tdri logo
tdri logo
25 ตุลาคม 2018
Read in Minutes

Views

สร้างโรงเรียนแห่งอนาคต ในชนบทประเทศไทย

ณิชา พิทยาพงศกร

เป็นที่เชื่อกันว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่มักมีคุณภาพ ดีกว่าโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกล และเมื่อพูดถึงโรงเรียนต้นแบบ คนส่วนใหญ่จะคิดถึงโรงเรียนชั้นนำที่มีการแข่งขันสูงในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนทางเลือกที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ ตามหัวเมืองต่างๆ แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่ริเริ่มจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กนักเรียนในชนบท

ผู้เขียนเชื่อว่ามีบทเรียนมากมายในโรงเรียนเหล่านี้ที่สามารถช่วย ยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทยได้ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาถอดบทเรียนในโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โรงเรียนแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงเรียน กระบวนทัศน์ใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เด็กพร้อมรับโลกอนาคต สามารถเกิดขึ้นได้จริงแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

โรงเรียนบ้านปลาดาว อยู่ในการดูแลของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ต้องการช่วยเหลือเยาวชนชายขอบอย่างรอบด้าน เช่น ให้ที่พึ่งพิงแก่เด็กชาวเขา เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ในด้านการศึกษา มูลนิธิทำงาน ผ่านโรงเรียนโดยการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กในพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนที่นี่แตกต่างจากเกณฑ์ของโรงเรียนทั่วไป กล่าวคือ นักเรียนที่จะได้เข้าเรียนต้องมีฐานะยากจน ขาดคนดูแล เช่น ผู้ปกครองถูกจำคุก หรือป่วยเรื้อรัง นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่

หากดูจากทุนตั้งต้นทางสังคมของเด็กแล้ว การจัดการเรียนการสอนของที่นี่คงมีความท้าทายอย่างยิ่ง แต่เมื่อผู้เขียนได้เข้าชมห้องเรียนแต่ละระดับชั้น กลับเห็นบรรยากาศการเรียนและความสามารถของนักเรียน ที่แตกต่างจากหลายโรงเรียน เพราะนักเรียนที่นี่มีความกระตือรือร้น สนุกกับการแก้โจทย์ท้าทายที่เกินวัยของพวกเขา

นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ทุกคนร่วมกันตอบคำถามคุณครู ชวนกัน บวกเลขที่มีการทดในใจอย่างสนุกสนาน พวกเขาสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งที่ตอนแรกเข้า นักเรียนจำนวนหนึ่ง มีพัฒนาการช้าและพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ในห้องเรียนชั้น ป.3 นักเรียนจับคู่กันทำการค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ทำงานนำเสนอด้วย Power Point โครงงานเพื่อแก้ปัญหาตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม โดยมีคุณครูคอยช่วยอยู่ห่างๆ

บริเวณนอกห้องเรียน ผู้เขียนเห็นเด็กๆ ชั้น ป.2 กำลังนำเสนอ บทสรุปของในโครงการตัวเอง อยู่หน้าฉากสีเขียวของสตูดิโอที่โรงเรียนจัดทำไว้แบบง่ายๆ โดยมีเพื่อนเป็นช่างกล้องช่วยถ่ายทำและตัดต่อ คลิปวีดิโอด้วยแท็บเล็ต เพื่อส่งเป็นชิ้นงาน

ทั้งหมดนี้เป็นภาพของโรงเรียนแห่งอนาคตที่นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ใช้ทักษะ เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาอย่างคล่องแคล่ว สามารถสื่อสารและทำงานเป็นทีมได้ตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งเป็นภาพที่ยากจะพบเจอแม้ในโรงเรียนใหญ่ในเมือง ความแตกต่างนี้เกิดจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างจากโรงเรียนกระแสหลัก ดังต่อไปนี้

หนึ่ง คือการยกระดับพื้นฐานของเด็กอนุบาลให้เท่าทันกันแก้ปัญหา ทุนตั้งต้นที่แต่ละครอบครัวให้มาไม่เท่ากัน มีการออกแบบสื่อหนังสือเรียนขึ้นใหม่เพื่อช่วยเพิ่มทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้เหมาะกับเด็กที่ขาดพื้นฐานภาษาไทยโดยเฉพาะ

สอง คือ การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ 2 รูปแบบได้แก่ 1.การเรียนแบบ Problem-Based Learning (PBL) ซึ่งให้เด็ก เลือกปัญหาที่สนใจและอยู่ใกล้ตัว คุณครูเป็นผู้แนะนำขั้นตอนต่างๆ จัดสรรเครื่องมือในการสืบค้นให้นักเรียน แต่ให้นักเรียนเป็น ผู้ลงมือทำเอง และ 2.กิจกรรม Makerspace ที่นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการออกแบบ การวางแผน และการลงมือทำในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกแบบเสื้อผ้า การทำอาหาร การสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วยเครื่องมือช่างง่ายๆ โดยมีครูเป็น “โค้ช” จัดกระบวนการ STEAM Design Process

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษารูปแบบนี้จะสำเร็จได้ ปัจจัยหนึ่งคือ โรงเรียนต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ เนื่องจากโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นโรงเรียนเอกชนไม่แสวงหากำไร จึงมีอิสระทั้งทางด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ ซึ่งทำให้โรงเรียนหลุดพ้นจากกฎระเบียบ โครงการการประเมิน และงานธุรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักเรียนที่โรงเรียนส่วนใหญ่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าคือ แนวคิดของผู้ก่อตั้งโรงเรียน ผู้อำนวยการและครูที่มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อยกระดับเด็กทุกคน แทนการเฟ้นหา “ช้างเผือก” เพียงไม่กี่คน ความเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ทำให้ครูตั้งมาตรฐานที่สูงสำหรับนักเรียนทุกคน เชื่อว่า เด็กทุกคนจะสามารถเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้หากครูมีวิธีการที่ดีพอ ที่สำคัญ ผู้สอนจะต้องมีสปิริตของการค้นคว้าพัฒนาอยู่ตลอด เมื่อการสอน รูปแบบเดิมไม่ตอบโจทย์หรือยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็มีการคิดค้นทดลองการเรียนแบบใหม่ๆ จนได้รูปแบบที่ได้ผล

โรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ส่งผลถึงผู้เรียน และสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสให้เด็กใน พื้นที่ห่างไกล ยังมีรูปแบบโรงเรียน เช่นนี้ในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่รอการถอดบทเรียน และหากมีการนำบทเรียนเหล่านี้ไปขยายผล โรงเรียนเล็กๆ ในชนบทเหล่านี้อาจกลายเป็นหัวหอกนำการ เปลี่ยนแปลงสู่โรงเรียนใหญ่ๆ ในเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กไทยมุ่งสู่อนาคตได้ ไม่ว่าเขาจะเกิดในพื้นที่ใดก็ตาม


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 25 ตุลาคม 2561

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด