สรุป TDRI Annual Public Conference 2018
ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน – ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และดร.นณริฏ พิศลยบุตร
สรุปโดย ชาคร เลิศนิทัศน์
เทคโนโลยีและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาซึ่งความปั่นป่วนในหลายตลาด เช่น บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นของอูเบอร์ (Uber) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในอดีต ผู้สอบใบอนุญาตเพื่อขับรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะต้องสามารถจดจำถนน 6 หมื่นเส้นทางให้ได้ทั้งหมด แต่อูเบอร์ทำให้มีผู้ขับขี่จำนวนมากสามารถขับรถได้โดยไม่ต้องจดจำถนน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการเดิมอย่างรุนแรง จนเกิดการประท้วงใหญ่ นอกจากนี้ บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นยังทำให้ราคาใบอนุญาตขับรถแท็กซี่สาธารณะในนครนิวยอร์คที่เคยสูงถึง 1.2 ล้านเหรียญต่อคันลดลงอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้สร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) อันเป็นการนำทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินดังกล่าวเช่น รถยนต์เป็นของตัวเองอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในเมือง และการวางผังเมืองอย่างมาก
ผลกระทบต่อภาคการผลิต
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อทุกภาคการผลิต ในภาคเกษตรกรรม มีตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท จอน เดียร์ ได้พัฒนาแทรกเตอร์อัจฉริยะที่สามารถควบคุมและสั่งการให้ดูแลใส่ปุ๋ย รดน้ำจากหน้าจอควบคุม ซึ่งช่วยลดแรงงานและต้นทุนในการผลผลิต นอกจากนั้นในประเทศญี่ปุ่น มีการใช้เซ็นเซอร์แสงในการคัดคุณภาพของมันหวานมิยาซากิ และมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มผลิตภาพในฟารมเลี้ยงโควากิว เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยมีตัวอย่างการทำสมาร์ทฟาร์มของเครือมิตรผล ที่มีการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่ภูมิศาสตร์ในการประเมินผลผลิตและใช้โดรนในการเพิ่มผลผลิตของไร่อ้อย
ในภาคอุตสาหกรรม มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานมากมาย ทั้งการบริหารจัดการคลังสินค้า (warehouse) โดยสามารถลดจำนวนคนงานได้มาก โดยในประเทศไทยมีการพัฒนาระบบคลังอัตโนมัติของหลายบริษัท เช่น บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ และบริษัทขอนแก่นแหอวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแหอวนรายใหญ่ของโลกและมีสินค้ามากกว่า 100,000 รายการ
นอกจากนี้ บริษัท เด็นโซ ประเทศไทย (Denso Thailand) ยังนำเอาระบบผลิตอัตโนมัติแบบลีน (lean automation) มาใช้ โดยยึดหลักการบริหารที่โรงงานจะต้อง “ลีน” ก่อนการนำเอาระบบ “ออโตเมชั่น” มาใช้ เพื่อให้โครงการที่ลงทุนคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภายใน 1 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การลดจำนวนแรงงานได้เป็นอย่างมาก
ภาคบริการก็ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเช่นกัน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ต่างได้รับผลกระทบจากการเติบโตของสื่อออนไลน์เช่น เฟสบุ๊ค (Facebook) หรือกูเกิล (Google) ธุรกิจการค้าก็ได้รับผลกระทบจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อาลีบาบา (Alibaba) และธุรกิจขนส่งก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากบริการเรียกรถยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น อูเบอร์ (Uber) และแกรบ (Grab) เป็นต้น
ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
เทคโนโลยียังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงาน โดยจะมีงานหลายประเภทที่จะถูกทดแทนในอนาคตอันใกล้เช่น งานใช้แรงงานที่มีการทำซ้ำบ่อย ๆ เป็นต้น มีผู้คาดการณ์ว่าประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยมีงานที่มีความน่าจะเป็นสูงที่จะถูกทดแทนได้ถึงประมาณร้อยละ 50 ของงานทั้งหมดในตลาดแรงงานปัจจุบัน (Frey and Osborne, 2017) อย่างไรก็ตาม จะมีงานอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบน้อยจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า “งาน 3H” ซึ่งประกอบด้วย งานที่มีความละเอียดประณีตในการใช้มือ (Hand) ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นระเบียบ (unstructured environment) งานที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Head) และงานที่ต้องใช้ความฉลาดทางสังคม (Heart)
การพัฒนาประเทศไทยต่อไปในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีจึงต้องหาแนวทางในการสร้างงานในกลุ่ม งาน 3H นี้ให้เกิดขึ้นได้มากพอ
3 ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของประเทศไทย
เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุประกอบแล้ว ไม่ง่ายเลยที่ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงตามเป้าหมายดังกล่าว
บทความนี้จะขอวาดภาพอนาคต 3 ภาพสถานการณ์ (scenario) ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการวาดภาพอนาคตดังกล่าวคือ การชวนให้คนไทยครุ่นคิดกับอนาคตของประเทศ โดยใช้ภาพสถานการณ์ดังกล่าว
ภาพสถานการณ์แรกคือ เศรษฐกิจไทยถูกปั่นป่วนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างทันการณ์ เพราะขาดการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิต ทำให้มูลค่าเพิ่ม (value added) ของสาขาต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจไทยไหลออกไปต่างประเทศ และทำให้งานหายไปกว่า 3.1 ล้านตำแหน่ง ในภาพสถานการณ์นี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศไทยตลอด 20 ปี จะอยู่ที่อัตราเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี ทำให้ไทยมีรายได้ต่อหัวเพียง 8,600 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
ภาพสถานการณ์ที่สองคือ ประเทศไทยป่วนตัวเองด้วยนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยรัฐบาลเริ่มพัฒนา อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เรียกว่า S-Curve จำนวน 10 อุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม ภาพสถานการณ์ที่สองนี้ตอบสนองความท้าทายได้เพียงบางส่วน เนื่องจากนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ยังขาดยุทธศาสตร์ด้านกำลังคนที่ชัดเจนโดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานทักษะสูง ขาดยุทธศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยี AI และขาดยุทธศาสตร์การสร้างงานใหม่ซึ่งถูกเทคโนโลยีทดแทนได้ยาก ตามภาพสถานการณ์นี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ต่อปี ทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้นเป็น 10,300 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเช่นกัน นอกจากนี้ แม้จะมีงานสร้างงานใหม่ขึ้นมาได้ แต่ก็จะยังไม่สามารถทดแทนงานเดิมได้ทั้งหมด โดยจะมีตำแหน่งงานที่หายไป 1.5 ล้านตำแหน่ง
สถานการณ์ที่สามคือ การสร้าง “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นภาพสถานการณ์ที่ต่อยอดจาก “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยี AI และการสร้างงานใหม่ในภาคเศรษฐกิจ 3C ซึ่งใช้ทักษะ 3H ซึ่งประกอบด้วย
- เศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่มีความประณีต มีมูลค่าสูง แทนการผลิตสินค้าและบริการจำนวนมาก เช่น การผลิตสินค้าเกษตรชั้นยอด การผลิตเฟอร์นิเจอร์สั่งทำพิเศษ เป็นต้น
- เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูง เช่น การออกแบบแฟชั่น การผลิตภาพยนตร์ การผลิตสื่อโฆษณา เป็นต้น และ
- เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นการดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการของผู้ใช้ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วย การแนะแนวอาชีพ เป็นต้น
ในภาพสถานการณ์ที่สามนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี ทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 12,500 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้
สร้างเศรษฐกิจ 3C โดยสมองทั้งสองข้าง
การสร้างเศรษฐกิจ 3C ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต้องอาศัยการศึกษาคุณภาพสูงที่ผสมผสานระหว่างสมองซีกซ้าย ซึ่งเน้นการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM Education) และสมองซีกขวา ซึ่งเน้นการศึกษาศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Education) โดยที่ระบบการศึกษาของไทยไม่จำเป็นต้องมุ่งไปเพียงด้านวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งเกิดจากผู้ก่อตั้งที่จบการศึกษาด้านการศึกษาศิลปศาสตร์ เช่น Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn จบการศึกษาทางด้านปรัชญาหรือแม้กระทั่ง Jack Ma ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาก็จบด้านภาษาอังกฤษและเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาก่อน เป็นต้น
เมื่อโมเดลของการพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามที่กล่าวมาข้างต้น การพัฒนาในแต่ละมิติ อาทิ ระบบนวัตกรรม ระบบการพัฒนาทักษะแรงงาน ระบบสวัสดิการรวมทั้งกฎระเบียบและทัศนคติของรัฐ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อให้สามารถรองรับกับการพัฒนาภายใต้ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
การปรับตัวของประเทศไทย – ความเห็นของคุณธนา เธียรอัจฉริยะ
เทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจธนาคารที่ได้รับแรงกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นเคยกับความสะดวกสบายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจจึงต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การปรับตัวของประเทศไทย ผ่านเศรษฐกิจ 3C เป็นแนวทางที่น่าสนใจและน่าจะช่วยผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้า แต่การพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงช้าอยู่ เช่น จำนวนสตาร์ทอัพในไทยช่วง 5-6 ปีหลังมีจำนวนเพียง 500-600 กิจการ ในขณะที่ประเทศจีนมีสตาร์ทอัพตั้งใหม่สูงถึงวันละ 12,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ไม่น้อย เช่น สามารถสร้างแอพลิเคชั่นที่เปิดให้มีการเขียนนิยายในระบบออนไลน์ ซึ่งสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือนและมีต้นทุนต่ำกว่าการตีพิมพ์นิยามเป็นเล่ม และกำลังจะขยายการให้บริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
การเตรียมเด็กในปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรพัฒนาสมองทั้งสองซีกเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และต้องเข้าใจความเป็นพลเมืองโลก (global citizen)