ชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา คืออะไร
ตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา หรือ Sustainability Community Indicators (SCI) เป็นดัชนีวัดผลความสำเร็จจากการดำเนินโครงการของชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งในแง่การดำเนินการ และผลลัพท์ ที่แสดงถึงความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของสมาชิกชุมชนทั้งด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านวัฒนธรรม จากการน้อมนำแนวทางดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปต่อยอดปรับปรุงโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น
ตัวชี้วัดนี้เป็นการประมวลผลความสอดคล้องในการประพฤติปฏิบัติของบุคคล ครอบครัว และชุมชน กับศาสตร์พระราชา ด้วยวิธีการประเมินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำเสนอเป็นบทเรียนจากประเทศไทยได้ รวมทั้งสามารถใช้เป็นแนวทางสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรไม่แสวงหากำไร
คุณสมบัติของระบบตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา
- เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับชุมชนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (science-based indicators)
ตัวแปรต่างๆ ที่นำมาใช้ มีทั้งตัวแปรระดับชุมชนโดยตรง เช่น จำนวนประชากรในหมู่บ้าน จำนวนพื้นที่ป่า และตัวแปรระดับชุมชนที่สร้างขึ้นมาจากตัวแปรระดับครัวเรือน เช่น ร้อยละของครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นต้น - แสดงถึงความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนของสมาชิกชุมชน
ทั้งด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านวัฒนธรรม เช่น ความรู้สึกพึงพอใจ สบายใจ ภูมิใจ การช่วยเหลือกันและกันในชุมชน ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นต้น - แสดงถึงการปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาของคนในชุมชนและโครงการพัฒนาในชุมชน
เป็นหลักประกันว่าสามารถบรรลุความยั่งยืนของความอยู่ดีมีสุขของชุมชนได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น มีกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่ถูกต้องก่อนเริ่มดำเนินโครงการ (ดังเช่นแนวทาง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของในหลวงรัชกาลที่ 9) - วัดเป็นปริมาณได้ (quantifiable)
หรืออย่างน้อยสังเกตเห็นได้ (observable) เหมือนเช่นกรณีตัวชี้วัดของ SDGs - มีตัวชี้วัดย่อยที่แสดงมิติต่างๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพื่อให้สามารถแสดงมิติต่างๆ แยกกันได้ ในขณะเดียวกันอาจมีตัวชี้วัดรวม ที่สามารถนำมาใช้สื่อสารในระดับมหภาคได้ - มีบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์และเกื้อกูลกันระหว่างตัวชี้วัด
เหมือนกับกรณี SDGs
ส่วนประกอบตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา
การพัฒนาชุดตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา ประกอบด้วยตัวชี้วัด 2 กลุ่มสำคัญได้แก่ กลุ่มที่เป็นกระบวนการการพัฒนาหรือที่เรียกว่า ตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (SCI-S4S) และกลุ่มที่เป็นผลลัพธ์จากการพัฒนาหรือที่เรียกว่า Outcome (SCI-OC) ซึ่งทั้งสองกลุ่มข้างต้นจะมีรายละเอียดและจำนวนตัวชี้วัดภายในกลุ่มที่แตกต่างกัน
ตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา
Sustainability Community Indicators – Sufficiency for Sustainability (SCI-S4S)
SCI-S4S เป็นมิติของชุดตัวชี้วัดที่สะท้อนกระบวนการพัฒนาของชุมชน โดยมีมิติย่อยการพัฒนาที่ให้ความสำคัญทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตัวชี้วัดภายในชุดตัวชี้วัดจึงมีความหลากหลายและมากกว่าตัวชี้วัดการพัฒนาทั่วไปในมิติของเศรษฐกิจ หากแต่รวมถึงสังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประกอบด้วย 14 ตัวชี้วัดย่อย
- ความพอประมาณ (moderation) ความพอดีที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป มีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม
- ความเพียร (perseverance) ความตั้งใจพยายามทำการใดให้สำเร็จลุล่วงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยไม่มีความย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น มุ่งหวังให้บรรลุเป้าหมายในท้ายที่สุด
- รอบคอบ ระมัดระวัง (prudence) การตัดสินใจกระทำการใดอย่างมีหลักการในการตัดสินใจ คำนึงถึงผลการกระทำของตนเอง
- ความซื่อสัตย์ (honesty) เป็นพื้นฐานการพัฒนาที่สำคัญของการอยู่อาศัยร่วมกัน ความซื่อสัตย์มีจุดเริ่มต้นจากตนเองสู่สังคมรอบข้าง ความซื่อสัตย์จึงมีความหมายในลักษณะของศีลธรรม เช่น การประพฤติตนอย่างซื่อตรง การงดเว้นการลักเล็กขโมยน้อย
- ความมีเหตุผล (reasonableness) ใช้หลักการของความรู้วิชาการ กฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรมรวมไปถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นในการตัดสินใจ ไม่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึกชั่วขณะ
- ความรอบรู้ (knowledge, learning, information)ใช้ประกอบในมิติความรอบคอบ ระมัดระวังและความมีเหตุผล เพราะการตัดสินใจต้องอาศัยองค์ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกระบวนการศึกษาหาความรู้ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญในการพัฒนาของปัจเจกอีกด้วย
- พึ่งตนเอง (self-reliance) แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าของตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น รวมสามารถอาศัยตามสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่ได้อย่างเหมาะสม
- การมีภูมิคุ้มกัน (resilience) การให้ความสำคัญกับการรับมือความเสี่ยง การเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถปรับตัวและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
- แบ่งปัน ช่วยเหลือ (sharing/helping) การมีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สังคมโดยรอบตัวเรา ทั้งในรูปของตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงินได้เช่นเดียวกัน เช่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน สังคมที่ปัจเจกอาศัยอยู่
- การมีจิตสาธารณะ (public mind) ลักษณะทางจิตใจของปัจเจกในการปรารถณาที่จะให้ความช่วยเหลือ แก้ปัญหา อุทิศตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมถึงจิตสำนึกต่อการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ
- ความสามัคคี (social coherence) ความพร้อมเพรียง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนภายในชุมชน เช่น การไม่แบ่งพรรคพวกในชุมชน ความรู้สึกเชื่อใจของคนในชุมชน
- ความเป็นผู้นำ (leadership) การพัฒนาที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน ความเป็นผู้นำของปัจเจกภายในชุมชนจึงเป็นมิติสำคัญที่ต้องคำนึงถึง การริเริ่ม การดำเนินงาน การควบคุมดูแลและการตรวจสอบโครงการภายในชุมชน โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในชุมชน เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม
- ระเบิดจากภายใน (explosion from within) เป็นแนวคิดการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับจุดเล็กภายในสังคมเป็นลำดับแรก การพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงมีจุดเริ่มต้นที่ปักเจกหรือครอบครัวเพื่อให้มีความพร้อมที่จะได้รับการพัฒนา ดังนั้นการระเบิดจากภายในจึงไม่ใช่การนำความเจริญจากภายในนอกเข้าสู่ชุมชนโดยที่ชุมชนยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและอาจนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาได้
- รักษาสิ่งแวดล้อม (environmental protection) เป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ควรสอดแทรกในทุกกระบวนการพัฒนา ดังนั้นมิติหรือกิจกรรมที่สะท้อนเรื่องของการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาจึงมีหลากหลายตามแต่บริบทหรือโอกาสของการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ การลดใช้โฟม การลดใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น
- นวัตกรรมในชุมชน (community innovation) ผลผลิตที่เกิดขึ้นใหม่จากการใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในชุมชนและความคิดสร้างสรรค์ของปัจเจกในการพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น การเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นภายในชุมชนต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ประสบการณ์และพลังทางความคิดเพื่อให้นวัตกรรมเกิดขึ้น (เฉพาะพื้นที่นอกเขตเทศบาล)
ตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชน
Sustainability Community Indicators – Outcome (SCI-OC)
SCI-OC เป็นชุดตัวชี้วัดที่แสดงผลการพัฒนาตามแนวทาง S4S ซึ่งผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะไม่ครอบคลุมเพียงมิติเศรษฐกิจ แต่ยังให้ความสำคัญถึงสังคม วัฒนธรรมภาย ทั้งนี้การแสดงผลการพัฒนาในระดับที่เล็กที่สุดคือในระดับชุมชน โดยประกอบด้วย 11 ตัวชี้วัดย่อย
- ความสุข ความพอใจ (happiness) ความสุขเป็นสภาวะทางจิตใจอันเป็นผลจากความพอประมาณและความพึงพอใจต่อสิ่งที่มี สิ่งที่ได้รับ และสิ่งที่เป็น ซึ่งแต่ละคนอาจมีความสุข ความพอใจในระดับที่แตกต่างกันแม้จะอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน การพิจารณาความสุข ความพอใจจึงเป็นเรื่องในระดับปัจเจกเป็นสำคัญ ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการวัดความสุข กำลังได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากเป็นผลการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกอย่างชัดเจนและเปรียบเสมือนภาพรวมของการพัฒนาในทุกมิติที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการวัดความสุข ความพอใจยังคงเป็นเรื่องท้าทายในกาประเมินผลในปัจจุบัน
- การหลุดพ้นความยากจน (escape poverty) ความยากจนเป็นจุดเริ่มต้นของหลายปัญหาในสังคม โดยมีสาเหตุจากการขาดความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเองและสังคมโดยรอบ เช่น การขาดสารอาหารที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการพัฒนาของปัจเจก
- สุขภาพ (health) การมีสุขภาพที่ดีเป็นผลการพัฒนาที่สอดคล้องกับผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นเพิ่มเติมนอกจากเรื่องของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ โดยความครอบคลุมของตัวชี้วัดจะให้ความสำคัญกับบาทรวมของสุขภาพ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการพักผ่อนที่เพียงพอ
- โอกาสทางการศึกษา (education) โอกาสทางการศึกษาเป็นผลการพัฒนาที่สำคัญที่แสดงถึง ความครอบคุมของระบบการศึกษาในตั้งแต่แรกเริ่ม ในการเข้าถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การมีโอกาสเข้าเรียนในระดับมัธยมต้น และครอบคลุมไปถึงการจบการศึกษาในระดับสูง โดยโอกาสทางการศึกษายังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
- การมีงานทำ (employment)การจ้างงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งระบบตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชุมชนให้ความสำคัญกับการมีงานทำของปัจเจกภายในชุมชนและลักษณะของงานที่มีความมั่นคง ผลของการพัฒนาในมิติย่อยนี้มีความสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
- สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอ (sufficient expenditure) ข้อมูลรายจ่ายที่ในด้านการการอุปโภคและบริโภค เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงการหลุดพ้นความยากจนและความเปราะบางของปัจเจกในการกลับมาสู่ภาวะความยากจนอีกครั้ง มิติของผลการพัฒนาสามารถสะท้อนจากรายจ่ายที่สูงกว่าเส้นความยากจน (ด้านรายจ่าย)
- มีรายได้เพียงพอ (sufficient income) การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค เป็นผลของกระบวนการพัฒนาที่สำคัญที่สะท้อนถึงการหลุดพ้นความยากจนและความเปราะบางของปัจเจกในการกลับมาสู่ภาวะความยากจนอีกครั้ง มิติของผลการพัฒนาสามารถสะท้อนจากรายได้ที่สูงกว่าเส้นความยากจน
- สภาพความเป็นอยู่ (living condition)สภาพความเป็นอยู่ หมายถึง สภาพสถานที่อยู่อาศัยของปัจเจกภายในชุมชนที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของตนเองและครอบครัว ได้แก่ ความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ความกว้างขวางและเพียงพอต่อจำนวนสมาชิก ความสามารถในการกันแดดและกันฝน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย ระบบไฟฟ้า น้ำประปา น้ำดื่มและระบบสุขาภิบาลในครัวเรือน
- ทรัพย์สิน (asset) ทรัพย์สินเป็นผลของการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดได้โดยง่ายผ่านจำนวนทรัพย์สินที่เพียงพอ เช่น จำนวนที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยหรือการเกษตร อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น
- ทุนทางสิ่งแวดล้อม (environmental capital) ทุนทางสิ่งแวดล้อมเป็นผลการพัฒนาตามแนวทาง S4S เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่อยู่บนฐานของความพอประมาณ หลักวิชาความรู้และความรอบคอบ ทำให้ชุมชนสามารถคาดการได้ถึงผลเสียของการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะป้องกันปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการพัฒนาได้
- ความเท่าเทียม (equality) ความเท่าเทียมเป็นมิติย่อยของผลการพัฒนา ที่แสดงถึงการพัฒนาในระดับปัจเจกที่เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความสามัคคีภายในชุมชนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มิติย่อยที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมยังคงครอบคลุมถึงความรู้สึกของคนภายในชุมชนที่มีต่อช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนภายในสังคม
- ทุนทางสังคม (social capital) การรวมกลุ่ม การสร้างความสามัคคีของชุมชนในกระบวนการพัฒนาตามแนวทาง S4S จะส่งผลต่อการเพิ่มมากขึ้นของทุนทางสังคม โดยตัวชี้วัดที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ภายในพื้นที่ทำการศึกษา
ผลคะแนนตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (SCI-S4S)
สำหรับผลคะแนนตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (SCI-S4S) สามารถนำเสนอได้ตั้งแต่ ระดับประเทศ ซึ่งจากแสดงผลผ่านแผนที่ (Visualized Map) และสามารถลงลึกได้ถึงรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาในระดับพื้นที่
คะแนนตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาระดับประเทศ
คะแนนตัวชี้วัดย่อยที่สะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาระดับประเทศ
- พอประมาณ 64.8
- ความเพียร 65.9
- รอบคอบ ระมัดระวัง 79.4
- ซื่อสัตย์ 50.8
- มีเหตุผล 61.5
- รอบรู้ 60.5
- มีภูมิคุ้มกัน 55.8
- แบ่งปัน 54.5
- สามัคคี 59.0
- รักษาสิ่งแวดล้อม 62.4
- Mean 61.6
คะแนนตัวชี้วัดการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (SCI-S4S) ระดับภูมิภาค
- กรุงเทพฯ 60.5
- ภาคกลาง 55.5
- ภาคเหนือ 63.7
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 65.1
- ภาคใต้ 59.5
- ในเขตเทศบาล 60.6
- นอกเขตเทศบาล 62.4
คะแนนตัวชี้วัดย่อยที่สะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา (SCI-S4S) เขตกรุงเทพ ในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาล
ผลคะแนนตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชน (SCI-OC)
คะแนนตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชน (SCI-OC) สามารถนำเสนอได้ตั้งแต่ ระดับประเทศ ซึ่งจากแสดงผลผ่านแผนที่ (Visualized Map) และสามารถลงลึกได้ถึงรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนในระดับพื้นที่
คะแนนตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชนระดับประเทศ
คะแนนตัวชี้วัดย่อยที่แสดงถึงผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชน (SCI-OC) ระดับประเทศ
- ความสุข 70.2
- ไม่จน 78.9
- สุขภาพ 87.8
- การศึกษา 17.3
- มีงานทำ 84.9
- รายจ่าย 26.3
- สภาพบ้าน 90.3
- ทรัพย์สิน 48.8
- สิ่งแวดล้อม 81.0
- ความเท่าเทียม 57.2
- Mean 63.5
คะแนนตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการพัฒนาในชุมชน (SCI-OC) ระดับภูมิภาค
- กรุงเทพฯ 68.6
- ภาคกลาง 63.0
- ภาคเหนือ 62.9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 62.0
- ภาคใต้ 61.9
- ในเขตเทศบาล 64.0
- นอกเขตเทศบาล 62.0
คะแนนตัวชี้วัดย่อยของการพัฒนาในชุมชน (SCI-OC) เขตกรุงเทพ ในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาล
ผลการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรในระบบตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา
- ตัวชี้วัด SCI-OC และ SCI-S4S มีความสัมพันธ์ทางบวก (อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ)
- ทุกมิติย่อยของศาสตร์พระราชา (SCI-S4S) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับค่าตัวชี้วัดรวมของ SCI-OC
- ความสัมพันธ์ระหว่างมิติย่อยเป็นไปในทิศทางบวกเป็นส่วนใหญ่ (136 คู่ จากทั้งหมด 181 คู่)
- เป็นความสัมพันธ์ทางลบเพียง 12 คู่
- ที่เหลือไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ
แนวทางการใช้งานระบบตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา
- การใช้งาน SCI ปัจจุบัน คือ นำเสนอศาสตร์พระราชาต่อคนไทยและประชาคมโลก (ระดับ Macro)
สามารถนำเสนอค่าตัวชี้วัด SCI-OC และ SCI-S4S ที่ทำการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นรายปี (หรือราย 2-3 ปี) เป็นการรายงานความก้าวหน้าของการประพฤติปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาของคนไทย และความก้าวหน้าของผลลัพธ์การพัฒนา เหมือนเช่นกรณี Gross National Happiness (GNH) ของประเทศภูฐาน โดยสามารถนำเสนอผลระดับประเทศ ระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด (หรือกระทั่งระดับจังหวัดในกรณีจังหวัดที่มีการเก็บตัวอย่างมากพอ)
ในส่วนของความเชื่อมโยงระหว่างตัวชี้วัด ก็สามารถนำเสนอได้หากมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องกันหลายปี จะสามารถศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยรวมความเชื่อมโยงแบบระหว่างพื้นที่ (cross-sectional relation) และความเชื่อมโยงข้ามห้วงเวลา (time series)
- การใช้งาน SCI ระยะต่อไป ใช้เป็น ‘เครื่องมือประกอบ’ การประเมินโครงการพัฒนา(ระดับ Micro)
- ทำการสำรวจและเก็บคะแนน SCI-OC และ SCI-S4S ในพื้นที่ก่อนเริ่มโครงการพัฒนาที่จะได้รับการประเมิน
- เก็บข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการ เช่น วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย วันเริ่ม/วันสิ้นสุด งบประมาณ ทั้งนี้จะไม่เก็บข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นของประชาชนในพื้นที่ (เช่นหมู่บ้าน) ผู้นำชุมชน หรือผู้ดำเนินการโครงการ
- ทำการสำรวจและเก็บคะแนน SCI-OC และ SCI-S4S ในพื้นที่หลังโครงการพัฒนาสิ้นสุดแล้ว
- วิเคราะห์ว่าโครงการก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังโครงการใน (ก) ผลลัพธ์การพัฒนา SCI-OC (ข) การปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา SCI-S4S อย่างไร ทั้งนี้การวิเคราะห์เปรียบเทียบต้องคำนึงถึงปัจจัยควบคุม (control factors) อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของโครงการด้วย เช่น การตัดถนน การพัฒนาชลประทาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชน อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศ