ข้อมูลใช้บริการสุขภาพสะท้อนหลากมิติความต่าง

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
พสิษฐ์ พัจนา

ความเป็นธรรมด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงการศึกษาและสุขภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคด้านรายได้และระหว่างเพศ โดยกำหนดให้เป็น 2 ใน 17 เป้าหมาย สำคัญที่ประเทศสมาชิกต้องคำนึงถึงและแก้ไข

ความเป็นธรรมด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงการศึกษาและสุขภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคด้านรายได้และระหว่างเพศ โดยกำหนดให้เป็น 2 ใน 17 เป้าหมาย สำคัญที่ประเทศสมาชิกต้องคำนึงถึงและแก้ไข


บทความนี้ต้องการฉายภาพสะท้อนสถานการณ์ความแตกต่างในประเด็น การใช้บริการด้านสุขภาพของประเทศไทย ในช่วงปี 2550-2558 ในมิติด้านเพศ กลุ่มอายุ และพื้นที่ จากผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลการใช้บริการสุขภาพในสถานพยาบาล กรณีผู้ป่วยในจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งมีสาระสำคัญชวนให้คิดและคำนึงถึงการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ พร้อมรับสังคมสูงวัยและสร้างความเสมอภาคในทุกมิติได้อย่างครอบคลุม


เด็ก สตรี คนชรา มีความเปราะบาง ต่อการเจ็บป่วย
ในระหว่างปี 2550-2558 อัตราการเจ็บป่วยคนไทยต่อประชากรแสนคนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทย มีคนป่วยประมาณ 17,500 คนต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 22,900 คน ในปี 2558 ทั้งนี้ผู้หญิงมีอัตราการเจ็บป่วยมากกว่าชายมาโดยตลอดจาก 19,700 คน ต่อประชากรแสนคน ในปี 2550 เป็น 25,100 คน ในปี 2558 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าชาย ประมาณ 4,000-5,000 รายต่อประชากรแสนคน อัตราการเจ็บป่วยยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเจ็บป่วยสูงที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยในปี 2558 อัตราการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ เท่ากับ 46,400 ราย และ ของเด็กเท่ากับ 27,500 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนผู้หญิงมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชายทุกกลุ่มอายุ และโดยทั่วไปอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นตามอายุนั้น อาจจะเกิดจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอลงจากการเสื่อมสภาพของร่างกายและผลจากการสะสมของพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ


สตรีในภาคเหนือมีความเปราะบาง ต่อความเจ็บป่วยสูงสุด และคนชนบท มีความเปราะบางต่อความเจ็บป่วยมากกว่า คนเมือง
ทุกภาคของไทยมีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้นและผู้หญิงในภาคเหนือมีอัตราการเจ็บป่วยสูงสุด รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานครตามลำดับ โดยในระหว่างปี 2550-2558 ผู้หญิงในภาคเหนือมีอัตราการเจ็บป่วยประมาณ 24,400 ราย เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30,500 รายต่อประชากรแสนคน
ด้านความต่างเชิงพื้นที่ยังสะท้อนว่า ผู้ที่อาศัยในชนบทมีอัตราเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเมืองประมาณ 2,000 ราย ต่อประชากรแสนคน โดยในปี 2558 อัตราการเจ็บป่วยของคนในชนบท มีประมาณ 24,000 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 17,900 ราย ในปี 2550 ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะเศรษฐานะที่ต่ำกว่า และการทำงานหนักที่ทำให้ผู้อาศัยในชนบท มีคุณภาพชีวิตในภาพรวมต่ำกว่าผู้อาศัยอยู่ในเมือง และผู้อาศัยอยู่ในชนบทส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิง เด็ก และคนสูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วย สูงกว่าผู้ชายและคนกลุ่มวัยอื่นๆ


ชายป่วยน้อยกว่าแต่ใช้ทรัพยากร ในการรักษาสูงกว่าหญิง
แม้โดยรวมผู้หญิงมีอัตราป่วยนอนโรงพยาบาลมากกว่าชาย แต่ผู้ชายใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงทุกปี และมีวันนอนเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 1 วัน ทั้งนี้วันนอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุเพิ่มขึ้นด้วย


สำหรับสาเหตุการเข้ารักษาพยาบาล ผู้ชายส่วนใหญ่ 15% ใช้บริการเนื่องจาก อุบัติเหตุ รองลงมาคือ โรคเกี่ยวกับการติดเชื้อ และโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ชายในกลุ่มอายุ 15-39 ปี 28% เข้ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน เพราะอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ส่วนผู้หญิง ในกลุ่มอายุเดียวกัน 60% ใช้บริการเนื่องจาก การตั้งครรภ์ รองลงมาคือ โรคติดเชื้อ โรคปรสิต บางโรคและโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ ตามลำดับ


นอกจากนี้ ผู้ชายยังใช้ทรัพยากรมากกว่าผู้หญิงในทุกพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคใต้มีความต่าง มากที่สุด ระหว่างการใช้ทรัพยากรของชายและหญิง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


กรุงเทพมหานครใช้ทรัพยากร ในการรักษาพยาบาลสูงสุด
กรุงเทพมหานครใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในมากที่สุด และ ผู้ป่วยมีวันนอนในสถานพยาบาลเฉลี่ย 9 วัน ซึ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ทุกปี อยู่ที่ประมาณ 3-4 วัน รองลงมา คือ ภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนภาคที่มีการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดคือ ภาคใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ สรุปว่าแม้การเข้าถึงบริการสุขภาพ ของคนไทยดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การใช้บริการ สุขภาพชี้ว่า กลุ่มเด็ก สตรี และคนชรา เป็นกลุ่มที่ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ


ส่วนผู้ชายแม้จะเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้หญิง แต่มีการใช้ทรัพยากรการรักษามากกว่า ด้วยการรักษาพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุและการบาดเจ็บเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้หญิงใช้ทรัพยากรในด้านสุขภาพมากเมื่อตั้งครรภ์และคลอดบุตร โดยผู้หญิงในภาคเหนือมีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาล มีทรัพยากรมากกว่าภาคอื่นๆ และยังรับผู้ป่วยตามภูมิภาคเข้ามารักษา การคมนาคมสภาพแวดล้อม ถือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ เช่น ปี 2554 การใช้บริการสุขภาพกรณีผู้ป่วยนอก ของกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีสัดส่วนผู้ใช้บริการสุขภาพกรณีผู้ป่วยนอกน้อยที่สุด และลดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุอาจเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในช่วงปี ดังกล่าว ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้เมื่อต้องการ และเป็นช่วงที่คนใช้แรงงานบางส่วนเดินทางกลับไปยัง ภูมิลำเนาบ้านเกิดในภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากสถานประกอบการและหน่วยงานปิดทำการ ชั่วคราว
เพื่อให้การใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมีเพียงพอกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และเสริมภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง จึงควรหาทางลดการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภทโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย รวมถึงป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังของประชากรสูงอายุ โดยควรป้องกันตั้งแต่อยู่ในวัยทำงาน

ผลการศึกษานี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วาระทีดีอาร์ไอ เมื่อ 3 มกราคม 2561