับกิจกรรมนอกห้องเรียน และครูมีการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีการสอนที่ดีเพื่อปรับปรุงการสอนอยู่เสมอ

กลับมาที่ประเทศไทยกับคำถามว่าประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับโลกอนาคต ผลการสอบ PISA (2015) ชี้ว่า 50% ของเด็กไทยอายุ 15 ปีอ่านจับใจความไม่ได้ 53% แก้โจทย์คณิตประยุกต์อย่างง่ายไม่ได้ 47% แก้โจทย์วิทย์ประยุกต์อย่างง่ายไม่ได้ 36% ไม่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 วิชา และเด็กไทย 54% ไม่สามารถทำงานกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

แม้ว่าข้อมูลข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยน่าเป็นห่วงไม่น้อย คุณศุภณัฏฐ์ กล่าวว่าหากมองในรายละเอียดการศึกษาไทยยังมีความหวัง เมื่อนำคะแนน PISA มาแจกแจง โดยค่าเฉลียจะพบว่าโรงเรียนที่สอนนักเรียนยากจนจะมีคะแนน PISA ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ก็ยังพบว่ามีบางโรงเรียนที่สอนนักเรียนยากจนแต่ได้คะแนน PISA สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศรวมถึงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ประเทศไทยยังมีโรงเรียนทางเลือกที่จัดการเรียนการสอนโดยที่ให้นักเรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองและทำโครงการเพื่อแก้ปัญหา เช่น โรงเรียนดรุณสิกขาลัย และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีภาคเอกชนอย่างบริษัท LearnEducation ที่พัฒนาโปรแกรมสอนหนังสือที่นักเรียนเลือกเรียนได้ตามความเร็วที่ต้องการ บริษัท CDG จัดทำ Boothcamp เขียนโปรแกรมในโรงเรียน และเมื่อปลายมีนาคมที่ผ่านมา งาน Education Disruption & Hackathon มีทีมสมัครเข้ามาพัฒนา Edtech เพื่อแก้ปัญหาการศึกษากว่า 300 ทีม

ประเทศไทยยังมีครู โรงเรียน องค์กรที่มีความสามารถ มีความคิดและพลังที่จะทำให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาแห่งอนาคต เพียงแต่ปัจจุบันเรายังทำงานแยกส่วนกัน ภาคการศึกษาต้องเปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ประชากรทุกช่วงอายุกลับเข้ามาพัฒนาตัวเอง เอกชนสนับสนุนให้พนักงานได้เพิ่มพูนทักษะ รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะช่วยเหลือคนมีโอกาสน้อยได้มีโอกาสเปลี่ยนอาชีพ