tdri logo
tdri logo
12 กันยายน 2018
Read in Minutes

Views

ดร.วิโรจน์ ชี้ปรับเพดานจ่ายสมทบประกันสังคม จาก 750 เป็น 1 พันบาท ตามอัตราเงินเฟ้อ

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เห็นด้วยในการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เนื่องจากเพดานฐานเงินเดือน 15,000 บาทนี้ ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อปี 33 ซึ่งคิดว่าถดถอยอย่างชัดเจน ในการออกแบบโครงสร้างให้ คนเงินเดือน 15,000 จ่าย 5% และเมื่อเงินเดือนสูงขึ้น 100,000 ก็จ่าย 5% ของเงินเดือน 15,000 เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับจ่ายไม่ถึง 1%

“เพดานจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 ถือว่าต่ำมาก ทำให้ถดถอย เมื่อกาลเวลาผ่านไปกว่า 30 ปี รายได้เพิ่มขึ้นสูง กลายเป็นว่าอัตราที่จ่ายเงินประกันสังคมต่ำลง ส่วนตัวมองว่าปรับเพดาน 20,000 น้อยไป น่าจะสูงกว่านั้น 25,000 บาท เพราะถ้าปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็คงเกิน 30,000 บาท เรื่องนี้ควรต้องทำมานานแล้ว ผมเคยทำวิจัยเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วให้ปรับเพิ่มตามเงินเฟ้อ ไม่ได้ทำให้คนจนเดือดร้อน หรือเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่เป็นภาระของคนรายได้เกิน 15,000 เพราะน่าจะมีกำลังในการจ่ายมากกว่า ซึ่งไม่ได้หนักหนาอะไร บางคนกินข้าวนอกบ้านยังแพงกว่านั้น”

ทั้งนี้หากเทียบกับบัตร 30 บาท พบว่าบัตร 30 บาทมีค่ารักษาต่อหัวปรับขึ้นทุกๆ ปี ตรงกันข้ามกับประกันสังคมปรับขึ้นค่ารักษาต่อหัวช้ากว่าบัตร 30 บาท และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ไม่ดี อีกทั้งที่ผ่านมานักวิชาการหลายคนเคยทำวิจัยว่ากองทุนประกันสังคมในอนาคตจะขาดทุน ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นควรรีบปรับเพดานฐานเงินเดือนการจ่ายสมทบ ให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงอยู่ได้ เพื่อเพิ่มอัตราค่ารักษาต่อหัว และสิทธิประโยชน์ระยะยาว กรณีเงินชดเชยบำนาญจะได้รับเพิ่มขึ้น

“เงินกองทุนประกันสังคม มีรายจ่ายหลัก คือ เงินบำนาญ หากไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้เงินกองทุนร่อยหรอลง และมองว่าคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมส่วนใหญ่มีชีวิตการเป็นอยู่ดีกว่าคนใช้สิทธิบัตร 30 บาท ดังนั้นคนมีเงินมากกว่า ก็ควรจ่ายเงินประกันสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุงการรักษาให้ดีขึ้น เพราะเมืองไทยปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้คนไม่คิดจะใช้บัตร 30 บาท หรือประกันสังคม แต่กลับไปซื้อประกันแทน แตกต่างกับประเทศยุโรป มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมมากกว่า หากปรับขึ้นเงินประกันสังคม เพิ่มอัตราค่ารักษาต่อหัว คิดว่าคนจะหันมาใช้ประกันสังคมมากขึ้นตามมา”

ในประเด็นดังกล่าว ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โพสต์เฟชบุค โดยระบุว่า ” จริงๆ ภาษีประกันสังคมของไทยเป็นภาษีที่ถดถอยอย่างชัดเจนมาตลอด (เรียก “ภาษี” เพราะเป็นเงินที่เรียกเก็บโดยใช้อำนาจรัฐ โดยที่ “ผู้ประกันตน” ไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเหมือนการประกันทั่วไป) เนื่องจากมีเพดานเงินสมทบทำให้อัตราที่จ่ายเมือเทียบกับเงินเดือนลดลงเมื่อเงินเดือนสูงขึ้น การปรับเพดานเงินเดือนสำหรับคำนวณอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท (หรือสูงกว่านั้น เช่น 25,000) เป็นเรื่องที่ควรต้องทำมานานแล้ว และไม่ได้ทำให้ภาระของคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

“เพดานฐานเงินเดือน 15,000 บาทนี้ ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็คงเกิน 30,000 บาท ไปมากแล้ว”

ทั้งนี้พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาระบุถึงการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาทนั้น  ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การจะปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบนั้น จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกันตนด้วย โดยเฉพาะการปรับเพิ่มแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรมากขึ้นแก่ผู้ประกันตน เช่น ได้เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ เป็นต้น ทั้งนี้หากยังมีความเห็นต่างกันอยู่ หรือยังมีคนรู้สึกว่า เดือดร้อนกับเรื่องนี้ จะยังไม่ดำเนินการหรือยังไม่เสนอรัฐบาล



เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยรัฐ เมื่อ 5 กันยายน 2561
และ สำนักข่าวอิศรา เมื่อ 5 กันยายน 2561

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด