‘หนาวน้อย-หนาวสั้น’ โจทย์ท้าทายใหม่ ให้ ‘เชียงราย’ ต้องปรับตัว

ปิยธิดา กันปาน 
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว จังหวัดที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวในช่วงนี้ส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนพบว่าในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ก.พ.ที่สภาพอากาศหนาวเย็น มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นไปเยือนเชียงราย จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน จ.เชียงราย ในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านคน

ในขณะที่ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไป เยือนเชียงรายขยายตัวไปแตะระดับ 2.9 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงราย เช่น โรงแรมที่พัก รถเช่า ฯลฯ

ดังนั้น หากพิจารณาโครงสร้างด้านรายได้ของผู้ประกอบการเหล่านี้ พบว่ารายได้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.ถึงเดือน ก.พ.ของทุกปี โดยเฉพาะผู้ประกอบการบริเวณแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทภูเขา งานเทศกาลดอกไม้เมืองหนาว เป็นต้น

เมื่อโครงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมีลักษณะเช่นนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวของเชียงรายก็มีความเสี่ยงที่รายได้จะหดหายหากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าหากปีใดอากาศไม่หนาวหรือฤดูหนาวสั้นก็จะส่งผลให้รายได้ ของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวและอากาศที่หนาวเย็นค่อนข้างมาก ดังนั้น ถ้าสภาพอากาศไม่หนาวเย็นหรือฤดูหนาวสั้น โอกาสที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะตัดสินใจไปเยือนเชียงรายน้อยลงนั้นเป็นไปได้สูง

ดังนั้น โจทย์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของเชียงรายอย่างยั่งยืนควรคำนึงถึงผลกระทบที่ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะหนาวน้อยหรือหนาวสั้น รวมถึงจะต้องพัฒนาแนวทางและกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวของ จ.เชียงรายเริ่มมีการปรับตัวไปบ้างแล้วก็ตาม สังเกตได้จากการมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น อาทิ วัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้น ไร่บุญรอด ไร่รื่นรมย์ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือแนวทางการปรับตัวซึ่งเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นั้นเพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ เราจะปรับยุทธศาสตร์หรือทิศทางด้านการท่องเที่ยวของเชียงรายอย่างไร เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวพึ่งพาอากาศน้อยลง และพยายามกระจายนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ช่วงเวลาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากช่วงฤดูหนาว โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์ของเชียงราย

ในระยะยาวผู้เขียนมองเห็นศักยภาพของ จ.เชียงราย ในการเป็นเมืองศิลปะล้านนาร่วมสมัย โดยอาจพัฒนาเส้นทางหรือถนนสายศิลปะ โดยขับเคลื่อนผ่านกลุ่มขัวศิลปินท้องถิ่นที่รวมตัวกัน นอกจากนี้อาจเน้นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เชียงรายมี เช่น บ่อน้ำพุร้อน เพื่อบำบัดโรค สปาและสมุนไพร สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

อีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือการสนับสนุนให้ จ.เชียงราย เด่นในเรื่องอาหาร (Gastronomy) โดยนำเสนออาหารพื้นเมือง และอาหารที่มีความหลากหลายจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอาหารท้องถิ่นซึ่งเป็นเสน่ห์ของจังหวัด

แนวทางอื่นๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วยการขับเคลื่อนให้เชียงรายเป็นเมืองดอกไม้ (Flower City) ที่มีดอกไม้สายพันธุ์ต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชมและถ่ายรูปได้ทุกฤดูกาล รวมถึงการผลักดันให้เชียงรายเป็นเมืองที่มีส่วนสนับสนุนในการเป็นศูนย์กลางในการจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่รองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางมาประชุมที่จังหวัดใกล้เคียงหรือเป็นเมืองที่รองรับนักท่องเที่ยวหลังจากที่การประชุมที่จังหวัดใกล้เคียงเสร็จสิ้น (Pre and Post MICE City)

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของเชียงรายจะมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมตั้งรับ และปรับตัว ซึ่งหากดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแบบอย่างในการปรับตัว ทางด้านการท่องเที่ยวสำหรับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วาระทีดีอาร์ไอ เมื่อ 20 ธันวาคม 2561