tdri logo
tdri logo
19 มิถุนายน 2018
Read in Minutes

Views

ปรับทัศนคติภาครัฐเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต

ปรับทัศนคติภาครัฐเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ คุณเทียนสว่าง ธรรมวณิช สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นักวิจัย และ คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สรุปโดย ธิปไตร แสละวงศ์

1. เทคโนโลยีปั่นป่วน (Disruptive Technology)

ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่กำลังสร้างความปั่นป่วน (Disruption) แก่ภาครัฐที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างระบบกำกับดูแลที่เหมาะสมในอนาคต เทคโนโลยีใหม่ 3 ตัวแรกที่กำลังจะปั่นป่วนเศรษฐกิจและสังคมไทย ได้แก่ แอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ (ride sharing)  โดรนส่งพัสดุ และ การระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างความท้าทายอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ (1) การแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม เช่น ในกรณีรถแท็กซี่ที่เรียกผ่านแอปพลิเคชัน (2) การละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เช่น จากการถ่ายภาพด้วยโดรน (3) ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น กรณีอุบัติเหตุจากโดรน และ (4) การก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) เช่น การหลอกลวงนักลงทุนจากการระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล

2.การกำกับดูแลเทคโนโลยีปั่นป่วน

  • แท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน

บริการแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพมหานครเป็นบริการที่ถูกร้องเรียนจากผู้โดยสารในเรื่องต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”[1] พบว่า ผู้โดยสารร้อยละ 34 เคยถูกแท็กซี่มิเตอร์ปฏิเสธไม่รับ และร้อยละ 12 พบว่าคนขับไม่สุภาพ การเปิดให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Grab และ Uber จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้โดยสารและเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจาก (1) มีความสะดวกในการเรียกและรอรถ โดยผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้ผ่านสมาร์ทโฟนและได้ทราบระยะเวลาที่รถจะเดินทางมาถึงจุดรับและเส้นทางเดินรถไปสู่ที่หมาย (2) มีโอกาสเรียกรถได้ง่ายขึ้นและถูกปฏิเสธจากคนขับน้อยลงเนื่องจากแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันมีการกำหนดราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาด ในช่วงฝนตกอัตราค่าบริการจะปรับสูงขึ้นทำให้มีผู้ขับแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันพร้อมที่จะนำรถมาให้บริการมากขึ้น และ (3) มีความปลอดภัยและโดยทั่วไปมีบริการที่ดี บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถตรวจสอบประวัติคนขับ กำหนดรุ่นและสภาพของรถ และมีระบบให้คะแนนและรับเรื่องร้องเรียนบริการที่รวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันที่ชัดเจนทำให้บริการดังกล่าวผิดกฎหมายและทำให้มีการรวมตัวประท้วงของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าตนเสียเปรียบจากการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดทั้งในเรื่องของการทำใบขับขี่สาธารณะของผู้ขับรถ การขึ้นทะเบียนตัวรถ การต้องทำประกันภัยประเภทรถรับจ้างสาธารณะ และเรื่องราคาค่าโดยสารที่แท็กซี่มิเตอร์ต้องเก็บจากผู้โดยสารตามอัตราที่รัฐกำหนด ในขณะที่แท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันสามารถกำหนดราคาเองได้  (ดูกรอบที่ 1)

อนึ่ง การศึกษาประสบการณ์ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่า อินโดนีเซียมีการออกกฎหมายเพื่อให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2558 ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามดำเนินการไปแล้วในปี 2560 รัฐบาลไทยจึงควรเร่งออกกฎระเบียบรับรองบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อให้เป็นบริการที่ถูกกฎหมายและกำกับดูแลได้ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกในว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้ศึกษาแนวทางกำกับดูแลบริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันซึ่งผลการศึกษาของสุเมธ องกิตติกุล และคณะ (2561)[2] เสนอให้มีการกำกับดูแลแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันอย่างน้อย 3 ด้านดังนี้

  1. การกำกับดูแลสภาพรถ – กรมการขนส่งทางบกต้องกำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคลที่ให้บริการรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันติดสติกเกอร์แสดงสถานะรถแท็กซี่สาธารณะ ต้องตรวจสภาพรถและทดสอบความปลอดภัยของตัวรถเหมือนรถแท็กซี่สาธารณะ และต้องมีประกันอุบัติเหตุที่ครอบคลุมความรับผิดชอบไปถึงผู้โดยสาร
  2. การกำกับดูแลคนขับรถ – บริษัทผู้ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันต้องตรวจประวัติคนขับรถซึ่งต้องได้รับใบขับขี่รถสาธารณะและยื่นแบบฟอร์มภาษีเงินได้
  3. การกำกับดูแลราคา – กรมการขนส่งทางบกต้องกำหนดเพดานค่าโดยสารของแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันไว้ที่ 2 ถึง 3 เท่าของค่าโดยสารมาตรฐานของแท็กซี่มิเตอร์
  •  โดรน (Drone)

เทคโนโลยีโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับถูกเริ่มพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2517 เพื่อใช้ในการสอดแนมและทิ้งระเบิด หลังจากนั้นโดรนจึงถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อจำหน่ายเป็นโดรนใช้งานทั่วไป (Consumer drone) เช่น การเล่นเป็นงานอดิเรก และถูกนำมาประยุกต์ทางการพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพมุมสูงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในธุรกิจการก่อสร้าง หรือประเมินเจริญเติบโตของพืชในธุรกิจเกษตร  การประยุกต์ใช้โดรนกำลังพัฒนาล้ำหน้ามากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในต่างประเทศเริ่มทดลองนำโดรนเข้ามาใช้ในการส่งพัสดุ เช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ Amazon.com Inc. ซึ่งทดลองการให้บริการ Amazon Prime Air ตั้งแต่ปี 2556

การนำโดรนมาใช้ในพื้นที่เปิดในลักษณะนี้สร้างความกังวลให้แก่องค์กรกำกับดูแลของรัฐว่าจะมีการนำไปใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เนื่องจากโดรนมักประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพและวีดีโอ และสร้างอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เช่น เกิดอุบัติเหตุชนกับอากาศยานอื่น

การกำกับดูแลโดรนของไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497[3]  และ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมีหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากโดรน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ใช้โดรนจะต้องขึ้นทะเบียน “ผู้ครอบครองโดรน” และเครื่องโดนกับสำนักงาน กสทช.[4]  และขึ้นทะเบียน “ผู้บังคับโดรน” กับสํานักงานการบินพลเรือนฯ โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบด้วยโดรนที่ติดกล้องและโดรนที่ไม่ติดกล้องแต่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ผู้ที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดรนอาจได้รับโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลและส่วนที่ยังต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล ส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ ต้องบังคับโดรนให้บินในวิสัยการมองเห็น (Visual line of sight) เท่านั้น ห้ามบินกลางคืน ห้ามบินสูงกว่า 90 เมตรจากพื้นดิน และ ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนหลักการการกำกับดูแลที่ยังต้องปรับปรุงให้เป็นสากลมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการที่ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล 2 แห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลโดรนเพียงแห่งเดียว เช่น Federal Aviation Administration ที่กำกับดูแลการใช้โดรนเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และ ข้อสองคือการกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์และเพื่องานทางวิชาการ ในขณะที่ในต่างประเทศการอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะจบที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด เพื่อมิให้การอนุญาตถูกการเมืองแทรกแซง

  • การระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล

การระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัลหรือ ICO (Initial Coin Offering) เป็นการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ที่นักลงทุนจะได้ถือครองเหรียญดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัล (digital token) เป็นการแลกเปลี่ยน เหรียญดิจิทัลมีคุณสมบัติคล้ายคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) หรือเงินตราดิจิตัล (Digital currency) เช่น เงินสกุลบิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารกลางใด ๆ แต่ใช้การกำกับดูแลแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เหรียญดิจิทัลอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยลงทุน (Securities token) หรือตั๋วซื้อสินค้าและบริการในอนาคต (Utility token) ก็ได้

การระดมทุนผ่าน ICO เป็นที่นิยมของสตาร์ทอัพ (Startup) เนื่องจากดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนหรือประวัติการดำเนินธุรกิจก่อหน้านี้ สตาร์ทอัพเพียงนำเสนอเอกสารประกอบการเสนอขาย ICO (white paper) แก่นักลงทุนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เข้าถึงนักลงทุนทั่วโลกเพื่อระดมทุนได้รวดเร็ว (ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนาที) และมีค่าใช้จ่ายในการระดมทุนต่ำเมื่อเทียบกับกับการระดมทุนผ่านการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering – IPO)

มูลค่าเงินระดมทุนจาก ICO มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 การระดมทุนจาก ICO มีมูลค่าเกือบ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.93 หมื่นล้านบาท) ซึ่งสูงกว่ายอดการระดมทุนจากวิธีร่วมลงทุน (Venture Capital) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสตาร์ทอัพ (เช่น kickstarter.com) เป็นครั้งแรกและสูงกว่าถึงสองเท่า

แม้จะมีข้อดีสำหรับธุรกิจ แต่องค์กรกำกับดูแลตลาดทุนกังวลว่าการระดมทุนผ่าน ICO จะถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหลอกลวงนักลงทุน นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเป็นนักลงทุนรายย่อยที่อาจเข้าไม่ถึงข้อมูลรายละเอียดที่แท้จริงของโครงการลงทุนหรือละเลยที่จะศึกษาโครงการให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน กรณีการออก ICO ขาย Useless Ethereum Token ในปี 2560 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่านักลงทุนจำนวนหนึ่งละเลยที่จะศึกษารายละเอียดประกอบ ICO ก่อนลงทุน (ดูกรอบที่ 2)

หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินในต่างประเทศได้ออกมาตรการกำกับดูแล ICO ด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถประมวลได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) อนุญาตให้ออก ICO ได้อย่างเสรีและให้นักลงทุนศึกษาความเสี่ยงด้วยตนเอง เช่น ประเทศญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ (2) อนุญาตให้ออก ICO ได้เสรี แต่ผู้ออก ICO ต้องเปิดการขายหน่วยลงทุนให้เฉพาะ “ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย”  (Accredited Investor)[5] เช่น สหรัฐอเมริกา (3) อนุญาตให้ออก ICO โดยพิจารณาเป็นรายกรณี และให้ทดลองออก ICO ได้ภายใต้เงื่อนไขและขอบเขตจำกัดผ่าน “กระบะทรายกฎระเบียบ” (Regulatory sandbox) และ (4) ไม่อนุญาตให้มีการออก ICO โดยเด็ดขาด เช่น ประเทศจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งห้ามการออก ICO ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560

ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดการกำกับดูแล ICO ไว้อย่างน้อย 3 เงื่อนไข ได้แก่ (1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล) ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (2) อนุญาตให้เฉพาะบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดเป็นผู้เสนอขายโทเคนดิจิตัลแก่ประชาชนได้เท่านั้น (3) การเสนอขายโทเคนดิจิตัลต้องดำเนินการผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิตัลที่ ก.ล.ต. เห็นชอบเท่านั้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลได้ออกพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดให้กำไรจากโทเคนดิจิตัลถือเป็นรายได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรและต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของเงินได้ อัตราภาษีใหม่ที่เรียกเก็บจาก ICO ของไทยยังคงมีความลักลั่นเมื่อเทียบกับการขาย IPO ของไทยซึ่งรายได้ทุกประเภทจะได้รับยกเว้นภาษี และมีอัตราเรียกเก็บที่สูงกว่าอัตราภาษีในประเทศสิงคโปร์ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ รายได้นิติบุคคลจากการขาย ICO ในสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 17 แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีหากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board) อนุมัติ และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital gains) ไม่ถูกเก็บภาษี (ดูตารางที่ 1)

3. นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

ช่วงปี 2558-2559 รัฐบาลประกาศนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตัวหนึ่งที่สำคัญคือจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์น (ระดมทุนได้ตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป หรือราว 3,300 ล้านบาท)

บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี CB Insights ประเมินว่า จนถึงปี พ.ศ. 2560 สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 237 ราย โดยยูนิคอร์นที่มีมูลค่าทุนสูงที่สุด 10 อันดับแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมีสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้สูงสุดอันดับหนึ่งและสองของโลกอย่าง Uber Technologies Inc. (สหรัฐฯ) มูลค่าทุน 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) Didi Chuxing (จีน) มูลค่าทุน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ส่วนในภูมิภาคอาเซียน มี 5 ประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของยูนิคอร์น (ดูตารางที่ 2)  แต่ไม่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายใดตั้งสำนักงานใหญ่หรือระดมทุนในประเทศไทย แม้บางบริษัทจะมีคนไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เช่น Grab และ Garena ในขณะที่ประเทศไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่ของบริษัทเหล่านี้ นอกจากนี้ สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังจ้างแรงงานไทยทักษะสูงในสาขาวิจัยและพัฒนาไม่มากนัก บริษัท Grab ประเทศไทยมีพนักงานชาวไทยตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) เพียง 1 คน ส่วนบริษัท Garena มีนักพัฒนาเกมชาวไทยเพียง 10 คน จึงเกิดคำถามขึ้นว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถระดับใดที่เพียงพอจะส่งเสริมหรือดึงดูดให้เกิดการจัดตั้งสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในประเทศ

การประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิตัลของ 63 ประเทศทั่วโลกในปี พ.ศ. 2560 ของ International Institute for Management Development (IMD) ชี้ว่า เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีขีดความสามารถสูงมาก ประเทศไทยยังต้องพัฒนาองค์ความรู้ที่รองรับเศรษฐกิจดิจิตัล โดยต้องปรับปรุงคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียน สร้างและดึงดูดแรงงานมีทักษะ และลงทุนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ในด้านอีกด้านหนึ่งนั้น กฎระเบียบของภาครัฐยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ (ดูรูปที่ 1)

4. ทัศนคติของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลเทคโนโลยีปั่นป่วน

ภาครัฐต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายยุคใหม่และมีทัศนคติรับความเสี่ยงจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ โดยประการแรก รัฐจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์และผลกระทบของเทคโนโลยี และกล้าส่งเสริมเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แม้มีกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเสียประโยชน์ เช่นในกรณีของการทำให้แท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายที่จะมีผู้เสียประโยชน์ แต่ก็เป็นเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจโดยรวม จึงจำเป็นต้องส่งเสริมภายใต้การกำกับดูแลที่ไม่ลักลั่นกับระบบแท็กซี่มิเตอร์

ประการที่สอง รัฐต้องเลิกแนวคิดการเป็น “รัฐคุณพ่อรู้ดี”  (Nanny State) โดยปรับแนวคิดกำกับดูแลจากเดิมที่การออกแบบกลไกกำกับดูแลจากการประเมินผลกระทบของเทคโนโลยีด้วยข้อมูลที่มีอยู่หรือกรณีศึกษาในอดีต (backward-looking regulation) มาเป็นการกำกับดูแลที่ประเมินผลกระทบด้วยการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (forward-looking regulation) และเปลี่ยนการกำกับดูแลแบบที่ยึดหลักการระวังไว้ก่อน (precautionary regulation) ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ผลกระทบและกำหนดแนวทางป้องกันให้ได้เสียก่อน มาเป็นการกำกับดูแลที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตามระดับความเสี่ยง (risk-based regulation) เช่นในกรณีของ ICO ที่องค์กรกำกับดูแลตลาดทุนอาจจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนได้ แต่ให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนควบคู่ไปด้วย

สุดท้าย กระบวนการกำหนดนโยบายและกลไกการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

  • มีหลักฐาน – รัฐเปิดพื้นที่กระบะทรายกฎระเบียบให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้ทดลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปพร้อมกับการที่รัฐได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลที่จำเป็นในการออกแบบกฏกติกาที่เหมาะสม
  • มีส่วนร่วม – รัฐเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการออกแบบกลไกกำกับดูแล
  • มีสมดุล – รัฐต้องประเมินผลดีและผลเสียของกฎระเบียบให้ชัดเจน และออกกฎระเบียบที่ชัดเจนและทันการณ์ เพื่อให้นักลงทุนไม่เกิดความสับสนและมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางนโยบายของภาครัฐ
  • มีเอกภาพ – หลีกเลี่ยงการกำกับดูแลที่ทับซ้อนระหว่างหลายหน่วยงาน

[1] การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ”  ระหว่างวันที่ 15 – 20 กรฎาคม พ.ศ. 2557
[2] เอกสารประกอบการสัมมนา “การกำกับดูแลบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชัน” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ท
[3]ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. ๒๕๕๘
[4]คำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายบนอก (Drone) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
[5] Accredited Investor ตามกฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (17 C.F.R. §230.501 (a)) หมายถึง ธนาคารหรือสถาบันการเงิน และบุคคลธรรมดาที่มีรายได้มากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีรายได้รวมกับคู่สมรสมากกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด