อนาคตประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี

สรุป TDRI Annual Public Conference 2018

เปิดเรื่อง: อนาคตประเทศไทยในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี – ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

สรุปโดย กิตติพัฒน์ บัวอุบล

เราอยู่ในโลกที่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ทั้งโลกภายภาพ โลกชีวภาพและโลกเสมือน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน เช่น การใช้ computing technology ในโลกกายภาพก่อให้เกิด Internet of Things (IoT) หรือการใช้ในด้านชีวภาพทำให้เกิด bioinformatics   ทั้งนี้ computing technology ที่สำคัญประกอบไปด้วย 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เซนเซอร์ (sensor) ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้เชิงลึก (AI/deep leaning) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud Computing)

ในปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี AI มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เช่น การที่ Alpha Go Zero สามารถเอาชนะ Alpha Go ที่เคยเอาชนะแชมป์โลกหมากล้อมมาแล้วได้ การที่โปรแกรม Libratus สามารถเล่นโป๊กเกอร์ชนะคนได้ การที่หุ่นยนต์ Xiaoyi สามารถสอบใบอนุญาตแพทย์ผ่านได้ และการที่หุ่นยนต์ Sophia แสดงความสามารถคล้ายมนุษย์จนได้รับสัญชาติซาอุดิอาระเบีย

หุ่นยนต์ และ AI สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น มีสมองที่สามารถแก้ไขปัญหาและโจทย์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น มีตาที่สามารถแยกแยะและระบุวัตถุได้ดีจนเก่งกว่ามนุษย์ในหลายกรณี มีหูที่สามารถแยกแยะถ้อยคำจากเสียงได้ดีขึ้น มีปากที่สามารถโต้ตอบได้ชัดเจนเสมือนจริงมากขึ้น และมีมือที่สามารถประกอบและสร้างสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นระเบียบ (unstructured environment) ได้

AI อยู่ใกล้ตัวเรามาก เช่น การที่ Facebook สามารถรู้ได้ว่าเราอยู่กับใครโดยดูจากรูปที่อัพโหลด การใช้ AI จดจำใบหน้าเพื่อติดตามบุคคลในสนามบินและการตรวจคนเข้าเมือง การดูใบหน้าคนแล้วสามารถบ่งบอกถึงรสนิยมทางเพศว่าชอบคนต่างเพศหรือคนเพศเดียวกัน  หรือการใช้ยีนในที่เกิดเหตุเพื่อทำนายรูปพรรณสัณฐานของคนร้าย

การที่ AI สามารถจดจำและแยกแยะใบหน้าได้จะทำให้การใช้บัตรต่างๆ เพื่อระบุตัวคนเช่น บัตรประชาชน บัตรเครดิต หรือบัตร ATM หมดความจำเป็นลงในอนาคต เพราะจะสามารถระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำได้จากใบหน้า เช่น การสแกนใบหน้าหรือถ่ายเซลฟี่เพื่อชำระเงิน การใช้แว่นตาของตำรวจในจีนเพื่อจดจำและแยกแยะใบหน้าคนที่เดินผ่านไปมา  และการที่ 7-Eleven ในประเทศไทยกำลังจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าและพนักงานในร้านสะดวกซื้อ

วิทยาการขั้นสูงเช่น การแพทย์ยังถูกกระทบจาก AI ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคหลายโรคได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เช่น การวินิจฉัยโรคจากการเต้นของหัวใจผิดปรกติจากสัญญาณ electrocardiogram (ECG) การพยากรณ์การเกิดโรคในอนาคตจากประวัติของคนไข้ในอดีต และการวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ เป็นต้น

AI สามารถประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจได้มากมาย โดยในส่วนการตลาดและการขาย AI จะช่วยในการบริการลูกค้าและการวิเคราะห์สินค้าที่จะเสนอขายต่อไปจากการสั่งซื้อสินค้าที่ผ่านมา  ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายและกำไรของธุรกิจได้     ในส่วนของการผลิตและการบริหารซัพพลายเชน  AI จะมีส่วนช่วยในการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (preventive maintenance) ด้วยการติดเซนเซอร์ที่เครื่องจักรที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อติดตามการทำงานก่อนที่เครื่องจักรเหล่านั้นจะเสีย เพราะการที่เครื่องจักรหยุดทำงานจะส่งผลเสียหายมาก  นอกจากนี้ AI สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการฉ้อโกงในธุรกิจ

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา กล่าวว่า “ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในโลก ไม่เคยเร็วขนาดนี้ แต่ต่อไปจะไม่ช้าอย่างนี้อีก” ขณะที่ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียกล่าวว่า “ใครเป็นผู้นำในด้าน AI จะเป็นผู้ครองโลก” ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงพยายามแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจด้วย AI เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี    ที่น่าสนใจคือ มีหลายประเทศอยู่ในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและ สิงค์โปร์ ซึ่งประกาศจะลงทุนวิจัยด้าน AI มหาศาลในแต่ละปี โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ด้าน AI สูงกว่าสหรัฐอเมริกามาก มีจำนวนการจดสิทธิบัตรมากกว่าประเทศอังกฤษ มีเงินลงทุนสำหรับกิจการสตาร์ทอัพด้าน AI มากกว่าหลายประเทศในโลก ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกลยุทธ์ด้าน AI ที่ชัดเจน

การสัมมนาประจำปีในครั้งนี้จะวิเคราะห์และเสนอแนะว่า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในยุคของความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี   โครงสร้างเศรษฐกิจไทยและการจ้างงานควรจะปรับตัวอย่างไรในโลกที่หุ่นยนต์และ AI เก่งขึ้น   สวัสดิการสังคมจะเป็นอย่างไรเมื่อคนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในการทำงาน และกฎระเบียบและนโยบายของรัฐควรจะเปลี่ยนไปอย่างไรเพื่อให้ทันต่อโลกสมัยใหม่

ประเทศไทยจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ต้องปรับโมเดลในการพัฒนาประเทศให้เติบโตได้ในความปั่นป่วน ต้องปรับการเรียนรู้ให้สามารถสร้างทักษะใหม่แก่เยาวชนของไทย ต้องปรับระบบสวัสดิการให้พร้อมรับกับโลกสมัยใหม่ และต้องปรับทัศนคติของภาครัฐเพื่อวางกฎเกณฑ์รองรับความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยได้