อัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ ในประเทศไทย, ดุลยภาพดุลยพินิจ

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

มีด้วยหรืออัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ?…ไม่เคย แต่กำลังจะมีครับ เจ้าภาพในเรื่องนี้ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน ซึ่งดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุของกระทรวง

ดังที่ทราบกันเป็นส่วนใหญ่แล้วว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ถึง 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด และประมาณร้อยละ 35 หรือประมาณเกือบ 4 ล้านคน ยังทำงานอยู่ด้วยเหตุผลต่างๆ แต่ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ทำงานนอกระบบหรือประกอบอาชีพส่วนตัว

ทำไมผู้สูงอายุยังทำงานหรือต้องการทำงานมีเหตุผล 3 ประการที่สำคัญ คือ (1) เหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจแยกออกเป็นเรื่องของรายได้ของผู้สูงอายุ และการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะสังคมผู้สูงอายุเนื่องจากเด็กเกิดน้อยลงและประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น (2) เหตุผลทางสังคม เช่นต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และ ต้องการช่วยเหลือสังคม หรือต้องการพึ่งตนเองไม่อยากเป็นภาระของสังคมหรือลูกหลาน และ (3) เหตุผลทางสุขภาพ ซึ่งอาจแยกออกเป็น ทำงานเพราะสุขภาพยังแข็งแรงและ/หรือทำงานเพื่อให้สุขภาพดี

ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่ทำงานจะมีสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายดีกว่าผู้ไม่ทำงาน เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยของสิงคโปร์ที่พบว่าการทำงานของผู้สูงอายุสามารถลดปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุในสิงคโปร์ได้

ที่จริงประเทศไทยเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและการมีงานทำของผู้สูงอายุมานานแล้ว ดังปรากฏใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (3) กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านการประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม และต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2553 กำหนดให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพผู้สูงอายุ และในปี 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประกาศนโยบายเน้นหนักประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 นโยบายเร่งด่วน ข้อ 4.1.5 “เร่งรัดให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 และมีความเห็นว่าเนื่องจากสภาพสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงจึงไม่ควรจำกัดแต่กลุ่มนักเรียน นิสิตและนักศึกษาเท่านั้น แต่ควรเปิดกว้างไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย”

เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุรวมทั้งพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ คณะอนุกรรมการดังกล่าวเป็นคณะอนุกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนจากส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนจากสถาบัน/มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบงานด้านนโยบายและอำนวยการเป็นประธานอนุกรรมการ

เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุดำเนินการจนได้ผลเบื้องต้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2561 จึงเสนอคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อขอความเห็นชอบและดำเนินงานขั้นต่อไป

ประเด็นสำคัญของการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคือ ประการแรก นิยามของผู้สูงอายุที่อัตราค่าจ้างผู้สูงอายุจะบังคับใช้ยึดตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 คือหมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และประการที่สอง เหตุผลหลักในการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ คือ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งอาจช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บ้าง

ลักษณะที่สำคัญของอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุคือเป็นค่าจ้างรายชั่วโมงเนื่องจากผู้สูงอายุส่วนหนึ่งอาจไม่พร้อมที่จะทำงานเต็มเวลา การกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งตัวผู้สูงอายุ และนายจ้างที่ประสงค์จะจ้างงานผู้สูงอายงที่ร่างไว้คือ ชั่วโมงละ 42-45 บาท นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญคือข้อเสนอให้ลูกจ้างผู้สูงอายุได้รับการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเช่น ค่าจ้างในวันหยุดและวันลา ค่าล่วงเวลา และค่าชดเชยและประเภทงานที่เหมาะกับผู้สูงอายุ แต่ยังต้องรอผลการรับฟังความคิดเห็นก่อน

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างกำลังดำเนินจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุโดยได้ทำไปแล้วครั้งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่ชลบุรี วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่นครศรีธรรมราช วันที่ 21 พฤศจิกายน และ ที่ขอนแก่น วันที่ 27 พฤศจิกายน ศกนี้น่าเสียดายว่า ขณะที่บทความนี้ตีพิมพ์ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นเหลืออีกเพียงภาคเดียว คือภาคอีสานที่ขอนแก่น

สำหรับ ร่างอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมีผลกระทบผู้สูงอายุนั้น หากดูจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำในปี 2560 ประมาณ 4 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นแรงงานนอกระบบ มีประมาณร้อยละ 15 เป็นแรงงานในระบบและร้อยละ 10 หรือ 3.9 แสนคน ที่ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน ซึ่งถ้าดูจากอาชีพของแรงงานผู้สูงอายุในกลุ่มที่เป็นลูกจ้างเอกชนนี้ จะเห็นว่าเป็นผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 39,960 คน และผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน 122,420 คน รวม 1.6 แสนคน ซึ่งแรงงานผู้สูงอายุสองประเภทนี้อยู่ในข่ายการรับอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงซึ่งมีพื้นฐานการคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกจ้างผู้สูงอายุเอกชนนี้อาจเพิ่มขึ้นได้ถ้าการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนเข้มแข็งและประสบความสำเร็จและอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้นอาจช่วยดึงดูดแรงงานสูงอายุที่นอกระบบเข้าสู่ระบบได้มาก


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2561