สรุป TDRI Annual Public Conference 2018
“ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทย ในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ร่วมอภิปราย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คุณเรืองโรจน์ พูนผล คุณสฤณี อาชวานันทกุล ผู้ดำเนินการอภิปราย ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน
สรุปโดย นายศุภชัย สมผล นายภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล
นางสาวสรัลชนา ธิติสวรรค์ นายชวน หวังสุนทรชัย
และนายกัญจน์ จิระวุฒิพงศ์
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศก่อให้เกิดความกังวลใจต่อการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่านได้ร่วมนำเสนอความคิดเห็น แนวทางการรับมือ และการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเหมาะสม ซึ่งสาระสำคัญของการอภิปรายของผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่านสามารถสรุปได้ดังนี้
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)
นโยบายและกฎระเบียบของประเทศไทยกับปัญหาการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn)[1] และรูปแบบการปรับตัวของภาครัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว:
แนวคิดเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่คนสมัยก่อนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงและจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ดังเช่นปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในประจำวันของคนในสังคม ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถดำเนินการได้ผ่าน 3 ประเด็นใหญ่ คือ
- การปรับปรุงและแก้ไข ตลอดจนการออกกกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน ภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลในส่วนของกฎหมายเสียก่อน เนื่องจากกฎหมายของประเทศไม่รองรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น เห็นได้จากแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นนี้ คือ คณะกรรมการร่างกฎหมายเพื่อรองรับธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีการออกกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตัวอย่างเช่น
1) พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ที่จะรองรับการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น
2) พระราชบัญญัติแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) จะเพิ่มขอบเขตในการสร้างแซนด์บ็อกซ์มากขึ้น เพื่อเอื้อให้ผู้ที่อยากทำนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3) พระราชบัญญัติรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ที่มีหัวใจคือการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทั้งนำไปสู่การสร้างเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ
- การพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานขับเคลื่อน กำกับดูแล ตลอดจนผู้ร่างกฎหมาย จากเดิมที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลข้างต้นยังมองไม่เห็นภาพสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จึงทำให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้าใจของหน่วยงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในตัวของกฎหมายและสิ่งที่ต้องการจะบังคับใช้ จากภาพที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า แม้เราจะมีกฎหมายที่ดีแล้ว แต่หากผู้กำกับดูแลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง การพัฒนาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
- การสร้างความตั้งใจและความต้องการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปให้ทันต่างชาติ การดำเนินงานของภาครัฐไม่ควรที่จะปกป้องตัวเองมากจนเกินเหตุจนทำให้ไม่สามารถที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าประเทศไทยจะมีสตาร์ทอัพสนใจเข้ามาสร้างตัวอยู่มากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด แต่ภาครัฐก็ยังคงไม่เปิดใจเพื่อรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เห็นได้จากชาวต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพยังจำเป็นที่จะต้องใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่มีความสนใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซึ่งหากมีการเปิดใจรับสิ่งนี้ การเปิดให้มีวีซ่าแบบพิเศษธุรกิจสตาร์ทอัพดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพได้
ภาครัฐมีแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน:
การดำเนินงานของภาครัฐเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากการริเริ่มแนวคิดทบทวนและปฏิรูปกฎหมายแล้ว หน่วยงานภาครัฐยังจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทตนเองมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกมากขึ้น สำหรับแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนทางเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น ภาครัฐควรลดบทบาทของตนเองลง เป็นเพียงส่วนสนับสนุนและรับฟังปัญหา อีกทั้งยังควรส่งเสริมและผลักดันให้เอกชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และต้องรักษาความสมดุลที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ซึ่งคำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ทั้งในเรื่องการเข้าถึงสิทธิและข่าวสารต่างๆ กล่าวคือ ในขณะที่โลกใหม่นั้นเป็นหัวหอกในการสร้างการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คุณเรืองโรจน์ พูนผล (ผู้ก่อตั้ง Disrupt University และกองทุน 500 TukTuks)
ปัญหาการสร้างสตาร์ทอัพในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน :
ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาสำคัญอยู่ 3 ประเด็นที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ปัญหาด้านระยะเวลาการก่อตัวของสตาร์ทอัพ ธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยยังเกิดขึ้นไม่นานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่มีการเติบโตทางสตาร์ทอัพ สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นคลื่นลูกแรก และตลาดสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก และลักษณะของการประกอบธุรกิจเน้นการอยู่ได้เป็นหลัก จึงไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
- ปัญหาทางด้านการเงินและการระดมทุน ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนด้านการเงินและการระดมทุนที่ยังมีปัญหาคอขวด ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจเหล่านี้จะถูกตีมูลค่าต่ำกว่าที่เป็นจริง อันจะให้ทำให้สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียเปรียบในการระดมเงินทุนจากนักลงทุน กล่าวคือ หากเปรียบเทียบสตาร์ทอัพที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการแต่แห่งหนึ่งเกิดขึ้นในไทย อีกแห่งกำเนิดในต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ การระดมเงินทุนของสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์จะได้มูลค่ามากกว่า
- ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยยังคงต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอยู่พอสมควร โดยในปัจจุบัน พบว่า บุคลากรในประเทศที่มีความสามารถยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจทั้งหมดในประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติที่มีความสามารถเพื่อชดเชยความขาดแคลนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวทางการสร้างสตาร์ทอัพของไทยในขั้นแรกไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพมูลค่าสูงถึงระดับยูนิคอร์น แต่ควรสร้างกระแสคลื่นสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับที่ต่ำลงมา (หรือที่เรียกว่าระดับโพนี่) จำนวนหลายๆ แห่งให้ได้ก่อน เพื่อจะเป็นตัวสนับสนุนการสร้างกระแสคลื่นลูกที่สองอีกครั้งเพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัพระดับโพนี่เหล่านี้กลายเป็นระดับยูนิคอร์นในอนาคตได้
นอกจากนี้ ในขั้นต้นรัฐบาลควรมีบทบาทในการปรับปรุงและส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและรองรับกับการพัฒนาประเทศอยู่ 3 ประเด็น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การปรับแก้กฎหมายให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในบางครั้งกฎหมายของประเทศไทยยังไม่สามารถนำมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้จึงควรมีการปรับแก้ไขให้มีความทันสมัยมากขึ้น
- ระบบของราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการนำแผนการต่างๆ มาปฏิบัติจริง ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการกำหนดตัวชี้วัดของส่วนราชการ ทำให้เกิดการปฏิบัติเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ปลายทางเท่านั้น โดยบางครั้งอาจไม่คำนึงถึงการเรียนรู้ในขณะปฏิบัติ ซึ่งผลลัพธ์จากผลตัวชี้วัดที่ออกมาได้นั้นก็ไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงได้ทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรกำหนดตัวชี้วัดที่เน้นในเชิงปริมาณมากจนเกินไป ประกอบกันนั้นควรให้ความสำคัญกับภาคปฏิบัติมากขึ้น
- การปรับทักษะแรงงานผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยบทบาทของเอกชนเป็นหลัก โดยที่หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ชุมชน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด (หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ความมั่นใจกับแนวทางของรัฐบาลที่รับมือกับเทคโนโลยีที่ปั่นป่วน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน และแนวทางการรับมือของภาครัฐ:
ในอนาคตแรงงานจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ (AI) แรงงานจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ตามทันเทคโนโลยี แต่การปรับตัวระหว่างปัจจัยการผลิต ทุน และแรงงาน ยังมีความแตกต่างกันมาก ทั้งแรงงานยังต้องใช้เวลานานในการปรับตัวไปทำงานในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแรงงานที่ไม่มีทักษะ นอกจากนี้ วงจรการพัฒนาเทคโนโลยีและวงจรผลิตภัณฑ์ที่สั้นลงถือเป็นโจทย์ใหม่ที่มีความท้าทายสำหรับแรงงานไทย ซึ่งการที่ประเทศไทยไม่ได้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้มากนักจะทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานไทยลดลง และจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมวงกว้างได้
แนวทางการรับมือและการเตรียมความพร้อมของภาครัฐมีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ คือ
- การฝึกทักษะแรงงานควรดำเนินการในลักษณะกระจายอำนาจและเป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐอาจดำเนินการโดยมองจากด้านอุปสงค์หรือ Demand side มากขึ้น เพื่อให้แรงงานได้ฝึกทักษะความสามารถที่ตรงตามความต้องการของตนเอง
- การสร้างความจำเพาะเจาะจงหรือทักษะเฉพาะทางให้กับแรงงาน เช่น ความนิ่มของมือ การชิม การสัมผัส เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาในเชิงพื้นที่ อาทิ การวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าควรออกแบบอย่างไรให้เอื้อต่อสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น
- การดูแลสวัสดิการของแรงงาน ภาครัฐควรมีสวัสดิการที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้กับแรงงาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านสวัสดิการทางสังคมก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าระดับไหนจึงจะเหมาะสม เพราะหากภาครัฐให้สวัสดิการกับแรงงานมากเกินไปอาจลดแรงจูงใจในการทำงานของแรงงานได้
ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นจากการทดแทนแรงงานเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี:
ความเหลื่อมล้ำของแรงงานสามารถวัดได้จากการกระจุกตััวของผลิตภาพแรงงาน การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ และ Platform บางอย่างทำให้การกระจุกตัวของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น แอพพลิเคชันการเดินทาง แอพพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่มีเพียงไม่กี่แอพพลิเคชัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว มองว่าการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง แต่มีโอกาสที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มลดลงได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การเริ่มธุรกิจมีต้นทุนน้อยลง และเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น
คุณสฤณี อาชวานันทกุล (กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด)
ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีกับการเปิดกว้างของพื้นที่ และสิทธิเสรีภาพทางการเมืองให้กับประชาชน:
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ การสอดแนม การปิดกั้นความคิดเห็น ล้วนอยู่ในมือของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น
พัฒนาการของประเทศเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจุบันมีการทำ Digital Revolution Index เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัด โดยเมื่อปี ค.ศ.2017 ประเทศไทยได้รับคะแนนลดลง ซึ่งมีองค์ประกอบในการคิดค่าดัชนีครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้
- อุปทาน : โครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
- อุปสงค์ : คนในสังคมยินดีที่จะใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยี บริการใหม่ๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้บริโภคในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยี social media อยู่ในระดับที่ดี
- สภาพแวดล้อม : สภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลและลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่กฎหมายที่เปิดกว้าง เอื้อต่อการลงทุน รวมไปถึงรัฐบาลที่มีความโปร่งใส ซึ่งประเทศไทยมีทิศทางไปในทางที่ควบคุมและตีกรอบมากกว่าเปิดกว้างและสนับสนุน และยังมีความกังวลในการใช้ซื้อขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่
- การสนับสนุนนวัตกรรมและความเปลี่ยนแปลง : ต้องสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ คือ มีความกล้าเสี่ยง แต่การที่ผู้ประกอบการจะกล้าเสี่ยงได้ต้องมีโครงสร้าง สภาพแวดล้อมที่รองรับและสนับสนุนให้คนรู้สึกว่าสามารถขัดผลประโยชน์หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับผู้มีอำนาจได้
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนีทั้ง 4 ด้านที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีของประเทศ พบว่า ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมภายในประเทศและการสนับสนุนนวัตกรรมยังเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจจะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ โดยหากอาชีพที่ถูกแทนที่นั้นเป็นอาชีพที่ต้องการโอกาสในการบ่มเพาะทักษะของแรงงานเพื่อที่จะก้าวไปยังอาชีพที่ใช้ทักษะจำเพาะ จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น อาทิ อาชีพผู้ช่วยทนายความหรือเสมียนในสำนักงานทนายความ (Paralegal) ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หากถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้แรงงานเหล่านั้นไม่สามารถก้าวขึ้นไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น เช่น อาชีพทนายความ ได้