สถานการณ์การใช้บริการสุขภาพ: ความแตกต่างระหว่างเพศ อายุ และพื้นที่

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
พสิษฐ์ พัจนา

ความเป็นธรรมด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงการศึกษา และด้านสุขภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเสมอภาคด้านรายได้ และระหว่างเพศโดยกำหนดให้เป็น 2 ใน 17 เป้าหมายสำคัญที่ประเทศสมาชิกต้องคำนึงถึงและแก้ไข อันได้แก่ เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง และเป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาค/ความเหลื่อมล้ำในประเทศและระหว่างประเทศ บทความนี้ต้องการฉายภาพสะท้อนสถานการณ์ความแตกต่างในประเด็นการเข้าใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยในช่วงปี พ.. 2550 – 2558 ในมิติด้านเพศ กลุ่มอายุ และพื้นที่ ซึ่งใช้ทั้งข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อมูลการใช้บริการสุขภาพในสถานพยาบาลกรณีผู้ป่วยในจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.

เด็ก สตรี คนชรา มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วย

ในระหว่างปี พ.. 2550 – 2558 อัตราการเจ็บป่วยต่อประชากร 100,000 คน ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี จากประมาณ 17,500 รายต่อประชากร 100,000 คน ในปี พ.. 2550 เป็นประมาณ 22,900 รายต่อประชากร 100,000 คน ในปี พ.. 2558 ทั้งนี้ผู้หญิงมีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 19,700 รายต่อประชากร 100,000 คน เป็นประมาณ 25,100 รายต่อประชากร 100,000 คน ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าผู้ชายประมาณ 4,000 – 5,000 รายต่อประชากร 100,000 คน (รูปที่ 1)

ปี 2550 ถึง 2558 อัตราการเจ็บป่วยต่อประชา กรแสนคน เพิ่มขึ้นทุกปี

อัตราการเจ็บป่วยมีความแตกต่างกันตามกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยในปี พ.. 2558 อัตราการเจ็บป่วย เท่ากับ 46,400 รายต่อประชากร 100,000 คน และ 27,500 รายต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ ผู้หญิงมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชายทุกกลุ่มอายุ โดยทั่วไป อัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นตามอายุ (รูปที่ 2) อาจจะเกิดจากการสภาพร่างกายที่อ่อนแอลงจากการเสื่อมสภาพของร่างกายและผลจากการสะสมของพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ

สตรีในภาคเหนือมีความเปราะบางต่อความเจ็บป่วยสูงที่สุด

ในช่วงปี พ.. 2550 – 2558 อัตราการเจ็บป่วยต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย ผู้หญิงในภาคเหนือมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้หญิงในภาคอื่นๆ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ โดยในระหว่างปี พ.. 2550 – 2558 ผู้หญิงในภาคเหนือมีอัตราการเจ็บป่วยประมาณ 24,400 รายต่อ 100,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30,500 รายต่อ 100,000 คน (รูปที่ 3) และอัตราการเจ็บป่วยของผู้ที่อาศัยในชนบทสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเมืองประมาณ 2,000 รายต่อประชากร 100,000 คน โดยในปี พ..2558 อัตราการเจ็บป่วยของคนที่อยู่ในชนบท ประมาณ 24,000 รายต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,900 รายต่อประชากร 100,000 คน ในปี พ.. 2550 (รูปที่ 4) ซึ่งอาจจะเกิดจากการมีภาวะที่เศรษฐานะที่ต่ำกว่าและระดับการศึกษาที่ทำให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ชนบทมีคุณภาพชีวิตในภาพรวมต่ำกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง และผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงกว่าผู้ชายและคนในกลุ่มวัยอื่นๆ

เหตุการณ์น้ำท่วมมีผลกระทบต่อการใช้บริการรักษาพยาบาล

ในระหว่างปี พ.. 2550-2558 สัดส่วนผู้ป่วยที่ใช้บริการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอก ทั้งที่เป็น สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55-70 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้หญิงใช้บริการสุขภาพสูงกว่าผู้ชาย โดยในปี พ.. 2558 คิดเป็นประมาณร้อยละ 73 และร้อยละ 71 ตามลำดับ (รูปที่ 5) ในพื้นที่ชนบทมีสัดส่วนของผู้เข้ารับบริการมากกว่าเขตเมือง (รูปที่ 6) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงปี พ.. 2554 สัดส่วนการใช้บริการสุขภาพกรณีผู้ป่วยนอกต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ โดยในปีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 เท่านั้น กรุงเทพมหานครและภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนผู้ใช้บริการสุขภาพกรณีผู้ป่วยนอกน้อยกว่าภาคอื่นๆ (รูปที่ 7) อาจเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในช่วงปีดังกล่าวจึงทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้เมื่อต้องการและเป็นช่วงที่คนใช้แรงงานบางส่วนเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาบ้านเกิดในภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากสถานประกอบการและหน่วยงานปิดทำการชั่วคราว

ชายป่วยน้อยกว่าแต่ใช้ทรัพยากรในการรักษาสูงกว่าหญิง

สถานการณ์การใช้บริการกรณีผู้ป่วยในสามารถพิจารณาจากค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative Weight หรือ RW) ที่สะท้อนการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และกระบวนการรักษาพยาบาลตามกลุ่มโรค หรือที่เรียกว่า กลุ่มวินิจฉัยโรค (Diagnosis related group หรือ DRG) ควบคู่กับการพิจารณาจำนวนวันนอนในสถานพยาบาล และจากการใช้ข้อมูลการใช้บริการสุขภาพกรณีผู้ป่วยในในระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2558 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า การรักษาผู้ป่วยในชายมีการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงในทุกๆ ปี โดยมีค่า RW สูงกว่าผู้หญิงร้อยละ 20-25 และมีวันนอนเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 1 วัน (รูปที่ 8) ทั้งนี้วันนอนของผู้ป่วยในจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น (รูปที่ 9)

สำหรับสาเหตุการเข้ารักษาพยาบาล ผู้ชายส่วนใหญ่ใช้บริการเนื่องจาก อุบัติเหตุ รองลงมาคือ โรคเกี่ยวกับการติดเชื้อ และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนผู้หญิงเข้ารักษาพยาบาล เนื่องจากการตั้งครรภ์ รองลงมา คือ โรคติดเชื้อและโรคปรสิตบางโรค และโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ

ด้านการใช้ทรัพยากรเพื่อการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยในชายใช้ทรัพยากรมากกว่าผู้ป่วยในหญิงในทุกพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีความแตกต่างของค่าสัมพัทธ์ระหว่างผู้ป่วยในชายและผู้ป่วยในหญิงมากที่สุด คือ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • ภาคใต้ 26% 26%
  • ภาคอีสาน 20% 20%
  • ภาคเหนือ 17% 17%
  • ภาคกลาง 18% 18%
  • กรุงเทพฯ 14% 14%

กรุงเทพมหานครใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลสูงที่สุด

เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ พบว่า กรุงเทพมหานครมีการใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในมากที่สุด เห็นได้จากวันนอนในสถานพยาบาลเฉลี่ยที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในทุกๆ ปี รองลงมา คือ ภาคเหนือและภาคกลาง โดยในช่วงปี พ.. 2558 กรุงเทพมหานครมีวันนอนเฉลี่ย 9 วัน สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 3-4 วัน ส่วนภาคที่มีการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด คือ ภาคใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลมีทรัพยากรมากกว่าภาคอื่นๆ และยังรับผู้ป่วยตามภูมิภาคเข้ามารักษาอีกด้วย

สรุป

การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยดีขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มเด็ก สตรี และคนชราเป็นกลุ่มที่ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะสตรีที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของไทยจะมีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยมากกว่าผู้หญิงในภาคอื่นๆ การคมนาคม สภาพแวดล้อม และภัยพิบัติทางธรรมชาติถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพ เห็นได้จากในช่วงที่ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคกลางประสบกับภัยน้ำท่วม สัดส่วนผู้เจ็บป่วยที่ใช้บริการสุขภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้หญิงใช้ทรัพยากรในด้านสุขภาพมากเมื่อตั้งครรภ์และคลอดบุตร ผู้ชายเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้หญิงแต่กลับมีการใช้ทรัพยากรการรักษามากกว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ 

ผลการศึกษานี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)