tdri logo
tdri logo
27 กรกฎาคม 2018
Read in Minutes

Views

สินเชื่อกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร : ปัญหากับดักหนี้

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร
นายพนธกร วรภมร
นางสาวสรัลชนา ธิติสวรรค์
นางสาวพรปวีณ์  ลีรพงษ์​กุล​

หนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยากจน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการผลักให้ประชาชนเป็นหนี้ในระบบแทน เพื่อลดภาระในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง และเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามมูลค่าหนี้สินของครัวเรือนกลับไม่ลดลงและยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดน่านที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  

เกษตรกรที่นี่ตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามการสนับสนุนของกลุ่มนายทุน เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นผลผลิตที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรว่าจะมีตลาดรองรับสินค้า และผลผลิตที่ออกมาจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างแน่นอน และการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านครั้งนี้ คือจุดเริ่มต้นของหนี้สินที่ต้องกู้ยืมมาเพื่อลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ และอุปกรณ์การเกษตร

ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าจะมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน แต่ราคาผลผลิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และชาวบ้านเองก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะสามารถกำหนดหรือต่อรองราคาผลผลิตกับกลุ่มนายทุนได้ ทำให้รายได้ที่มีหลังหักค่าใช้จ่ายหรือหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนตอนแรกไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่มีทุนในการเพาะปลูกครั้งถัดไป ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องทำการกู้เงินเพิ่มเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และลงทุนในรอบการผลิตถัดไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น

ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการหมุนจ่ายหนี้โดยอาศัยนโยบายสนับสนุนเกษตรกรของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญ พวกเขากู้ยืมสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาเพื่อใช้ลงทุน แต่เมื่อถึงเวลานัดจ่ายชำระหนี้กลับไม่มีเงินเพียงพอ และถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นและถูกปรับลดระดับชั้นลูกค้า ส่งผลให้ต้องหากู้แหล่งเงินทุนอื่นเพื่อนำมาชำระหนี้ให้ทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากสหกรณ์, กองทุนหมู่บ้านหรือการกู้นอกระบบ และเมื่อถึงคราวต้องจ่ายชำระหนี้ให้แก่แหล่งเงินทุนนอกระบบ พวกเขาก็ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้อีกเช่นเคย จึงทำให้ต้องเข้าสู่วงจรการกู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน เมื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาประวัติการชำระหนี้ของเกษตรกรแล้วพบว่า เกษตรกรมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ทางธนาคารก็จะอนุมัติเงินกู้รอบใหม่เพิ่มขึ้น ที่สุดแล้วเงินดังกล่าวที่ได้มาก็จะถูกใช้คืนหนี้นอกระบบหมุนวนกลับไปทำให้จำนวนหนี้สินที่เกษตรกรมีอยู่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านครัวเรือนหนึ่งเล่าว่า เริ่มกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 จำนวนประมาณ 30,000 บาท ปัจจุบันเขามีหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสูงถึงประมาณ 600,000 บาท

ไม่แปลกที่เรามักจะคิดว่าการขาดวินัยและความรู้ทางการเงินของเกษตรกรเป็นปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดวัฏจักรหนี้ขึ้น แต่หากพิจารณาไปถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดวงจรหนี้ลักษณะนี้ขึ้นจะพบว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมถือเป็นปัจจัยหลักที่รักษาความเหลื่อมล้ำให้คงไว้ พวกเขามีทางเลือกที่จะสร้างรายได้ไม่มากนัก และมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ไม่น้อย

“ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาที่ไปทำอะไร” คำพูดนี้ของเกษตรกรไม่ได้สะท้อนว่าพวกเขาขาดความรู้ทางการเกษตรหรือการประกอบอาชีพ  แต่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด และความสามารถในการสร้างรายได้ที่มากพอที่จะคืนทุนและใช้เงินกู้ ชนิดของพืชที่เพาะปลูกในหมู่บ้านจึงถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนที่เข้ามาสนับสนุน เพราะการปลูกพืชชนิดอื่นไม่สามารถทำรายได้ให้แก่พวกเขาได้มากเท่ากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เองก็ไม่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรมากพอเช่นกัน นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ยังเล่าอีกว่า ภาครัฐเข้าไปดูแลช่วยเหลือเรื่องผลผลิตทางการเกษตรน้อยมาก ผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรส่วนใหญ่คือกลุ่มนายทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

กับดักที่ก่อให้เกิดวัฏจักรของการเป็นหนี้จึงมิได้อยู่ที่ตัวเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่อพร้อมดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรในสภาวการณ์ที่พวกเขาไม่มีศักยภาพในการทำรายได้เพื่อชำระหนี้ การที่รายรับจากผลผลิตทางการเกษตรไม่สูงพอ และความต้องการพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอก คือเงื่อนไขให้ต้องกู้ยืมเงินจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ดำรงชีพและประกอบอาชีพ เพราะเหตุนี้นโยบายส่งเสริมการลงทุนในการประกอบอาชีพโดยการเอื้อให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อและนโยบายช่วยเหลือการชำระหนี้ในโครงการต่าง ๆ จึงไม่สามารถปลดหนี้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง ซ้ำยังเป็นการเพิ่มภาระในการชำระหนี้ในทางอ้อมอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว หากภาครัฐต้องการที่จะช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภาระด้านหนี้สินของเกษตรกรให้ตรงจุด ภาครัฐจำเป็นจะต้องส่งเสริมและขยายศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากพอที่จะหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน และพิจารณาถึงช่องว่างของนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มิได้คำนึงถึงเฉพาะความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ตามกำหนด แต่ต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดในการบริหารจัดการหนี้ของเกษตรกร ตลอดจนการเสริมองค์ความรู้ทางด้านการเงิน เพื่อที่จะทำให้การปล่อยสินเชื่อ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างแท้จริง

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด