การปรับระบบสวัสดิการสังคมพร้อมรับโลกใหม่ที่ผันผวน

สรุป TDRI Annual Public Conference 2018

การปรับระบบสวัสดิการสังคมพร้อมรับโลกใหม่ที่ผันผวน – รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยววิทย์ ดร.วิชสิณี วิบูลผลประเสริฐ ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร และ คุณสิทธิพงศ์ กนกากร

 สรุปโดย นายพสิษฐ์ พัจนา

วิทยากรทั้ง 4 ท่านนี้ ได้นำเสนอเนื้อหาในข้อหัว การปรับระบบสวัสดิการสังคมพร้อมรับโลกใหม่ที่ผันผวน  โดยสวัสดิการสังคมมีหลายประเภท และมีเป้าหมายพเพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของคนจากเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือว่าขาดรายได้ เพื่อทำให้คนเหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีภาวะทางสังคมที่ดีขึ้น รายละเอียดการนำเสนอเน้นสวัสดิการสำหรับ แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนของเทคโนโลยี และกลุ่มประชากรผู้ด้อยโอกาส โดยจะเน้นเรื่อง การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของรัฐ

ส่วนที่ 1 สวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบ โดย รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

จากการบรรยายในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าความปั่นป่วนของเทคโนโลยีทำให้แรงงานมีโอกาสตกงานหรือว่างงานมากขึ้นการเตรียมความพร้อมและปรับสวัสดิการการว่างงานเพื่อให้สามารถรองรับภาวะการตกงานจึงมีความสำคัญอย่างมาก ปัจจุบันผู้ที่ว่างงานหรือตกงานจะได้รับสวัสดิการ 2 ประเภท คือ เงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างซึ่งนายจ้างเป็นผู้จ่าย และเงินประกันการว่างงานที่เป็นระบบสวัสดิการแบบไตรภาคี โดยผู้ถูกให้ออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แต่ถ้าออกจากงานโดยสมัครใจก็จะได้รับเงินสิทธิประโยชน์ร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน แหล่งเงินของประกันการว่างงานแบบไตรภาคี หมายถึง การร่วมสมทบของ 3 ฝ่าย คือ นายจ้างและลูกจ้างสมทบเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.5 ของเงินเดือน  และรัฐบาลสมทบร้อยละ 0.25

ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2548 จนถึง 2560) รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการจากเงินกองทุนประกันการว่างงานทั้งหมดประมาณ 5.2 ล้านบาท โดยร้อยละ 60 เป็นการจ่ายสำหรับกรณีการว่างงานโดยสมัครใจ ร้อยละ 37 สำหรับกรณีถูกเลิกจ้าง และร้อยละ 3 สำหรับกรณีหมดสัญญาจ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะจ่ายให้แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจด้วย กองทุนก็ยังมีความมั่นคงอยู่ เห็นได้จากเงินสะสมของกองทุนที่ยังสามารถนำมาใช้จ่ายได้มากถึง 7 ปี แม้จะไม่มีเงินรายได้เข้ามาในกองทุนเลย และถึงแม้ว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากความปั่นป่วนของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 2 เท่า กองทุนก็ยังจะสามาถรองรับได้ประมาณ 3-5 ปีเลยทีเดียว

โดยทั่วไป ในประเทศที่มีระบบประกันการว่างงานจะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบบอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ประเทศเดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูง และมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ได้เน้น สวัสดิการแบบ Flexicurity ซึ่งแปลว่า ยืดหยุ่นแต่มั่นคง ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การจ้างงานมีความยืดหยุ่น ความหมายคือ นายจ้างสามารถจ้างงานใหม่หรือเลิกจ้างได้ง่ายกว่าเดิม เช่น เมื่อมีโอกาสธุรกิจดี นายจ้าง สามารถจ้างงาน ใหม่โดยมิต้องกังวลกับการเลิกจ้าง เพราะ เมื่อเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจก็สามารถเลิกจ้างได้ง่ายเช่นเดียวกัน ส่วนที่สอง ลูกจ้างมีความมั่นคงทางรายได้ถึงแม้จะถูกเลิกจ้าง การให้สวัสดิการมีความมั่นคงเพียงพอต่อการดำรงชีพและการให้เงินสวัสดิการนานพอที่จะสามารถหางานใหม่ได้ และส่วนสุดท้ายคือการมีนโยบายการจ้างงานเชิงรุก ซึ่งส่วนนี้สำคัญที่สุด เป็นการช่วยให้ผู้ว่างงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการฝึกทักษะใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และช่วยในการหางาน เช่น การสัมภาษณ์งาน และการเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน

อย่างไรก็ดี การมีนโยบายการจ้างงานเชิงรุกมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประเทศเดนมาร์กใช้เงินถึง ร้อยละ 1.7 ของรายได้ประชาชาติสำหรับนโยบายจ้างงานเชิงรุก เนื่องจากประเทศเดนมาร์ก มีการเก็บภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น ภาษีรายได้สูงถึงร้อยละ 55-65 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 25

ส่วนประเทศไทย มีการจ้างงานที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นเนื่องจากนายจ้างสามารถจ้างงานใหม่หรือเลิกจ้างได้ง่าย และลูกจ้างก็ค่อนข้างมีความมั่นคงทางรายได้ของผู้ว่างงาน เนื่องจากสามารถได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อถูกเลิกจ้างถึง 2 ประเภท คือ เงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง กับเงินประกันการว่างงาน ประเทศไทยยังมีข้อด้อยเรื่องการมีนโยบายการจ้างงานเชิงรุก กล่าวคือ ผู้รับเงินประกันการว่างงาน ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่ากำลังหางานทำ หรือ ไม่จำเป็นต้องไปรับการฝึกทักษะ และยังสามารถพักผ่อน หรือไปประกอบอาชีพอิสระในขณะรับเงินประกันการว่างงานด้วย

การปรับสวัสดิการเพื่อการจ้างงานให้เข้ากับความเสี่ยงของความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีที่จะกระทบตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้ จึงควรนำเงินสะสมของกองทุนประกันการว่างงานมาใช้เพื่อนโยบายการจ้างงานเชิงรุก ให้ผู้ถูกเลิกจ้างได้กลับเข้าสู่การจ้างงานใหม่ และผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างได้รับการป้องกันที่เหมาะสม

โดยข้อเสนอเชิงนโยบาย มีดังนี้

  1. การมีนโยบายการจ้างงานเชิงรุก ด้วยการช่วยเหลือให้คนที่ถูกเลิกจ้าง กลับเข้าตลาดแรงงานด้วยวิธีการสนับสนุนค่าจ้างหรือ subsidized wage ตัวอย่างเช่น ให้การสนับสนุนค่าจ้างแก่ นายจ้างที่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ นายจ้างที่จ้างผู้ว่างงานให้ทดลองงานด้วยการฝึกทักษะการทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ จะได้รับการช่วยเหลือในการจ่ายค่าจ้าง กล่าวคือ ลูกจ้างได้รับเงินเดือนส่วนแรกจากนายจ้างคนใหม่ และส่วนที่สองมาจากกองทุนประกันการว่างงานในจำนวนไม่เกินเงินสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับจากกรณีว่างงาน ในกรณีนี้ สามารถทำให้มีการขยายช่วงเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานไปอีกไม่เกิน 6 เดือน เมื่อครบกำหนด นายจ้างประเมินว่าจะจ้างลูกจ้างที่ฝึกทักษะผ่านการทดลองงานและบรรจุเข้าทำงานต่อหรือไม่

โดยวิธีการนี้จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อการสิทธิประโยชน์ของผู้ถูกเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมซึ่งมีค่าใช้จ่าย ประมาณ 1.8 พันล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 3.6 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กองทุนสามารถรับได้

  1. การใช้เงินกองทุนประกันว่างงานเพื่อการป้องกันการถูกเลิกจ้าง น ซึ่งการป้องกันจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และยังป้องกันไม่ให้ครอบครัวต้องยากลำบากด้วย แนวทางในการป้องกัน ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแจกคูปองเพื่อการเพิ่มทักษะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ หรือทักษะที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-4 สัปดาห์ในระหว่างที่ฝึกทักษะนั้น ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดหรือวันลา สิทธิในการใช้คูปอง 3 ปีใช้ได้ 1 ครั้ง และโอนให้กันไม่ได้ ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่ควรเกิน 20,000 บาทในช่วง 3 ปี ซึ่งถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับเงินสิทธิประโยชน์ว่างงานแก่ผู้ถูกเลิกจ้าง ที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด 45,000 บาทต่อคนต่อปี

ส่วนที่ 2 สวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ โดย ดร.วิชสิณี วิบูลผลประเสริฐ

แรงงานนอกระบบก็เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจและแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็อยู่นอกระบบ ในความหมายที่ว่าเป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม สถานการณ์ในอนาคตเมื่อความปั่นป่วนของเทคโนโลยีเข้ามาก็จะทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ต้องออกนอกระบบและบางส่วนก็ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มที่หันมาทำอาชีพอิสระผ่าน online platform ซึ่งเป็นอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของแรงงานรุ่นใหม่ที่ชอบความเป็นอิสระ ความยืดหยุ่น เป็นนายตัวเอง และสามารถทำงานผ่าน online platform ซึ่งทำได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

จากการสำรวจของ McKinsey Global Institute ในปี คศ 2016 พบว่า สัดส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระมีมากถึงร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มอียู 15 ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อหารายได้เสริมจากอาชีพหลัก และส่วนในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัย EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็พบภาพคล้ายๆ กัน และที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ การสำรวจได้ถามกลุ่มแรงงานที่ทำงานประจำส่วนหนึ่ง และพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการทำอาชีพอิสระและก็มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลเพิ่มโอกาสให้แรงงานหรือคนที่ทำงานนอกระบบสามารถเข้ามาร่วมสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจและรับสิทธิประโยชน์ได้ จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนที่มีอาชีพอิสระส่วนใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ดี เนื่องจากผู้ที่อาชีพอิสระบางส่วนไม่ได้คิดถึงอนาคตหรือที่เรียนว่า present bias โดยเฉพาะผู้ที่อายุยังน้อย และสวัสดิการภาคสมัครใจที่จัดการโดยรัฐบาลไม่ค่อยจูงใจเท่าไร ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ที่เคยทำงานประจำมาก่อนแล้วลาออกจากงาน จะมีทางเลือกในการสมทบเข้ากองทุนทั้งหมด 2 ทาง คือ ทางเลือกที่ 1 สบทบต่อเพื่อรักษาสวัสดิการพื้นฐาน (มาตรา 39) แต่จะได้รับอัตราเงินบำนาญลดลงกว่า ม.33 สูงสุดถึง 3 เท่า และทางเลือกที่ 2 เลิกสมทบไปเลยและไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน แลกกับการได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนเทียบเท่ากับพนักงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ 1 หรือ 2 สิทธิประโยชน์จะต่ำกว่าแรงงานในระบบทั้งหมด และอีกประเภท คือ กรณีผู้ที่ไม่เคยทำงานประจำจะสามารถสมทบกองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจ (มาตรา 40) ได้ แต่ทั้งนี้ ผู้ที่สมทบกองทุนภาคสมัครใจตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะมีเพดานการสมทบที่ต่ำกว่าม.33 และไม่มีนายจ้างช่วยสมทบ จึงทำให้ผู้ทำงานอิสระได้รับสวัสดิการจากกองทุนน้อยลงไปกว่าแรงงานในระบบอีก

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีแรงงานส่วนหนึ่งอยู่ในระบบและมีอีกส่วนหนึ่งอยู่นอกระบบ ซึ่งแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันนี้เอง อาจตกเป็นภาระของรัฐได้ โดยเฉพาะในยุคความปั่นป่วนของเทคโนโลยีที่แรงงานในระบบสวนหนึ่งอาจตกงานและส่วนหนึ่งลาออกมาทำงานอิสระนอกระบบ และทำให้ฐานจำนวนคนทีจ่ายภาษีและประกันสังคมลดลง ส่วนที่ไม่มีหลักประกันและน่าจะเป็นภาระของรัฐบาลขยายกว้างออก ซึ่งน่าเป็นห่วง ดังนั้น เพื่อให้ระบบสวัสดิการมีมั่นคงและยั่งยืน ในทางทฤษฎีแล้วควรเป็นระบบที่ทุกคนร่วมกันและช่วยกันสมทบ ตามหลักการดีช่วยป่วยรวยช่วยจน เฉพาะฉะนั้น เป้าหมายในระยะยาวของรัฐบาลคือการดึงแรงงานทั้งหมดเข้าร่วมสมทบในระบบประกันสังคม คล้ายๆ ระบบประกันแห่งชาติของประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลทำให้เกิดปัญหาการติดตามและระบุตัวตนของผู้ทำอาชีพอิสระและแย่ไปกว่านั้นคือข้อมูลรายได้รวมถึงชั่วโมงการทำงานไม่ได้มีการเก็บอย่างเป็นระบบหรือถ้ามีก็เป็นแบบ self report ซึ่งไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ไม่สามารถคำนวณอัตราเงินสมทบที่เหมาะสมได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น แรงงานนอกระบบที่ทำงานผ่าน digital platform สามารถเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รัฐบาลจะดึงเข้ามาร่วมสมทบก่อน โดยผู้ทำงานอิสระผ่าน digital platform เช่น พนักขับรถ Uber และ Grab มีการเก็บข้อมูลชั่วโมงการทำงานและรายได้ ที่มีความยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับนายจ้างคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น ลักษณะของสวัสดิการที่เหมาะสมก็ควรจะเป็นแบบติดตัวแรงงาน หรือที่เรียกว่า portable และในขณะเดียวกันก็มีความเป็นธรรมด้วย ซึ่มีควาเป็นธรรมในแง่ที่ว่า สามารถสะท้อนสัดส่วนมูลค่าของงานที่ทำให้กับนายจ้างหรือบริษัทplatform แต่ละแห่งได้ การดึงแรงงานอิสระอิสระเหล่านี้เข้าสู่ระบบ สามารถทำได้โดยการขยายมาตราขอบเขตของ 33 ให้ครอบคลุมกลุ่มคนเหล่านี้และปรับรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการเล็กๆน้อยๆ ให้มีลักษณะติดตัวและเป็นธรรม ในระยะกลาง รัฐบาลควรเตรียมการเพื่อดึงแรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบ โดยการปรับเพิ่มเพดานการสมทบ การเพิ่มสวัสดิการประกันสังคมให้จูงใจให้แรงงานอิสระหันเข้ามาสนใจและร่วมสมทบได้  และปรับระดับของสวัสดิการให้มีความเท่าเทียมระหว่างแรงงานทุกกลุ่ม ในระยะยาว รัฐควรมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวตนและติดตามผู้ทำอาชีพอิสระ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลชั่วโมงการทำงานและค่าใช้จ่ายเงินค่าจ่ายเพื่อประสิทธิภาพในการคำนวณอัตราการสมทบและระบบการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมที่เหมาะสม

ส่วนที่ 3 สวัสดิการสำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม โดย ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการให้สวัสดิการสังคม โดย คุณสิทธิพงศ์ กนกากร

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อเสนอการปรับสวัสดิการเพื่อลดผลกระทบจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเราก็สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงการให้สวัสดิการแก่ประชากรให้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ดร.บุญวรา ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาการให้สวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น คนยากไร้ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งประเด็นปัญหาแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นปัญหาที่ 1 ช่องโหว่ในการระบุตัวตนของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่นำไปสู่การทุจริต ตัวอย่างเช่น โครงการเงินสงเคราะห์คนยากไร้ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ซึ่งให้เงินช่วยเหลือแก่คนยากไร้ เช่น คนเร่ร่อน คนไม่มีสัญชาติไทย คนไร้บ้าน เป็นต้น โดยจะให้เงินช่วยเหลือครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้งโครงการนี้มีช่องโหว่2 ประการ คือ ช่องโหว่ที่ 1 การจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินสด หรือเช็คให้แก่ผู้เดือดร้อนโดยตรง หรือผ่านตัวแทน เช่น อาสาสมัครทำให้บางกรณีเงินช่วยเหลือไปไม่ถึงผู้เดือดร้อนโดยเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนที่มารับเงินเก็บเงินไว้บางส่วนหรือว่าเก็บไว้ทั้งหมด และช่องโหว่ที่ 2 มีการใช้บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงมาทำเรื่องเบิกเงินสงเคราะห์ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางพม. ให้ข่าวว่าจะป้องกันการทุจริตโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแทนการจ่ายเงินสดหรือเช็ค แต่การโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารก็อาจไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงผู้ยากไร้ที่เสี่ยงเป็นเหยื่อการค้าประเวณีโดยการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ ม.1 จนจบพยาบาล แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการยักยอกเงินไปจากกองทุนมากถึง 88 ล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินที่ถูกเบิกออกไปเป็นทุนการศึกษาทั้งหมด โดยใช้ระบบการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแบบ direct credit ที่เห็นเพียงเลขบัญชีธนาคาร แต่ไม่เห็นชื่อเจ้าของบัญชี ทำให้เกิดช่องโหว่ คือ ช่องโหว่ที่ 1 มีการแทรกบัญชีเครือญาติของผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการ 22 บัญชีไปแทนบัญชีเด็กที่ได้รับทุน และช่องโหว่ที่ 2 ไม่มีการตรวจสอบว่าบัญชีที่โอนเงินไปให้นั้นเป็นของผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจริงหรือไม่

ประเด็นปัญหาที่ 2 ประสิทธิภาพของวิธีการให้ความช่วยเหลือ ในปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือมีด้วยกันทั้งหมด 2 วิธี คือ การรับเงินด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เดือดร้อนต้องเสียเวลา และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยังไม่นับว่าถ้าเป็นผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และไปด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คนพิการ คนชรา ก็ต้องต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการเดินทาง ทำให้กลไกการไปรับเงินเองอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอีกวิธีหนึ่ง คือ การโอนเข้าบัญชี อาจจะดูสะดวกรวดเร็วและสามารถป้องกันการทุจริตได้อยู่บ้าง แต่จากการสำรวจของ World Bank พบว่า ยังมีประชากรไทยอีกเกือบร้อยละ 20 ที่ไม่มีบัญชีกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือของรัฐผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ โดยอุปสรรคของการมีบัญชีธนาคาร คือ การต้องเดินทางไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร ซึ่งย่อมไม่สะดวกสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล และการต้องมีบัตรประชาชนในการเปิดบัญชี ทำให้ผู้ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ที่ออกจากบ้านมานานมากแล้ว และไม่มีเอกสารที่จะสามารถยืนยันตัวตนได้ หรือผู้รอการขึ้นทะเบียนทางสัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงบริการจากโครงการสวัสดิการของรัฐได้

โครงการสวัสดิการของรัฐที่มีข้อจำกัดในการให้บริการ ตัวอย่างเช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือว่าบัตรคนจน ซึ่งสามารถใช้ซื้อสิ่งของที่ร้านธงฟ้าที่มีเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC เท่านั้น และปัจจุบันร้านที่มีเครื่องนี้แล้วมีประมาณ 20,000 แห่ง ซึ่งแม้มีแผนจะติดตั้ง 40,000 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ก็ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการไปใช้สวัสดิการที่ร้านธงฟ้า

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่เพื่อแก้ปัญหาการให้สวัสดิการของรัฐ

ข้างต้นได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเชิงนโยบาย ส่วนนี้จะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้สวัสดิการของรัฐแก่ประชากรกลุ่มด้อยโอกาส โดยคุณสิทธิพงศ์ กนกากร สมาชิกของคณะทำงานด้านเทคนิค National Digital ID และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท WS3 ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน blockchain และ Fin-tech

เทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้ในการให้สวัสดิการสำหรับประชาชนมีทั้งหมด 3 อย่าง อย่างแรก คือ Blockchain ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบหนึ่งที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล และตรวจสอบได้ว่าใครเขียนอะไรลงไป อย่างที่สอง คือ Digital ID ซึ่งสามารถใช้สร้างตัวตนบุคคล จากการเก็บภาพ วีดีโอ และเสียงของแต่ละบุคคลเพื่อบันทึกลงระบบฐานข้อมูล และใช้พิสูจน์และยืนยันตัวตน  และเทคโนโลยีตัวที่ 3 คือ e-money เป็นระบบการจ่ายเงินที่ผู้รับความช่วยเหลือจะมีหรือไม่มีบัญชีธนาคารก็ได้

การปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับสวัสดิการของรัฐ มีขั้นตอนดังนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้พบกันเพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่าย เสียง หรือวีดีโอ เพื่อสร้าง Digital iId เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือก็จะสามารถรับเงินช่วยเหลือผ่านระบบ e-money เพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าได้ ในระบบนี้ e-money ไม่ต้องการเครื่อง EDC  เลย แต่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทางธนาคารมีอยู่แล้ว เช่น QR code ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญข้อมูลการจับจ่ายหรือซื้อขายสินค้าก็จะถูกเก็บไว้ใน blockchain ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบได้ในภายหลัง และการลงทุนในการนำระบบนี้มาใช้ก็ถือว่าไม่สูง

ข้อดีของ Digital ID เทื่อเทียบกับบัตรประจำตัวประชาชนคือ สามารถป้องกันการปลอมแปลงตัวตนได้ โดยทุกครั้งที่มีการนำ Digital ID ไปใช้งานจะมีการแจ้งเตือนและทุกครั้งที่ใช้งานก็จะบอกสาเหตุของการทำการยืนยันว่าจะยืนยันเพื่ออะไร ยืนยันที่ไหน และกับใคร โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีการเก็บเอาไว้ทำให้เราสามารถติดตามการใช้งานได้เสมอ และข้อมูลยังมีการอัพเดทให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงสามารถป้องกันการทุจริตกรณีใช้บัตรประชาชนของผู้เสียชีวิตไปแล้วมาเบิกเงินช่วยเหลือ เช่น เงินสงเคราะห์คนชรา เป็นต้น โดยในปลายปีค.ศ. 2018  ประเทศไทยก็จะนำระบบนี้มาใช้แล้ว

ข้อดีของการใช้ระบบ e-money เมื่อเทียบกับเงินสด หรือบัญชีธนาคาร คือ เป็นระบบที่ไม่ต้องใช้เงินสดไม่มีตัวกลาง และไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร โดยใช้การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ ในกรณีที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือไม่มีมือถือ ก็สามารถไปพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านกระบวนการ biometrics เช่น ลายนิ้วมือ ที่ร้านค้าที่มีโทรศัพท์มือถือก็จะสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าได้ผ่านระบบ e-money จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรได้กว้างกว่าการโอนเงินเข้าบัญชี และปิดช่องโหว่การทุจริตที่เกิดจากการใช้เงินสด

เนื่องจากผู้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีอาจจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างนี้ด้วย โดยลักษณะของผู้รับบริการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีบัตรประจำตัวประชาชนและมีบัญชีธนาคาร สามารถใช้ prompt pay ผูกกับบัตรประชาชนได้เลย ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและปลอดภัยที่สุด กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชนแต่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถนำเลขบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลนั้นมาออกเลข Digital Id แล้วให้เงินช่วยเหลือโดยใช้ระบบ e-money โดยที่ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ไม่มีทั้ง บัตรประชาชนและบัญชีธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่เช่น พม. สามารถออก Digital Id ให้คนกลุ่มนี้ก่อนที่แล้วใช้ระบบ e-money ในการให้เงินช่วยเหลือโดยข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของผู้รับความช่วยเหลือ จำนวนเงิน การโอนเงิน หรือแม้แต่การใช้เงินจะถูกเก็บลง blockchain เพื่อป้องกันการแก้ไขข้อมูล และยังสามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ด้วย