ส่งเสริมทัวร์คุณภาพ ฟื้นฟูภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย

ขนิษฐา ปะกินำหัง

การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,824 พันล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติ 35 ล้านคน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา “ทัวร์ ไร้คุณภาพ” ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

ในอดีตนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยมักมาจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน หลังจากที่ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนอนุญาตให้คนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก ส่งผลให้มีการเปิดบริษัททัวร์จำนวนมากรองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยตรง มีการใช้ชื่อคนไทยจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ หรือนอมินีขึ้นมา และเกิดการนำเที่ยวแบบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ซึ่งก็คือบริษัททัวร์จีนขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวจีนในราคาต่ำ แล้วส่งลูกทัวร์ให้กับบริษัททัวร์ในไทย โดยลูกทัวร์ไม่ต้องจ่ายค่านำเที่ยว หากแต่ลูกทัวร์จะถูกบังคับพาไปซื้อของเฉพาะจากร้านค้าที่กำหนดในราคาสูง บังคับซื้อแพ็คเกจเสริมหรือดูโชว์ต่างๆ เพื่อบริษัททัวร์ไทยจะมีรายได้ และกำไร ถ้านักท่องเที่ยวไม่ยอมซื้อสินค้าจากร้านที่กำหนด มักถูกบังคับข่มขู่ โดยการไม่ให้กุญแจห้องพัก ยึดพาสปอร์ต กระทั่งถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกปล่อยลอยแพตามที่เคยเป็นข่าวว่านักท่องเที่ยว ชาวจีน 33 คนถูกไกด์เถื่อนชาวจีนปล่อยทิ้ง หลังจากนักท่องเที่ยวไม่ซื้อของ

การทำธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่เน้นราคาต่ำ แม้จะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นขายทัวร์ราคาถูกเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาการให้บริการที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เช่น การขนส่งผู้โดยสารไม่ปลอดภัย ดังกรณีเรือล่ม ใน จ.ภูเก็ต ไม่มีประกันอุบัติเหตุที่เพียงพอ ซึ่งกระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวโดยตรง รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ ชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

อันที่จริง ประเทศไทยมีการกำกับดูแลการทำธุรกิจนำเที่ยว โดยกรมการท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานคัดกรองคุณสมบัติ จดทะเบียนบริษัททัวร์ และจัดเก็บเงินค้ำประกันบริษัททัวร์ วงเงินประมาณ 10,000-200,000 บาท ตามประเภทธุรกิจนำเที่ยวเพื่อเข้ากองทุน คุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้มีวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อไว้ใช้เยียวยาความเสียหายแก่ลูกทัวร์กรณี เกิดการฉ้อโกงหรือไม่รับบริการตามที่ตกลงไว้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อปี 2558 มีวงเงินเริ่มต้น 200 ล้านบาท หลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง หากเทียบกับความสูญเสียจากทัวร์ไร้คุณภาพกับการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการเยียวยาอาจยังไม่เพียงพอ ทางออกที่ดี คือ ควรยกระดับคุณภาพทัวร์ให้มีมาตรฐานคุณภาพเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

ประการแรก สาเหตุทัวร์ไร้คุณภาพ เกิดขึ้นมาได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ที่หละหลวม เห็นได้จากการมีนอมินีในการ จดทะเบียนบริษัท
จากการตรวจสอบโดยผู้เขียน พบว่า บริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่หลายรายมีรายได้หลัก 500 กว่าล้านบาทต่อปี แต่ไม่พบข้อมูลบริษัทปรากฏในอินเทอร์เน็ตเลย เมื่อเกิดปัญหานักท่องเที่ยวถูกฉ้อโกง ได้รับความเสียหายก็มักจะติดตามลงโทษได้เฉพาะนอมินีเท่านั้น จึงเสนอว่ารัฐควรมีระบบกำกับดูแลการจดทะเบียนบริษัททัวร์ที่เข้มงวด มีการคัดกรองตรวจสอบตรวจเช็คประวัติบริษัทนำเที่ยวว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ มีการตรวจสอบจับกุมและลงโทษบริษัทที่ใช้นอมินี

ประการที่สอง ควรมีข้อกำหนดให้ บริษัทนำเที่ยวต้องเป็นสมาชิกของสมาคม การท่องเที่ยวที่ได้การรับรองตามกฎหมาย
ซึ่งสมาคมนี้จะเป็นผู้รับรองการมีตัวตน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่สมาชิก แต่ทั้งนี้ ต้องมีการกำกับดูแลไม่ให้สมาคมฯใช้อำนาจในการผูกขาดการรับรองสมาชิกในการแสวงหากำไรอันไม่ควร

ประการที่สาม เพื่อให้มีบริษัททัวร์ ที่มีคุณภาพ รัฐควรกำหนดเงื่อนไข ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับบริษัททัวร์
ดังเช่นญี่ปุ่น กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับบริษัททัวร์ระดับ Class 1 (ทัวร์ outbound) ไว้ที่ 30 ล้านเยน และ ควรมีข้อกำหนดอย่างสิงคโปร์ที่บริษัททัวร์จะต้องแจ้งบัญชีธนาคารย้อนหลัง เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทนั้นๆ มีความมั่นคง ทางการเงินมากน้อยแค่ไหน

ประการที่สี่ เงินค้ำประกันความเสียหาย ที่มีจำนวนน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อ ความเสียหายที่เกิดขึ้น
เพราะบ่อยครั้งความเสียหายมีมูลค่าสูง เช่นล่าสุด กรณีเรือฟินิกซ์ พีซีไดฟ์วิ่ง ล่มที่ภูเก็ต คณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 52 ราย เป็นเงินมากถึง 29 ล้านบาท รัฐควรพิจารณาปรับเพิ่มเงินค้ำประกันเยียวยาความเสียหายให้กับลูกทัวร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้น ดังที่ญี่ปุ่นกำหนดให้วางเงินประกันที่เป็น Operation bond และ Compensation bond สำหรับบริษัททัวร์ outbound ไว้ที่ 84 ล้านเยน

และประการสุดท้าย ควรกำหนดให้ บริษัททัวร์ทุกรายต้องจัดให้มีผู้จัดการทัวร์
ที่มีใบรับรองด้านการท่องเที่ยวทำหน้าที่วางแผนและบริหารจัดการการนำเที่ยวของบริษัทดังเช่นที่ญี่ปุ่นกำหนด เพื่อให้มีบริการที่มีคุณภาพและมีผู้รับผิดชอบจริง กรณีเกิดปัญหาในการนำเที่ยวการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสร้างความเจริญ ทางเศรษฐกิจกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬามีข้อมูลว่าปี 2559 สัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวต่อจีดีพีอยู่ที่ 17.64% และการท่องเที่ยวยังกระจายรายได้ไปสู่รากหญ้า รัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจท่องเที่ยวโดยมีนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ดังนั้นการที่จะไปถึง จุดนั้นได้จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้มีบริษัททัวร์ที่ดีเป็นมืออาชีพ เพื่อนำไปสู่การให้บริการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ใน วาระทีดีอาร์ไอ เมื่อ 13 กันยายน 2561