tdri logo
tdri logo
23 พฤศจิกายน 2018
Read in Minutes

Views

การศึกษาไทย…รออะไรจากรัฐบาลใหม่

พงศ์ทัศ วนิชานันท์

นับถอยหลัง เหลืออีก ไม่ถึง 100 วัน ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. ปีหน้า หลังจากที่เราเฝ้ารอ มานานหลายปีในช่วงนี้จึงมีความเคลื่อนไหวทาง การเมืองให้ติดตามมากขึ้นทุกขณะ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งคือ แต่ละพรรคจะมี นโยบายในด้านการศึกษาอย่างไร เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่มักถูกถือว่าเป็นรากเหง้า ของปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาการเมืองตลอดจนปัญหาคอร์รัปชัน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาตลอด โดยมีความ เคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา (กสศ.) และการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เป็นต้น ทว่า “3 ปัญหาเก่า” ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤติการศึกษาไทยยังดำรงอยู่ ได้แก่

คุณภาพนักเรียนตกต่ำ ผลสอบ PISA ในปี 2015 สะท้อนว่านักเรียนไทยจำนวนมาก ไม่สามารถอ่านจับใจความ และประยุกต์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มา แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ นอกจากผลสอบ แล้ว นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า 60% ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนต่อหรืออยากทำงานด้านใด และนักเรียนที่จบอาชีวศึกษาจำนวนมากก็มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ความเหลื่อมล้ำสูง จากการสำรวจของ กสศ.พบว่า เยาวชนอายุ 15-17 ปี ประมาณ 2.4 แสนคน ไม่ได้เรียนต่อหลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับเนื่องจากความยากจน ส่วนที่มีโอกาสเรียนต่อก็มีทักษะต่างๆ เช่น การอ่านต่ำกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดี เทียบเท่ากับ 2.3 ถึง 3 ปีการศึกษา

ประสิทธิภาพต่ำ รัฐบาลไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 6.2% ต่อปี จนมีรายจ่ายสูงถึง 5.2 แสนล้านบาท ในปี 2559 แต่ผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กไทยกลับยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าใช้เวลาเรียนมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD แต่คะแนนสอบกลับต่ำกว่า ทุกวิชา

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้เพราะนโยบายยังขาดเสถียรภาพ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 21 คน นโยบายจึงเปลี่ยนไปตามรัฐมนตรีแต่ละคน ไม่มีจุดหมาย ร่วมกันอย่างชัดเจน ภาคการเมืองมักเลือกใช้ นโยบายที่หวังผลระยะสั้น เช่น โครงการที่ มุ่งให้เห็นผลเฉพาะหน้า (Quick Win)

การใช้นโยบายมุ่งความสำเร็จระยะสั้น อาจมีผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่เพียงพอให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย การปฏิรูปการศึกษา เพราะการพัฒนา คนต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ เรายังขาดการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อประเมินว่านโยบายไหนได้ผล ทำให้ความล้มเหลวในอดีต ไม่นำไปสู่บทเรียนสำหรับอนาคต

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระบวนการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นการสั่งการแบบ บนลงล่าง (Top-down) โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และมัก กำหนดแนวทางปฏิบัติแบบเดียวกัน ทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติจริง เพราะผู้กำหนดนโยบายขาดความเข้าใจบริบทในแต่ละพื้นที่ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติ ก็ไม่มีความเป็นเจ้าของและไม่เข้าใจหลักการ ของนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทยให้สำเร็จ ภาคการเมืองควรให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการนโยบายที่แข็งแรง แทนการทำโครงการที่หวังผลเฉพาะหน้า โดยเริ่มจากเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานจาก “บนลงล่าง” เป็น “ร่วมมือ” ที่สำคัญต้องมุ่งเน้นการกระจาย อำนาจทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ และบุคลากร ไปที่หน้างาน โดยหน่วยงานรัฐ ในส่วนกลางเปลี่ยนบทบาทจากการบังคับควบคุม ไปสู่การส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม นโยบายการศึกษาที่จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีเสถียรภาพในตัวนโยบายเอง คงถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองต้องมองว่า นโยบายการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกพรรคต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว ไม่ใช่การมุ่งแข่งขันกันในตลาดการเมืองในระยะสั้น และไม่ใช่นโยบายที่ไว้ค่อยกำหนดหลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว นอกจากนี้ การเลือกรัฐมนตรีควรพิจารณาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบการศึกษา และมีความเปิดกว้างในการรับฟัง โดยให้โอกาสในการดำรงตำแหน่งยาวนานพอเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

นอกจาก “3 ปัญหาเก่า” ที่จำเป็นต้องแก้ไขแล้ว ยังมีอีก “2 ความท้าทายใหม่” ที่รอต้อนรับรัฐบาลในอนาคตอยู่ ได้แก่ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งเรียกร้องให้ระบบการศึกษาไทยต้องตอบโจทย์การเพิ่มความพร้อมของคนไทยทุกช่วงวัยให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมใช้ชีวิตและสร้างคุณค่าในโลกที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากพรรคการเมืองแล้วอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยสร้างเสถียรภาพของนโยบายการศึกษาคือ “ภาคสังคม” โดยประชาชนควรเข้ามามี ส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการกำหนด นโยบายการศึกษาของประเทศ

จากแนวคิดดังกล่าว TEP จึงจัดเวทีให้ พรรคการเมืองและประชาชนร่วมกันหาแนวทางการกำหนดนโยบายในการปฏิรูปการศึกษา ในงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บ่ายวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค.นี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : TDRI.thailand หรือ TEPThaiEDU


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วาระทีดีอาร์ไอ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2561

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด